xs
xsm
sm
md
lg

“จัยปูร์”เมืองนี้สีชมพู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย:มะเมี้ยะ
มองจัยปูร์จากมุมสูง
สีชมพู เป็นสีอันเกิดจากการผสมรวมกันของสีขาวและสีแดง เป็นสีที่สำหรับคนอินเลิฟแล้วจะมองเห็นแต่สีนี้เท่านั้น สีชมพูเป็นตัวแทนแห่งความอ่อนหวาน ประจุด้วยความรักอันงดงามที่อัดแน่นไว้ ความอ่อนหวานเย็นตานี้จึงไม่ใช้เรื่องแปลกประหลาด หากจะมีคนมากมายโดยเฉพาะหญิงสาวจำนวนไม่น้อยได้ให้ความหลงใหลแก่เฉดสีนี้

สำหรับฉันแล้ว ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง สีชมพูก็เป็นหนึ่งสีในดวงใจ แต่ยังไม่เคยประสบพบพักตร์กับประโยคฮิตของคนมีรักที่ว่า โลกนี้เป็นสีชมพู ด้วยตนเองสักทีว่าเป็นจริงแท้หรือไม่อย่างไร แต่จะกล่าวว่าสีชมพูมีไว้สำหรับคนมีคู่ก็ดูจะใจจืดใจดำเกินไป
Amber Fort ที่ซึ่งจะมองเห็นความรุ่งเรืองของจัยปูร์ในอดีต
เพราะตั้งแต่ได้รู้กับเมือง “จัยปูร์” หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อเมือง “ชัยปุระ” เมืองที่มีความหมายว่านครแห่งชัยชนะเมืองหลวงของรัฐราชสถาน ในประเทศอินเดีย ฉันก็ได้ประจักษ์อย่างแท้จริงว่า ไม่จำเป็นต้องมีคู่หรืออยู่ในภวังค์รัก ก็สามารถมองเห็นโลกนี้เป็นสีชมพูได้

เมืองจัยปูร์ เป็นเมืองท่องเที่ยวชัยปุระ รัฐราชสถาน ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของอินเดีย ได้รับสมญานามว่าเป็นเมืองสีชมพู เนื่องจากทั้งเมืองบ้านเรือนถูกทาด้วยสีชมพูทั้งหมด จัยปูร์ได้รับการสถาปนาเป็นราชธานีของแคว้นราชาสถานตั้งแต่ปี ค.ศ.1728 ในสมัยของมหาราชา Jai Singh II โดยได้โปรดให้ย้ายราชธานีจากเดิมที่ Amber Fort ซึ่งอยู่บนเนินเขาสูง ลงมายังบริเวณที่ราบซึ่งเป็นตำแหน่งของจัยปูร์ปัจจุบัน
สียอดฮิตของที่นี่คือสีชมพู แต่มองดูกลับคล้ายสีส้มๆ แดงๆ
เมืองจัยปูร์ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแคว้นราชสถาน เมืองนี้จัดได้ว่าเป็นเมืองที่มีการออกแบบผังเมืองได้ดีที่สุดเมืองหนึ่ง ตัวเมืองถูกออกแบบวางผังให้เป็นเสมือนเมืองแห่งเทพเจ้าเป็นเมืองแห่งพระอาทิตย์ ตามแผนภูมิของจักรวาล โดยมีพระราชวังเปรียบเสมือนพระอาทิตย์ บ้านเรือนตัวเมืองก็ถูกวางผังให้กระจายออกไปเหมือนหมู่ดาว สิ่งปลูกสร้างโดยเฉพาะในบริเวณตัวเมืองเก่านั้นได้รับการทาสีให้เป็นสีชมพู แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเยือนกลับมองว่ามันเป็นสีส้มๆแดงๆมากกว่าชมพู

สาเหตุที่เมืองแห่งนี้ถูกอาบด้วยสีชมพูนั้นก็เนื่องจาก ในสมัยของมหาราชา Ram Singh อินเดียยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เพื่อต้อนรับกษัตริย์ Edward VII จากสหราชอาณาจักร (ในสมัยที่ดำรงพระยศเป็น Prince of Wales ) เมื่อปี ค.ศ.1853 จึงมีรับสั่งให้ราษฎรทาสีบ้านเรือนเป็นสีชมพู เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่กษัตริย์เจ้าอาณานิคม
กระจกชิ้นเล็กที่ประดับตกแต่งจน Jain Mandir งดงาม
จัยปูร์ในอดีต ถือเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ทั้งด้านวัตถุและวิทยาการสถาปัตยกรรม จะสังเกตได้จาก วังและป้อมโบราณตลอดจนบ้านเรือน ที่นอกจากจะบ่งบอกถึงความเป็น อินเดี๊ย...อินเดีย แล้วยังแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีตอีกด้วย

รากฐานทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งของที่นี่ ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดชมคือ "ป้อมแอมเบอร์" (Amber Fort) จะอยู่ห่างจากตัวเมืองจัยปูร์ราว11 กิโลเมตร เป็นอดีตที่ตั้งเมืองหลวงเก่าแก่ของนครสีชมพูในสมัยแรกๆ จึงต้องมีการสร้างกำแพงและป้อมปราการเพื่อป้องกันศัตรู

มีพระราชวังแอมเบอร์เป็นปราสาทขนาดมหึมาอยู่บนยอดเขาสูง อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวป้อมปราการ ที่มีกำแพงเมืองทอดยาวเลื้อยคดเคี้ยวไปตามแนวเขาเหยียดยาวกว่า 13 กิโลเมตร พระราชวังแอมเบอร์สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1592 โดยมหาราชาแมนสิงห์ที่ 1 แห่งกองทัพพระเจ้าอัคบาร์ กษัตริย์มุสลิมแห่งราชวงศ์โมกุล มีลักษณะเป็นป้อมปราการหินทรายแดงเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมผสมผสานของทั้งโมกุล(อิสลาม) และ ฮินดูที่เข้ากันอย่างลงตัว
Jal Mahal หรือพระราชวังสายน้ำ
ตัวพระราชวังจะอยู่ด้านในสุดของป้อมปราการ รายล้อมด้วยซุ้มประตู สวนหย่อม ด้วยความที่ตั้งอยู่ในที่สูงจึงสามารถมองแห่งทิวทัศน์ของเมืองได้อย่างดีเยี่ยม ห้องที่โดดเด่นสวยงามอลังการสุดๆ ในพระราชวังแอมเบอร์ก็คือท้องพระโรงใน ที่เรียกว่า "Jain Mandir" ห้องประกาศศักดาแห่งชัยชนะ ผนังและเพดานประดับด้วยกระจกชิ้นเล็กๆประดับเรียงเป็นรูปดอกไม้ แจกัน อันละเอียดลออตา

อ้อ...สิ่งหนึ่งที่อย่างบอกเล่าให้รับรู้ไว้คือ จวบจนปัจจุบันเมืองจัยปูร์ ไม่เคยจะร้างปราศจากมหาราชาแม้กระทั่งช่วงที่อังกฤษเข้าปกครองอินเดีย เพียงแต่เป็นมหาราชาภายใต้อานัติของอังกฤษที่ตั้งศูนย์กลางอยู่ในนิวเดลี จนกระทั่งอินเดียได้รับเอกราชความสำคัญของเหล่ามหาราชาจึงถูกลดทอนเหลือเพียงตำแหน่งและความสำคัญในงานรัฐพิธีเท่านั้น เพราะมีความเชื่อของศาสนาพรามณ์ว่ามหาราชาสืบเชื้อสายมาจากพระราม ซึ่งเป็นอวตาลของพระวิษณุ
Jantar Mantar อดีตหอดูดาวที่มีสิ่งก่อสร้างแปลกๆมากมาย
กลับเข้ามาเล่าเรื่อง ป้อมแอมเบอร์ กันต่อ การจะขึ้นไปบนป้อมนั้นทำได้หลายวิธีด้วยกัน เริ่มจากเดินขึ้นไปทางด้านหน้าตามทางเดินหิน แต่เส้นทางที่นักท่องเที่ยวนิยมคือการนั่งช้าง ช้างหนึ่งเชือกสามารถบรรทุกคนได้ 4 คน หรือสามารถขับรถขึ้นไป แต่ต้องไปขึ้นจากด้านข้างของ Fort ภายใน Fort จะถูกซอยย่อยเป็นห้องต่างๆ โดยมีระบบชลประทานส่งน้ำจากบึงด้านล่าง ที่นี่มีปืนใหญ่ Cannon ที่ถูกบันทึกเอาไว้ว่าใหญ่ที่สุดในโลกตั้งอยู่ด้วย

ไม่ไกลจากป้อมแอมเบอร์นัก ตรงใจกลางทะเลสาบจะพบสิ่งก่อสร้างกลางทะเลสาบคล้ายเกาะ มีชื่อว่า Jal Mahal หรือ Water palace แปลเป็นไทยว่า “พระราชวังสายน้ำ” ซึ่งเป็นพระราชวังที่สร้างในน้ำ แน่นอนว่าเวลาจะเข้าไปต้องนั่งเรือเข้าไป แต่ปัจจุบันไม่ได้เปิดให้เข้าชม

ใจกลางเมืองจัยปูร์เป็นที่ตั้งของ City palace อีกหนึ่งหัวใจของเมืองสีชมพู ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์ต่างๆมากมายแบ่งส่วนออกเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชม แสดงทั้งเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ของใช้ ของมหาราชา และมเหสีต่างๆ ภาพวาด ภาพถ่าย เพื่อแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของมหาราชา บางส่วนเป็นร้านค้าขายของ
ใน Jantar Mantar ชิ้นนี้คล้ายรูปหัวใจกลับหัว
ด้านข้างของ City palace ก็ถือว่าเป็นสถานที่สำคัญไม่แพ้กัน เรียกว่า จันทร์ มาตาร์ (Jantar Mantar )ครั้งอดีตเคยใช้เป็นหอดูดาวที่ใหญ่ที่สุดและแม่นยำที่สุดในอินเดีย เป็นที่รวมประติมากรรมคลาสสิกรูปทรงเรขาคณิตขนาดใหญ่หลายแบบ ถูกสร้างโดยมหาราชา Jai Singh ll อีกเช่นกัน

มหาราชองค์นี้ถือเป็นผู้นำแห่งวิทยาการด้านดาราศาสตร์ที่เดียว ทรงศึกษาและสร้างเครื่องมือด้วยหินทรายแดงวัดตำแหน่งดวงอาทิตย์ดวงดาว หลายชิ้น บางชิ้นใช้คำนวณช่วงฤดูร้อนของปีที่จะมาถึง บางชินคำนวณอากาศและเม็ดฝน ที่นี่จึงมีสิ่งก่อสร้างรูปร่างแปลกๆมากมาย บางอันเป็นนาฬิกาเงาโดยคิดจากความยาวเงาที่เพิ่มขึ้น 4 เมตรต่อชั่วโมงก็มี
Hawa Mahal หรือพระราชวังสายลม กับช่องหน้าต่างยลโลกของเหล่านางใน
กล่าวถึงมหาราชาก็อดคิดถึง พระราชวังสายลม (Hawa Mahal)หรือ Palace of the wind ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายพระราชวังที่อยู่ในกำแพงเมืองของนครสีชมพูแห่งนี้ไม่ได้ พระราชวังสายลมเคยเป็นฮาเร็มของมหาราชา มีลักษณะเป็นอาคาร 5 ชั้น สร้างด้วยหินทรายออกแดงคล้ายสีปูนแห้ง เป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมสไตล์เปอร์เซียกับโมกุล ที่สวยเด่น คือ ลวดลายฉลุหินตามหน้าต่าง ช่องระบายอากาศที่บรรดานางสนมในวังใช้เป็นที่แอบดูชีวิตความเป็นอยู่ของสามัญชนทั่วไป และประโยชน์อีกอย่างคือเป็นช่องแสงและช่องลมมีช่องหน้าต่างจำนวนมากถึง 152 ช่อง

ที่จัยปูร์แห่งนี้คุณอาจะเห็นทั้งวัว อูฐ วิ่งตัดหน้าไปมาเพราะวัวคือสัตว์เทพของศาสนาฮินดู ส่วนอูฐก็เพราะที่นี่มีภูมิประเทศค่อนไปทางทะเลทราย จัยปูร์จึงเป็นอีกเมืองหนึ่งที่นอกจากความงดงามอันเป็นหนึ่งเดียวของบ้านเรือนที่เป็นสีชมพูแล้วยังมีความงดงามทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์อันโดดเด่นมากมายให้มาเยือน ถ้า..ใครข้องใจว่าโลกนี้เป็นสีชมพูเป็นอย่างไร ไม่ต้องรอมีคู่ก็ไปดูได้ที่เมือง “จัยปูร์”

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

การเดินทาง จากกรุงเทพฯ สู่สนามบินอินธิราคานธี ในกรุงนิวเดลี ( New Delhi ) ใช้เวลาบินราว 4 ชั่วโมง แล้วจึงเดินทางสู่จัยปูร์ ด้วยรถไฟหรือเครื่องบินภายในประเทศ สกุลเงินที่ใช้คือ รูปี :1รูปี=1บาทไทย โดยประมาณ

กำลังโหลดความคิดเห็น