xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยว"สาทร" ย้อนอดีตบางกอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
บ้านสวนพลู ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทรงไทยโบราณท่ามกลางแมกไม้ไทยๆ
สาทร ย่านเศรษฐกิจสำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่หากมองลึกลงไปแล้ว เขตสาทรนอกจากจะเต็มไปด้วยตึกสูงใหญ่มากมายแล้ว สาทรยังมีอดีตอันทรงคุณค่า มีสถานที่สำคัญๆหลายแห่ง อีกทั้งยังมีชุมชนเก่าแก่ที่ยืนหยัดอยู่กับลมหายใจแห่งความร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืน

นั่นจึงทำให้ฉันเลือก“เขตสาทร”เป็นเป้าหมายในการออกลุยกรุงครั้งนี้ แต่ว่าก่อนที่จะไปตะลุยเที่ยวย่านนี้ ฉันขอไขข้อข้องใจเกี่ยวชื่อ"สาทร" และ "สาธร" กันเสียหน่อย
เมืองหนังสือ ดับเบิล เอ บุ๊ค ทาวเวอร์
เดิมนั้นเขตนี้ใช้ชื่อว่า"สาธร" ซึ่งเป็นชื่อสำนักงานเขตสาธร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย แต่คำนี้ไม่มีประวัติความเป็นมา และไม่มีความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525

แต่สาทรมีประวัติความเป็นมาทั้ง“คลองสาทร”และ"ถนนสาทร" โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงที่กิจการค้าข้าวของสยามรุ่งเรืองมาก มีชาวจีนและฝรั่งเข้ามาค้าขายมากขึ้น แต่การคมนาคม การขนส่งมีความยากลำบาก ทางราชการต้องการพัฒนาที่ดิน และขุดคลองเป็นจำนวนมาก

ครั้งนั้นในปี 2431 เจ๊สัวยม คหบดีชาวจีนได้อุทิศที่ดินของตนและทำการขุดคลองขึ้น จากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกไปบรรจบคลองวัดหัวลำโพง และนำดินที่ขุดคลองทำถนนทั้ง 2 ฝั่งคลอง ภายหลังเจ๊สัวยมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น หลวงสาทรราชายุกต์ จึงได้เรียกชื่อคลอง และถนน 2 ฝั่งนี้ว่า "สาทร" เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงสาทรราชายุกต์
วัดยานนาวา แปลกตาด้วยพระสำเภาพระเจดีย์
ในขณะที่คำว่า "สาทร" ตามพจนานุกรมนั้นหมายถึง เอื้อเฟื้อ เอาใจใส่

ดังนั้นในปี 2542 จึงได้เปลี่ยนแปลงชื่อ "เขตสาธร" เป็น "เขตสาทร" นับแต่นั้นมา

อนึ่งความเก่าแก่ของสาทรไม่ได้มีเพียงแค่ชื่อเท่านั้น หากแต่สถานที่ต่างๆที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณเขตสาทรก็มีความเก่าแก่น่าสนใจเป็นอย่างมาก อย่าง "วัดยานนาวา" วัดเก่าแก่แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาโน้น สิ่งที่โดดเด่นของวัดแห่งก็คือ "พระสำเภาพระเจดีย์" ลักษณะเป็นพระเจดีย์ทรงเรือสำเภาขนาดเท่าเรือสำเภาจริง สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 3 เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการที่พระองค์ทรงใช้เรือสำเภาขนส่งสินค้าไปทำมาค้าขายถึงเมืองจีนและประเทศต่างๆ
สะพานปลาแหล่งค้าปลาน้ำจืดและน้ำเค็มที่ใหญ่ที่สุดในเมืองกรุง
และเรือสำเภานี้ยังแทนความหมายถึงเรือขนาดใหญ่ที่พามนุษย์ชาติข้ามโอฆะสงสารไปสู่พระนิพพาน ตามพระธรรมของพระเวสสันดรชาดก ตอนที่พระเวสสันดรทรงตรัสเรียกกัณหาและชาลีให้อุทิศตนเพื่อร่วมกับพระบิดาสร้างมหากุศลดังจะเห็นรูปหล่อพระเวสสันดรโพธิสัตว์ กัณหา และชาลีที่ท้ายเรือ

ภายในสำเภาจีนนี้มีพระเจดีย์ 2 องค์ พระเจดีย์องค์ใหญ่กลางเรือเป็นฐานย่อมุมไม้ยี่สิบ ส่วนพระเจดีย์องค์เล็กเป็นพระเจดีย์แบบฐานย่อมุมไม้สิบหก พระเจดีย์ทั้งสององค์นั้นเป็นศิลปกรรมในแบบขนบประเพณีสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีความโดดเด่นและมีความสวยงามยิ่ง

ตามถนนเจริญกรุงมาเรื่อยๆ ฉันได้กลิ่นคาวปลาลอยมาแตะจมูก ก็เป็นที่รู้กันว่าที่แห่งนี่คือ "สะพานปลากรุงเทพ" แหล่งขายส่งปลาสำหรับบริโภคที่ใหญ่ที่สุด แต่เดิมบริเวณที่ใช้ขนถ่ายและจำหน่ายสัตว์น้ำเค็มและน้ำจืดของกรุงเทพคับแคบไม่สะดวก

จึงได้มีการจัดตั้งตลาดสินค้าสัตว์น้ำแห่งใหม่ขึ้นในกรุงเทมหานคร โดยมีองค์การสะพานปลา รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบ ใครอยากจะได้ของสดๆถูกๆส่งตรงจากทะเลล่ะก็ต้องมาตอนตี2 ถึงประมาณ 8 โมงเช้า ส่วนปลาน้ำจืดจะเริ่มขายกันในเวลา 11 โมง ถึงบ่ายๆ ใครที่มาถูกที่แต่ไม่ถูกเวลาก็อดรับประทานกันไป
วัดวิษณุ วัดแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเทวรูปหินอ่อนแกะสลักมือครบ 24 องค์
ถัดจากสะพานปลาฉันลัดเลาะเข้าตรอกซอกซอยมาโผล่ยัง "วัดวิษณุ" ซึ่งสร้างขึ้นโดยชาวอินเดียเมื่อ พ.ศ.2463 เนื่องจากศาสนิกชนชาวอุตตรประเทศเพิ่มจำนวนขึ้น และสถานที่บริเวณวัดแขกไม่สามารถขยายเพิ่มได้อีก จึงได้ขยับขยายไปสร้างวัดในพื้นที่วัดวิษณุปัจจุบัน หลังจากสร้างเสร็จก็ได้อัญเชิญเทวรูปต่างๆ มาจากประเทศอินเดียและทำพิธีประดิษฐาน ณ ที่แห่งนี้

แต่โบสถ์ที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันดูไม่เก่าแก่ขนาดนั้น เพราะเป็นโบสถ์ที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2535 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2544 และในปี 2547 ก็ได้มีการอัญเชิญเทวรูปทั้งหมด 24 องค์ มาจากประเทศอินเดีย เพื่อประดิษฐานในโบสถ์ใหม่แห่งนี้ด้วย

ซึ่งวัดวิษณุแห่งนี้ ถือเป็นวัดพราหมณ์-ฮินดูแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเทวรูปศักดิ์สิทธิ์สร้างด้วยหินอ่อนแกะสลักด้วยมือจากประเทศอินเดียครบ 24 องค์ด้วย
วัดปรกวัดแห่งศิลปะและแรงศรัทธาของชาวมอญ
เดินออกจากวัดวิษณุไปเพียงไม่กี่ก้าว ฉันก็ไปถึงยัง "วัดปรก" วัดราษฎร์เล็กๆที่สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2470 โดยพลังศรัทธาของชาวมอญที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองไทย และต้องการที่จะมีวัดไว้เพื่อบำเพ็ญบุญและเป็นศูนย์รวมชาวมอญในประเทศไทย

เมื่อเข้าไปในวัดปรก ฉันจึงได้เห็นถึงรูปแบบศิลปะของความเป็นมอญได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ประตูทางเข้าที่มีหงส์อยู่ที่หัวเสาแลดูสวยงามและบ่งบอกความเป็นมอญรามัญได้เป็นอย่างดี ภายในวัดตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมแบบหงสาวดี มีพระพุทธรูปหยกขาว และเจดีย์ทรงลังกา

บริเวณเจดีย์ฉันมองออกไปทางด้านหลังวัดเห็นสุสานมากมาย และตรงบริเวณสุสานที่มีหญ้าขึ้นมีวัวหลายตัวเล็มกินหญ้าอย่างสบายอกสบายใจ มองเลยถัดจากสุสานคล้ายจะมีสวนสาธารณะเขียวขจีที่มีฉากหลังไกลๆเป็นตึกสูงใหญ่ของสังคมเมือง ช่างเป็นความต่างที่จะว่าไปแล้วก็ลงตัวไม่น้อย
สุสานแต้จิ๋วสวนสาธารณะที่เหมาะสำหรับออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ
เห็นกระนั้น เมื่อฉันออกจากวัดปรกจึงมุ่งหน้าไปยังสวนสาธารณะแห่งนั้น นั้นคือ "ลานคนเมือง สมาคมแต้จิ๋ว" หรือ "สุสานแต้จิ๋ว" ในอดีตนั้นเอง เมื่อก่อนบริเวณนี้เปิดให้ประชาชนเข้าไปในสุสานได้เฉพาะในเทศกาลไหว้บรรพบุรุษของชาวจีนเท่านั้น จึงทำให้พื้นที่ตรงนี้ดูรกร้างมีสัตว์เลื้อยคลานที่น่ากลัว

ความน่าสะพรึงกลัวในบริเวณนี้ได้เปลี่ยนไป เมื่อสำนักงานเขตได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ป่าช้าให้เป็นสวนสาธารณะที่ร่มรื่นสวยงาม จนกลายเป็นแหล่งพักผ่อนและออกกำลังกายแหล่งใหญ่ของเขตสาทร ภายในสวนสวยแห่งนี้ยังมีศาลเจ้าเก่า และด้านหน้าศาลเจ้าเก่าก็มีรูปปั้นเทพของชาวจีนสีทองขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่กลางบ่อน้ำอย่างสวยงาม

ฉันคิดว่าทั้งคนที่มาเดิน วิ่ง เพาะกาย แอโรบิค แบดมินตัน หรือจะมานั่งพักผ่อนหยอนใจ ก็คงไม่รู้สึกถึงความน่ากลัวของสุสานแห่งนี้อีกแล้ว ที่สำคัญสวนแห่งนี้ก็ทำให้ฉันปลงได้ว่าชีวิตต้องมีเกิด แก่ เจ็บ และตายไปในที่สุดเป็นเรื่องธรรมดา ถือได้ว่าสุสานแต้จิ๋วนี้เป็นสุสานเพื่อออกกำลังกายแห่งเดียวในประเทศไทยเลยทีเดียว
โบสถ์เซนต์หลุยส์ สถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
จากวัดแบบไทย มอญ จีน ฮินดูแล้ว ฉันมาต่อที่ "วัดเซนต์หลุยส์" วัดของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งหลังจากที่ คุณพ่อหลุยส์ โชแรง ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระสังฆราชปกครองมิสซังกรุงเทพฯ ท่านโชแรงได้ย้ายบ้านพักพระสังฆราชจากวัดอัสสัมชัญ มาสร้างที่บริเวณใกล้กับโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์

และท่านก็ได้สังเกตว่าคริสตังแถบนี้มีจำนวนมากและไม่มีวัดในแถบนี้ให้ร่วมพิธีกรรม ท่านจึงตั้งใจที่จะสร้างวัดเซนต์หลุยส์ขึ้นในปี พ.ศ.2498 และได้ตั้งชื่อตามนามของผู้สร้างวัดนี้ เมื่อแล้วเสร็จก็ได้เปิดวัดอย่างสง่าในปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา

ไม่ไกลจาดวัดเซนต์หลุยส์ เป็นที่ตั้งของ "หอการค้าไทยจีน" อาคารเก่าแก่ 3 ชั้น เดิมอาคารสวยงานแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2446 เพื่อเป็นห้างสรรพสินค้าบอมเบย์ ที่โก้หรูที่สุดของสังคมชาวบางกอก ต่อมาในปี พ.ศ.2471 สภาหอการค้าไทย-จีน ได้ซื้ออาคารหลังนี้ไว้เป็นกรรมสิทธิ์
อาคารหอการค้าไทย-จีน สถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองส์ผสมอิทธิพลจีนอันเก่าแก่สวยงาม
ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารแห่งนี้ได้กลายสภาพเป็นศูนย์บัญชาการของกองทัพญี่ปุ่น และเมื่อสงครามยุติ ก็ได้กลับมาเป็นสำนักงานใหญ่ของสภาหอการค้าไทย-จีน อีกครั้ง จนกระทั่งสภาหอการค้าได้สร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นในบริเวณเดียวกัน อาคารหลังนี้จึงได้ถูกเช่าทำเป็นภัตตาคารร้านอาหารไทยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน

สถาปัตยกรรมของอาคารแห่งนี้เป็นแบบเรอเนสซองส์ผสมอิทธิพลจีน มีความโดดเด่นที่มุขหน้าคล้ายหอคอย ส่วนบนสุดเป็นแผงประดับรูปโค้งคล้ายแผงทรงระฆังของอาคารดัทช์ หน้าต่างโค้งตกแต่งด้วยคิ้วบัวปูนปั้นและมีกันสาดยื่นคลุมหน้าต่างชั้นสองและชั้นสาม ซึ่งเป็นส่วนที่ต่อเติมในช่วงหลัง ซึ่งอาคารอันเก่าแก่สวยงามแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ของกรมศิลปากรแล้ว

นอกจากนี้ในเขตสาทรยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกมาก อาทิ เมืองหนังสือ "ดับเบิล เอ บุ๊ค ทาวเวอร์" ตึก 9 ชั้นที่อัดแน่นไปด้วยหนังสือจากหลากหลายสำนักพิมพ์ หรือที่ "บ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช" หรือ "บ้านซอยสวนพลู" กลุ่มบ้านทรงไทยแบบโบราณและศาลา ท่ามกลางความเขียวขจีของต้นไม้ไทยๆหลากชนิด ซึ่งทั้งสองแห่งนี้ฉันได้เคยเล่าสาธยายไปแล้ว

ใครที่ผ่านมาผ่านไปแถวสาทร ก็อย่าลืมหาวันว่างลุยเขตสาทรรับรองว่าเที่ยวกรุงเทพฯยังไม่มีเบื่อแน่นอน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเขตสาทร โทร.0-2212-8112, 0-2211-3678

คลิกเพื่ออ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตะลุยเมืองหนังสือ ที่ "ดับเบิล เอ บุ๊ค ทาวเวอร์"

เยี่ยมบ้านหม่อมคึกฤทธิ์ คิดถึงยอดปูชนียบุคคล
กำลังโหลดความคิดเห็น