หลังจากปล่อยให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศ โคลนนิงอูฐได้เป็นครั้งแรกของโลกไปไม่กี่วัน คราวนี้อิหร่านขอออกมาเผยความสำเร็จบ้าง ว่าได้สร้างแพะโคลนนิงขึ้น อีกทั้งยังมองไกลในวันข้างหน้า จะใช้เป็นหนทางรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ
สำนักข่าวเอพี เปิดเผยว่า “ฮานา” (Hana) แพะเพศเมียที่เกิดจากการโคลนนิง ได้ลืมตาดูโลก เมื่อวันที่ 15 เม.ย.52 โดยอ้างแหล่งข่าว ดร.โมฮัมเหม็ด ฮอสเซ็น นาสร์ อี อิสฟาฮานี (Dr. Mohammed Hossein Nasr e Isfahani) หัวหน้าสถาบันวิจัยทางด้านเซลล์ต้นกำเนิด รอยัน (Royan Research Institute) ในเมืองเอสฟาฮาน (Isfahan) ตอนกลางของอิหร่าน
“เมื่อฮานาได้เกิดขึ้นมา อิหร่านกลายเป็น 1 ใน 5 ของประเทศ ที่สามารถโคลนนิงลูกแพะได้สำเร็จ” คำกล่าวจากอิสฟาฮานี ผู้เชี่ยวชาญด้านเพาะเลี้ยงตัวอ่อน
อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2549 อิหร่านก็รั้งตำแหน่งประเทศแรกในตะวันออกกลาง ที่สามารถโคลนนิงลูกแกะได้สำเร็จ และอีก 2 ปีครึ่งต่อมา สถาบันแห่งนี้ก็ได้รายงานว่าแกะดังกล่าวยังมีสุขภาพแข็งแรง
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น เป็นผลจากการตั้งเป้าของอิหร่าน ที่จะเป็นผู้นำในความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในปี 2568 ซึ่งจากที่เห็น อิหร่านก็ประสบความสำเร็จใจด้านการแพทย์ ด้านการบินและอวกาศ รวมทั้งเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่เป็นข่าวอย่างชัดเจน
อิสฟาฮานี กล่าวว่า สำหรับการโคลนนิงแพะ หรือสัตว์อื่นๆ นั้น ก็เพื่อนำทางไปสู่ความก้าวหน้าของงานวิจัยทางด้านการแพทย์ รวมถึงอาจต้องการใช้สัตว์โคลนนิงเหล่านี้สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่มนุษย์ เพื่อรักษาโรคร้ายต่างๆ ซึ่งสถาบันที่เขาดูแลอยู่นั้น ตั้งเป้าในการโคลนแพะ เพื่อหาหนทางในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ
ทั้งนี้ ชาวอิหร่านส่วนใหญ่กว่า 70 ล้านคน เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ โดยโครงการโคลนนิงของอิหร่านนี้ ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำชีอะห์ ซึ่งอนุญาตให้โคลนนิงสัตว์ได้ แต่ไม่ยอมให้มีการโคลนนิงมนุษย์เพื่อการสืบพันธุ์
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันประเทศเพื่อนบ้านของอิหร่าน อย่างสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ได้ออกมาประกาศว่า สามารถโคลนนิงอูฐได้สำเร็จ โดยลูกอูฐดังกล่าวคลอดออกเมื่อวันที่ 8 เม.ย. นับเป็นอูฐโคลนนิงตัวแรกของโลก
“อินจาซ” (Injaz) หมายถึง “ความสำเร็จ” ในภาษาอาหรับ ถูกตั้งเป็นชื่ออูฐหนอกเดียวเพศเมีย ที่นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์แพร่พันธุ์อูฐ (Camel Reproduction Centre) และห้องปฏิบัติการวิจัยกลางด้านสัตวศาสตร์ (Central Veterinary Research Laboratory) ในดูไบ ใช้เวลาทำงานกว่า 5 ปี
ทั้งนี้ อินจาซถูกโคลนมากจากอูฐที่ถูกฆ่าเอาเนื้อในปี 2548 โดยนักวิทยาศาสตร์ได้นำดีเอ็นเอที่สกัดจากเซลล์รังไข่ของอูฐตัวที่ตาย จากนั้นนำใส่เข้าไปในไข่ของแม่อูฐ ที่ทำหน้าที่อุ้มท้องเพื่อสร้างตัวอ่อนใหม่ขึ้นมา
นัยสำคัญของการโคลนนิงอูฐของนักวิจัยเหล่านี้ ก็เพื่อปกป้องพันธุกรรมของอูฐสายพันธุ์วิ่งแข่งอันมีค่า และรวมไปถึงอูฐสายพันธุ์ผลิตน้ำนมในอนาคต ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ดูไบเปรียบเทียบว่า การโคลนอูฐได้ในครั้งนี้สำคัญพอๆ กับการเกิดของดอลลี สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโคลนนิงตัวแรกของโลก เพียงแต่เวอร์ชั่นตะวันออกกลางจึงเป็น “อูฐ”
สำหรับดอลลี่ แกะโคลนนิงที่เขย่าวงการวิทยาศาสตร์โลก ได้เกิดขึ้นในปี 2539 ที่เมืองเอดินบะระ สหราชอาณาจักร และกลายเป็นต้นแบบวิธีการโคลนนิงให้แก่นักวิจัยทั่วโลก จนมีผลงานออกมามากมาย จากนั้นดอลลี่ก็หลับอย่างสงบในปี 2546.