xs
xsm
sm
md
lg

สร้างสรรค์เรียนรู้ ดู 4 พิพิธภัณฑ์เมืองกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
คนรักรถไฟต้องไม่พลาดชมที่หอเกียรติภูมิรถไฟ
ในช่วงที่ฝนยังไม่สั่งลาอย่างนี้ จะไปเดินเล่นกลางแจ้งที่ไหนก็ต้องระวัง หากไม่พกร่มไปด้วยก็มีอันต้องเปียกปอนกันเป็นแถบๆ เพื่อเป็นการตัดปัญหาโรคหวัดรุมเร้า วันหยุดที่ผ่านมาฉันก็เลยหาสถานที่ท่องเที่ยวในร่มด้วยการเดินทางไปกับกองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ที่เขาจัดโครงการเที่ยวท่องล่องกรุง ในเส้นทาง "นานาพิพิธภัณฑ์ สร้างสรรค์เรียนรู้" ซึ่งก็พาเราไปชมพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แต่น่าสนใจหลากหลายสไตล์รวม 4 พิพิธภัณฑ์ในวันเดียว ซึ่งก็ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะจะให้คนกรุงเทพฯได้พาลูกพาหลานและพาตัวเองไปใช้เวลาว่างในวันหยุดด้วยความเพลิดเพลินและเป็นประโยชน์กันที่พิพิธภัณฑ์เหล่านี้

เริ่มกันที่ "หอเกียรติภูมิรถไฟ" ที่สวนจตุจักร ซึ่งมีสิ่งที่น่าสนใจและถูกใจคนรักรถไฟทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น "รถจักรไอน้ำ หมายเลข 10089" รถจักรไอน้ำรุ่นสุดท้ายที่บริษัทเกียวซานโกเกียวในญี่ปุ่นสร้างขึ้นก่อนเลิกกิจการ "รถจักรไอน้ำสูงเนิน" ซึ่งทำหน้าที่ตัดฟืน ขนน้ำ จากป่าที่ที่หัวหวายมาให้ขบวนรถไฟลากจูงด้วยรถจักรไอน้ำใช้ที่สถานีสูงเนินกลางดงพญาไฟในอดีต "รถ ร.พ." ซึ่งเป็นตู้รถไฟไม้ที่นับได้ว่าเก่าที่สุดในประเทศไทย และเป็นตู้รถไฟพยาบาลที่สร้างด้วยไม้สักทองหลังสุดท้ายของโลก
เมื่อไหร่รถไฟจะมานะ
นอกจากนั้นแล้วภายในหอเกียรติภูมิรถไฟก็ยังมีส่วนจัดแสดง "หอเกียรติภูมิยานยนต์ พีระ-เจ้าดาราทอง" แสดงพระประวัติของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือเจ้าดาราทอง ซึ่งทรงเป็นนักกีฬาขับรถแข่งของไทยพระองค์แรกที่เข้าร่วมการแข่งขันเสมอกับคนต่างชาติ และยังทรงได้รับชัยชนะในหลายโปรแกรมด้วยด้วย หากใครอยากทราบประวัติของพระองค์ก็สามารถไปชมได้ที่นี่

หอเกียรติภูมิรถไฟนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของชมรมเรารักรถไฟ และอยู่ในความดูแลของคุณจุลศิริ วิริยศิริ ที่ทำหน้าที่ทุกตำแหน่งในพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่วิทยากรไปจนถึงภารโรง และแม้หอเกียรติภูมิรถไฟแห่งนี้จะไม่เก็บค่าเข้าชม แต่หากใครอยากจะช่วยบริจาคเพื่อเป็นการช่วยเหลือให้สถานที่ดีๆ แห่งนี้ยังคงอยู่ต่อไป ทางหอเกียรติภูมิฯก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง
บรรยากาศร่มรื่นในพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
จากจตุจักร บึ่งรถเข้าเมืองมาย่านบางรักเพื่อมาชม "พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก" กันต่อ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของอาจารย์วราพร สุรวดี ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ที่ได้ยกบ้านและทรัพย์สินต่างๆที่ได้รับมรดกจากมารดา คือนางสอาง สุรวดี (ตันบุญเต็ก) ให้เป็นพิพิธภัณฑ์และมอบให้เป็นสมบัติของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นภายในรั้วพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกนี้ จึงเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตบางรักด้วย

หากใครได้เข้ามาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็คงต้องชื่นชอบในความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ภายในบริเวณบ้าน ภายในแบ่งการจัดแสดงข้าวของต่างๆ ออกเป็นอาคาร 3 หลังด้วยกัน ที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนชั้นกลางในบางกอกช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอาคารหลังแรกเป็นบ้านไม้สองชั้น หลังคาเป็นทรงปั้นหยามุงกระเบื้องว่าวสีแดง ซึ่งเป็นบ้านที่ครอบครัวสุรวดีเคยใช้อาศัยอยู่แต่เดิมในอดีต
บรรยากาศของบ้านคนบางกอกยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
ในบ้านหลังนี้ก็แบ่งเป็นห้องต่างๆ เช่น ห้องรับแขก ที่ตกแต่งอย่างน่ารักด้วยชุดรับแขกบุนวม มีหมอนอิงปักด้วยลวดลายสวยงาม แถมยังมีเปียโนหลังเล็กน่ารักอยู่ที่มุมห้อง ชวนให้นึกถึงบรรยากาศอบอุ่นของครอบครัวเวลาที่มาอยู่พร้อมหน้ากันในห้องนี้

ที่ห้องอาหารแม้จะมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ก็มีของน่าสนใจอย่างตู้จัดแสดงชุดดินเนอร์แบบฝรั่ง ภาชนะลายคราแบบจีน และเครื่องเคลือบสีเขียวไข่กาที่มาจากทางตอนใต้ของประเทศอิรัก โดยคนไทยมักนำมาใช้เป็นภาชนะเก็บความเย็น โดยเฉพาะเมื่อต้องการเก็บใบพลูให้เย็นและสดอยู่เสมอ

นอกจากนั้นก็ยังมีห้องนอน ห้องแต่งตัวแบบยุโรป ห้องบรรพบุรุษ ที่แต่ละห้องก็มีข้าวของเก่าๆ ประเภทโต๊ะเครื่องแป้ง ตู้ เตียง อ่างล่างหน้า ถ้วยชามเครื่องกระเบื้องเบญจรงค์ ทำให้เราพอมองเห็นภาพความเป็นอยู่ของคนในยุคนั้นได้
ชมข้าวของเก่าๆ ของชาวบ้านที่พิพิธภัณฑ์วัดหนัง
และอาคารอีกหลังหนึ่งนั้นก็เป็นบ้านไม้ที่ปลูกสร้างไว้ที่ทุ่งมหาเมฆเพื่อใช้เป็นคลินิกของหมอฟรานซิส คริสเตียน ชาวอินเดีย ศัลยแพทย์จากอังกฤษ สามีคนแรกของคุณแม่อาจารย์วราพร แต่สร้างยังไม่ทันเสร็จคุณหมอก็เสียชีวิตไปเสียก่อน จึงได้มีรื้อตัวบ้านมาปลูกสร้างไว้ที่นี่ โดยจัดชั้นบนบ้านเป็นห้องนอน ส่วนชั้นล่างเป็นห้องโถงโล่งๆ มีรูปหล่อของหมอฟรานซิสตั้งไว้ ส่วนอาคารอีกหลังหนึ่งนั้นจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตบางรัก มีข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพื้นที่ในบริเวณนี้ตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน

เสร็จแล้วข้ามมายังฝั่งธนฯ มาชม "พิพิธภัณฑ์วัดหนัง" ที่วัดหนังราชวรวิหาร ย่านวุฒากาศ ที่วัดและชุมชนร่วมมือกันจนได้พิพิธภัณฑ์เป็นที่จัดแสดงข้าวของวัดและชุมชนในเขตจอมทองอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เอี่ยมภายในพิพิธภัณฑ์วัดหนัง
ที่ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์นั้นจัดแสดงเกี่ยวกับข้าวของเครื่องใช้ของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบ้านของชาวไทยในอดีต จัดแสดงเรือนนอน ครัวไฟ มีเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทเครื่องมือจักสาน เครื่องมือไม้ไผ่ต่างๆ มีการจัดแสดงเรือชนิดต่างๆที่เป็นพาหนะสำคัญของคนในอดีต และข้าวของเก่าๆ อย่างตะเกียงโบราณ เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องมือช่างต่างๆ

ถัดขึ้นไปบนชั้นสอง ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเป็นการจัดแสดงข้าวที่เกี่ยวข้องกับวัดหนังฯ และข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา อย่างตู้พระธรรม พระพุทธรูปสมัยต่างๆ สมุดข่อยโบราณ มีเครื่องมือในการรักษาโรค เครื่องยา ตำรายา เครื่องมือปรุงยาที่มีความสำคัญต่อการรักษาในสมัยโบราณ ก็มีจัดแสดงให้ชมกัน

แต่สิ่งสำคัญบนชั้นสองที่ทุกคนต้องไม่พลาดก็คือ การเข้าไปกราบหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เอี่ยม อดีตเจ้าอาวาสวัดหนังฯที่ทรงได้รับพระกรุณาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น "พระภาวนาโกศลเถระ" พระราชาคณะ และได้เป็นผู้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดหนังฯที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมให้สมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ รวมทั้งยังได้สร้างวัตถุมงคลไว้จำนวนหนึ่ง ที่นักเล่นพระยังนิยมบูชากันอยู่ในปัจจุบันด้วย
ชมของเล่นโบราณได้ที่บ้านพิพิธภัณฑ์
มาปิดท้ายพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯกันที่ "บ้านพิพิธภัณฑ์" ที่หลายคนคงรู้จักกันดีแล้ว ด้วยสโลแกนเก๋ๆที่ว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า" ทำให้วันนี้บ้านพิพิธภัณฑ์มีข้าวของต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตชาวเมืองในช่วง พ.ศ.2500 ไว้มากมาย โดยเฉพาะบรรดาของเล่นเก่าๆ ที่มักจะทำให้ผู้ที่มาชมคิดถึงอดีตวันเก่าๆ ที่ตัวเองยังเป็นเด็กและได้เล่นของเล่นชิ้นด้วยเหมือนกัน

ภายในบ้านพิพิธภัณฑ์นี้ยังได้จัดจำลองเอาร้านกาแฟ ร้านขายของเล่น ร้านตัดผม ร้านขายยา ร้านขายหนังสือและเครื่องเขียน ร้านถ่ายรูป ห้างสรรพสิค้า ห้องเรียน หรือแม้แต่ที่ว่าการอำเภอก็ยังจัดมาให้ผู้ชมได้เห็นบรรยากาศในยุคนั้นๆกันอย่างเห็นภาพจริงเลยทีเดียว
ร้านตัดผมเก่าที่จำลองมาไว้ในบ้านพิพิธภัณฑ์
และที่ทุกคนไม่ยอมพลาดเมื่อมาที่บ้านพิพิธภัณฑ์นี้ก็คือการซื้อขนมและของเล่นเก่าๆ หน้าตาคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นลูกโป่งวิทยาศาสตร์ และตุ๊กตุ่นยาง แหวนพลาสติก และขนมหมากฝรั่งรูปบุหรี่ตราแมวดำ หมากฝรั่งตรานกแก้ว ลูกอมละครสัตว์ และขนมยอดฮิต(ในอดีต)อื่นๆ อีกมากมาย

ทั้ง 4 พิพิธภัณฑ์นี้ต่างก็ให้ความรู้และความเพลิดเพลินที่แตกต่างกัน ใครชอบอย่างไหนก็ไปชมอย่างนั้น หรือจะไปชม 4 พิพิธภัณฑ์ในวันเดียวอย่างฉันก็เชิญได้ตามสะดวก

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

หอเกียรติภูมิรถไฟ ตั้งอยู่ที่ลานจอดรถประตู 2 สวนจตุจักร ถนนกำแพงเพชร 3 กทม. เปิดให้เข้าชมวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. ไม่เสียใช้จ่ายในการเข้าชม วันธรรมดาหากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะโทร.08-1615-5776

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ตั้งอยู่ที่ 273 ซอยเจริญกรุง 43 ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กทม. เปิดให้เข้าชมวันพุธ-อาทิตย์ ในเวลา 10.00-16.00 น. สอบถามโทร.0-2234-6741, 0-2233-7027

พิพิธภัณฑ์วัดหนัง ตั้งอยู่ที่วัดหนังราชวรวิหาร ถนนวุฒากาศ แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กทม. เปิดให้เข้าชมในวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 13.00-16.00 น. หรือหากเข้าชมเป็นผู้คณะสามารถนัดหมายวันเวลาล่วงหน้าได้ที่ 0-2468-3419, 0-2875-4405

บ้านพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ที่ 170/17 หมู่ 7 หมู่บ้านคลองโพแลนด์ ซอยคลองโพ 2 ถนนศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กทม. เปิดให้เข้าชมวันเสาร์-อาทิตย์ ในเวลา 10.00-17.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็กสูงเกินกว่า 120 ซม. 10 บาท เด็กเล็กฟรี

กำลังโหลดความคิดเห็น