xs
xsm
sm
md
lg

เสน่ห์วิถีชีวิตไทยที่ซุกซ่อนใน...Bangkok Folk’s Museum

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประตูรั้วด้านหน้าพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ ภายใต้ชื่อของ ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก’

ชื่อ ‘บางกอก’ ซึ่งถูกเรียกตามทัศนะของฝรั่งในที่ดินบริเวณนี้ บ้านโบราณที่ไม่ยอมถูกขายไปเป็นตึกแถวเหมือนอย่างในละแวกเดียวกัน ตามความประสงค์ของ รศ.วราพร สุรวดี พิพิธภัณฑ์นี้เป็นเสมือนตัวแทนในสมัยที่ยังไม่เฟื่องฟู จึงหลงเหลือสิ่งที่บอกถึงความเป็นมาของคนที่นี่ได้เป็นอย่างดีราวกับว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ราวกับว่ามีคนอาศัยอยู่จริง...

ถนนย่านธุรกิจที่สำคัญของไทยกับวัฒนธรรมที่หลั่งไหลเข้ามาทำให้ ‘ถนนใหม่’ ซึ่งได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 ว่า ‘ถนนเจริญกรุง’ นับเป็นถนนสายวัฒนธรรมที่ทรงเสน่ห์ที่สุดสายหนึ่งของกรุงเทพฯก็ว่าได้ ตลอดระยะทางที่เราเดินลัดเลาะไปเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางอย่างที่ได้ตั้งใจไว้ เราจะพบกับแหล่งร้านอาหาร ร้านค้าริมข้างทางที่ยังแสดงถึงความเป็นอยู่ในสมัยนั้น ชาวต่างชาติและชาวไทยที่เดินขวักไขว่เข้าร้านอาหาร บนถนนสายแรกที่สมคำร่ำลือถึงเรื่องความอร่อยแบบต้นตำรับ

จากความจริงที่ว่าบางกอกหรือกรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่แห่งความทันสมัยและไม่เคยหลับใหลใครต่อใครต่างก็หลั่งไหลและแวะเวียนกันมาพิสูจน์ว่าจะจริงดังคำร่ำลือ บ้างก็พูดกันไป เสน่ห์ของนครใหญ่ที่มีความทันสมัยย่อมต้องมีกลิ่นอายและเสน่ห์ของความเป็นไทยสมัยโบราณที่ซุกซ่อนรอให้เราไปค้นหาอย่างเปิดเผย และวันเดย์ทริปในวันนี้เราก็ได้ค้นพบเสน่ห์ของสถานที่ที่แตกต่างจากภาพที่เราเห็นกันจนชินตาในถนนสายเก่าอย่างถนนเจริญกรุงเข้าแล้ว

*ถึงถิ่นบางรักกับพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

แล้วการเดินทาง (เท้า) ก็มาสิ้นสุดตรงปากซอยทางเข้าเจริญกรุง 43 ซึ่งเดินเข้ามาอีกประมาณ 300 เมตรตามที่อยู่ที่ได้จดมา หากจุดหมายปลายทางของเราอยู่ทางขวามือก็จะพบกับรั้วยาวหน้าบ้าน ขวามือเป็นประตูทางเข้า และซ้ายมือคือป้ายบอกการเดินมาถึง ‘พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก’

เมื่อมาถึงพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกคุณจะพบป้ายหน้าประตูที่บอกให้กดกริ่ง เพื่อขอเข้าชมพิพิธภัณฑ์ พร้อมกับคนเปิดประตูและสุนัขสีขาวหนึ่งตัววิ่งออกมาเห่าต้อนรับ ราวกับว่าเราเป็นแขกที่มาเยือนเจ้าของบ้านหลังนี้ อาการรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่ไม่เคยพบคงเกิดขึ้นได้กับทุกคน

ใครจะรู้บ้างว่าย่างก้าวแรกที่เข้าประตูบ้านพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ที่มีพื้นที่สีเขียวอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ความคิดของความเป็นบ้านสวนร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่หลากหลายชนิด ที่เข้ามาสัมผัสและรู้สึกได้ทันทีถึงความร่มรื่น เย็นสบาย และเงียบสงบของลมเย็นที่พัดผ่านตัว หลังจากที่เดินท่ามกลางอากาศร้อนและเหนื่อยกันมาพอสมควร เมื่อเดินเข้าไปทางซ้ายจะพบกับเรือนรับรองที่ใช้ทำงานและเป็นที่พักอาศัยของ รศ.วราพร เจ้าของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกที่ยิ้มต้อนรับผู้มาเยี่ยมชม และซ้ายมือคือศาลากลางที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้รองรับกิจกรรมต่างๆ หรือคนภายนอกจะเข้ามานั่งรับลมอ่านหนังสือก็ได้...ตามสบาย

เมื่อมาถึงก็ขอนั่งพักคุยกับเจ้าของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกถึงที่มาที่ไปของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้กันสักหน่อย

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นบ้านที่ รศ.วราพร ได้รับมรดกจากคุณแม่-สอางค์ สุรวดี พร้อมทรัพย์สินที่มากับบ้านหลังนี้ ซึ่งพบว่ามีทั้งเฟอร์นิเจอร์เก่า ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของคนสมัยรุ่นคุณแม่ที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของคนสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี ตามสไตล์สาวโสดที่ปัจจุบัน รศ.วราพร ไม่ได้แต่งงานและไม่อยากเก็บบ้านหลังนี้โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ จึงมีความคิดและตั้งใจที่จะจัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษา เธอจึงปรึกษากับที่ปรึกษาหลายคนว่าการจัดทำพิพิธภัณฑ์เขาทำกันอย่างไร จากนั้นจึงนำข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เก็บรวบรวมไว้มากมายมาปัดฝุ่น ซ่อมแซม ปรับปรุงใหม่ และจัดเรียงข้าวของใหม่ให้เป็นหมวดหมู่ โดยมีแนวคิดริเริ่มจากการนึกถึงวิถีชีวิตของชาวพุทธ และปัจจัย 4 ของคนไทยที่ใช้กันทุกวัน

บ้านที่มีประวัติอันยาวนานและทรงคุณค่าย่อมต้องมีผู้ดูแลและรักษาต่อไปเป็นเรื่องธรรมดา พิพิธภัณฑ์นี้จึงต้องหาหน่วยงานมาดูแลแทน รศ.วราพรตัดสินใจโอนกรรมสิทธิ์ให้กรุงเทพมหานครเมื่อปี 2547 ด้วยสัจธรรมที่ว่าตนเองไม่สามารถดูแลได้ตลอดจึงอยากจัดการให้เสร็จตอนที่ยังมีชีวิตอยู่

*พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

หลังจากที่ได้คุยกับเจ้าของบ้านแล้ว เราก็ได้พบกับวิทยากร สุเมธ เมฆบัณฑูรย์ ไกด์ที่พาชมและให้ความรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ทั้ง 3 อาคาร เมื่อเดินผ่านศาลากลางที่เชื่อมต่อกับบ้านหรืออาคารหลังที่ 1 ลักษณะเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ถูกสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่นิยมในยุคสมัยนั้น ชั้น 1 ของอาคารจะพบกับโถงกลางล่างที่วางเครื่องเล่นแผ่นเสียงสมัยเก่าของ นายแพทย์ฟรานซิส คริสเตียน ชาวอินเดีย ศัลแพทย์จากอังกฤษ (สามีคนแรกของคุณแม่ รศ.วราพร) ภาชนะ เครื่องเงิน เครื่องถมที่ผ่านการใช้งานวางเรียงไว้ในตู้ดูสวยงามยามเปิดไฟ โถงกลางนี้สามารถเดินไปยังสนามหญ้าหน้าบ้าน ที่ยังมีการอนุรักษ์บ่อเก็บเรือไว้ให้คนมาที่พิพิธภัณฑ์ได้ประหลาดใจเล่นว่าบ้านหลังนี้เคยเป็นบ้านริมน้ำ ซึ่งปัจจุบันกลายสภาพเป็นถนนหน้าบ้านไปเรียบร้อยแล้ว

อาคารนี้ ด้านขวามือจะได้พบกับห้องรับแขก ที่เชื่อมต่อกับห้องรับประทานอาหาร โดยจุดเด่นของห้องรับแขกอยู่ที่เปียโนที่คีย์ทำจากงาช้าง ซึ่ง รศ.วราพรพยายามซื้อคืนมาให้เหมือนกับตัวเดิมที่ขายไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากทางบ้านขาดแคลนเงิน ชุดโซฟารับแขกและมุมจิบน้ำชาที่ดูเข้ากัน เครื่องแก้วเจียระไนแบบต่างๆ ที่จัดแสดงไว้ในตู้โชว์อย่างดูดี ยามที่แสงไฟในตู้เปิดสาดกระทบกับภาชนะ

ห้องรับประทานอาหาร จุดเด่นอยู่ตรงโต๊ะอาหารขนาด 6-8 ที่นั่งสามารถยืดขยายได้ตามจำนวนคน เมื่อมองต่ำลงมาจะสะดุดตากับทีวีโบราณตั้งพื้นขนาดใหญ่สมัยเก่า ตู้จัดแสดงภาชนะแบบฝรั่งและของจีน บนตู้จะพบเครื่องเคลือบคล้ายโอ่งที่คนไทยนำมาใช้เก็บความเย็น และห้องตรงข้ามคือห้องหนังสือของนายแพทย์ฟรานซิส ซึ่งจะพบกับโต๊ะนักเรียนสมัยเก่า ตู้เก็บตำราทางการแพทย์ และสะดุดตากับจุดเด่นข้างตู้อย่างห้องน้ำที่จัดแสดงเครื่องสุขภัณฑ์สมัยก่อน พร้อมทั้งกระโถนที่เก็บมูลแบบถ่ายแล้วยกไปทิ้งให้แก่บริษัทที่จ้างมารับของเสีย เนื่องจากสมัยก่อนห้องน้ำไม่มีท่อ และยังมีรูปถ่ายบนฝาผนังบ้านที่คอยให้นึกถึงบรรพบุรุษและอดีตอยู่เสมอ

ในส่วนของชั้น 2 ตรงที่พักบันไดจะเจอกับเครื่องอัดผ้า หากจะต้องอัดทิ้งไว้ถึง 2 วันจึงจะได้กลีบสวย เมื่อเดินขึ้นชั้นบน จะพบกับจักรเย็บผ้ายี่ห้อซิงเกอร์โดดเด่นในสภาพดี ขวามือคือห้องนอนของคุณยาย ซึ่ง รศ.วราพรเคยใช้ห้องนี้นอน ภายในห้องสะดุดตากับเตียงนอนไม้โบราณแบบฝรั่งมีเสามุ้ง พร้อมด้วยพัดที่ทำจากเปลือกไม้ แส้ และอาวุธข้างกายไว้ป้องกันโจรวางอยู่บนเตียง ข้างเตียงเป็นตู้เก็บผ้าเมื่อมองผ่านกระจกตู้จะพบของชำร่วยทำจากผ้าเช็ดหน้าพับเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ตู้เซฟไม้ไม่ใช้รหัสล็อกซึ่งไว้เก็บเอกสารสำคัญ โต๊ะเครื่องแป้งชุดแรกที่แม่ของ รศ.วราพร ซื้อหลังจากได้เงินเดือนเดือนแรก ในห้องใกล้กันเป็นห้องบรรพบุรุษไว้เก็บอัฐิ ซึ่งจะมีการทำพิธีเซ่นไหว้ทุกช่วงตรุษจีนของทุกปี

ถัดมาเป็นห้องแต่งตัวสไตล์ยุโรป เมื่อก้าวเข้าไปจะพบกับความคลาสสิกเสน่ห์แห่งศิลปะยุคเดโคของตู้เครื่องแป้งประดับด้วยกระจกทั้ง 3 บาน โต๊ะเครื่องแป้งของผู้ชายพร้อมกับอ่างล้างหน้า ที่โกนหนวด ขวดแก้วของน้ำหอมรูปทรงต่างๆ ที่วางเรียงรายไว้อย่างเข้ากัน ราวผ้าม่านที่ปิดหน้าต่างไว้ให้ลมผ่านเพียงครึ่งเดียว ตู้ด้านที่ติดห้องนอนจัดแสดงกระเป๋าเดินทาง ข้าวของเครื่องใช้ พร้อมกับหุ่นปลาสเตอร์รูปนายแพทย์ฟรานซิส ซึ่งได้ศิลปินแห่งชาติอย่างอาจารย์ศิลป์ พีระศรีเป็นผู้ปั้นจากความทรงจำของคุณแม่

ติดกับห้องแต่งตัวกันนี้เป็นห้องนอนใหญ่ แต่เดิมใช้เป็นห้องนอนของพี่สาว รศ.วราพร ซึ่งใช้ต้อนรับหลังจากการไปศึกษาต่อต่างประเทศที่สหรัฐอเมริกา จึงมีการต่อเติมห้อง วิวัฒนาการของห้องนี้ที่เห็นได้เด่นชัดคือ ราวผ้าม่านบริเวณหน้าต่างจะยกสูงขึ้นไม่เหมือนกับห้องแต่งตัวที่ปิดหน้าต่างไว้เพียงครึ่งเดียว ซึ่งนั่นก็คือแบบฉบับของการเห็นความแปลกใหม่ในเมืองศิวิไลซ์แล้วนำมาประยุกต์ใช้ พร้อมด้วยตู้เสื้อผ้า และเตียงนอนขนาดใหญ่ดูสวยทันสมัยเข้ากันกับยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

อาคารหลังที่ 2 ลักษณะเป็นเรือนไม้สีน้ำตาลที่ยกมาจากที่ปลูกเดิมคือทุ่งมหาเมฆ ภายหลังได้ยกมาจัดสร้างไว้ที่นี่และได้ปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับบริเวณบ้านที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ จุดประสงค์ของอาคารนี้คือชั้นล่างไว้ทำเป็นคลินิกของนายแพทย์ฟรานซิส และชั้นบนจัดเป็นห้องนอน ในส่วนชั้นล่างจะพบกับรูปหล่อของคุณหมอ พัดลมโบราณ ประกาศนียบัตร 2 แผ่นใหญ่ พร้อมรูปเจ้าของคลินิกที่ผนังบ้าน เมื่อเดินขึ้นชั้นบนจะพบการตกแต่งบ้านด้วยข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ อย่างเครื่องชั่งน้ำหนักโบราณซึ่งตัวเลขบนหน้าปัดกลับด้านต้องอ่านโดยอาศัยกระจกเงา ใบสั่งยา เข็มฉีดยาที่จัดเรียงไว้ในตู้กระจกมุมหนึ่งบนบริเวณชั้น 2

ถัดมาเป็นห้องนอนที่พร้อมด้วยเตียงและชุดเฟอร์นิเจอร์ไว้สำหรับวางซิการ์และเขียนไดอารี่ มุมของห้องนอนนี้ได้รับการตอบรับและชื่นชอบจากคนที่มาเยี่ยมชม ที่สัมผัสได้ถึงความเป็นห้องพักสไตล์รีสอร์ต ดูแล้วสวยสบายตาตามคำบอกเล่าของวิทยากรสุเมธ เข้าใจแล้วว่าบรรยากาศดีของพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างนี้ บ้านหลังนี้อาจกลายเป็นที่พักฟื้นของคนป่วยต่างจังหวัดที่เข้ามารักษาตัวในกรุงเทพฯตามความตั้งใจของ รศ.วราพรตั้งแต่ต้น เพราะด้วยความสงสารและเห็นใจคนป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลที่ไม่สามารถเอื้ออำนวยความสะดวกในเรื่องเตียงและที่พักให้เพียงพอ

เดินออกจากอาคารหลังที่ 2 ลัดเลาะผ่านบรรยากาศที่แสนร่มรื่นและเย็นสบายไปยังอาคารหลังที่ 3 ภายในชั้นบนถูกจัดแสดงเป็นส่วนของนิทรรศการไว้อย่างน่าสนใจ นิทรรศการเหล่านี้แบ่งตามหมวดต่างๆ ให้เดินศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ในส่วนภาพรวมของกรุงเทพมหานครที่แสดงอดีตถึงปัจจุบัน ประวัติความเป็นมาของชื่อบางกอก ลักษณะทางกายภาพ สถานที่และบุคคลสำคัญของเขตบางรัก วิถีชีวิตชุมชนชาวเขตบางรักตั้งแต่สมัยอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์จนถึงรัตนโกสินทร์ที่ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีและรุ่งเรืองสูงสุดกับชาวตะวันตกและชาวจีนจนเกิดชุมชนหลายเชื้อชาติ พร้อมการค้าขายที่หลั่งไหลเข้ามาในเขตบางกอก จนกระทั่งพัฒนามาเป็นแหล่งธุรกิจที่สำคัญของไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมและผสมผสานทางวัฒนธรรมจากผู้คนหลายเชื้อชาติที่เดินให้เห็นกันทุกวันบนถนนสายนี้

หลังจากนิทรรศการชั้นบน ลงมาชั้นล่างที่เมื่อแรกก้าวเข้ามาจะพบกับเอกสารแสดงสิทธิต่างๆ บนฝาผนัง อย่างบัตรประชาชนสมัยเก่าสีฟ้าที่ยาวจนต้องพับหลายตลบ โฉนดที่ดินแผ่นใหญ่ การจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ตั้งแต่สมัยสงครามโลก ชั้นล่างภายในตู้กระจกหลายใบที่จัดไว้ตามมุมต่างๆ จะพบกับตู้โชว์ที่แสดงอุปกรณ์การแพทย์ อย่างเครื่องทำยาลูกกลอน อุปกรณ์การถ่ายภาพ ตู้สะสมแสตมป์และของแถมสมัยเก่า ตู้อุปกรณ์การเย็บผ้าที่ทำให้เห็นว่าตะไกรและกรรไกรต่างกันอย่างไร

นอกจากนี้ ยังได้ตื่นตาตื่นใจกับมุมของการจำลองครัว ภาชนะข้าวของเครื่องใช้ ที่ใช้จริงในสมัยก่อนอย่างตู้ไม้ใส่กับข้าวรุ่นเก่า หม้อหุงข้าว เตาแบบต่างๆ ที่ทำขนม โต๊ะจำลองสำรับอาหาร ให้สัมผัสและถ่ายรูปแบบใกล้ชิด มุมของเล่น ของสะสมสมัยเด็ก หรือจะเป็นมุมที่ผู้ใหญ่ตื่นเต้นกันอย่างกล่องช็อกโกแลตต่างประเทศที่ทำจากเหล็ก ดูดีมีรสนิยม มุมของอุปกรณ์การเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ตู้รางวัลการันตีการประกวดแมวไทย

*จากใจ...ของคนทำงาน

หลังจากเดินชมอาคารที่ 3 เรียบร้อยแล้วได้มีโอกาสนั่งพักคุยกับเหล่าบรรดาคนทำงานที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกแห่งนี้ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามวันต่างๆ เพื่อมาให้ข้อมูลแก่ผู้เข้าชม สุเมธ เมฆบัณฑูรย์ วิทยากรที่เป็นไกด์ให้ในวันนี้ “จากการทำงานที่นี่ได้ 2 เดือนทำให้เจอผู้คนหลากหลาย รู้สึกและสัมผัสได้ถึงความร่มรื่นที่ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้สีเขียวที่ปกคลุมรอบบ้านและไม่เคยคิดว่าจะมีสถานที่แบบนี้หลงเหลืออยู่ในย่านของความเจริญกลางกรุงที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกล้อมรอบ ซึ่งการมาเที่ยวในลักษณะนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นอกเหนือจากการเดินห้าง ช้อปปิ้ง เล่นคอมพิวเตอร์ เมื่อกลับไปความรู้สึกที่ได้เห็นการใช้ชีวิตแบบโบราณอาจก่อให้เกิดไอเดียใหม่จากการมาเยี่ยมชม “

ในส่วนการประชาสัมพันธ์ที่ทำให้คนมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ให้การตอบรับเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะอ่านเจอจากสื่อต่างๆ และคำบอกเล่าของคนที่เคยมาแล้ว ที่นี่จึงไม่เสียงบประมาณในการประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด

จิตรลดา สุรพลชัย วิทยากร ที่ทำงานที่นี่ได้ประมาณ 1 ปี ต่อมาได้มาเรียนรู้และทำงานด้านหนังสือที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกแห่งนี้ ซึ่งต้องหมั่นคอยศึกษาหาความรู้และข้อมูลเพื่อเป็นวิทยากรให้แก่ผู้ที่มาเยี่ยมชมด้วยใจรัก ฝากบอกถึงคนไทยว่า ”ให้มาเที่ยวชมพร้อมกับเรียนรู้เรื่องราวการใช้ชีวิตของคนในอดีตว่าสมัยก่อนอยู่กันอย่างพอเพียงได้อย่างไร เป็นสิ่งที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับยุคปัจจุบัน พร้อมทั้งช่วยฝากประชาสัมพันธ์ให้คนอีกมากมารู้จักสถานที่ดีๆ แบบในเขตบางรัก”

สวย คำเงิน อาชีพแม่บ้านที่ทำงานกับ รศ.วราพรได้ 1 ปีกว่า เผยการทำงานในพิพิธภัณฑ์ที่รู้สึกได้ถึงความสบายใจในการทำงานกับคนคุ้นเคย บรรยากาศตลอดวันที่ร่มรื่นและสงบเหมือนเป็นบ้านของเราเอง หน้าที่ของการดูแลคือรักษาความสะอาดบริเวณบ้านที่ต้องพรวนดิน รดน้ำต้นไม้ กวาดใบไม้บริเวณสวน และกวาด ถู ทุกวันภายในอาคารให้สะอาดเพื่อคนที่มาเยี่ยมชมไม่รู้รู้สึกอึดอัด

แม่บ้านสวยฝากบอกผ่านมาว่า “อยากให้คนที่สนใจมาเที่ยวบ้านโบราณที่อาจยังไม่เคยเห็น คนในละแวกนี้ยังไม่เคยเห็นบ้านแบบนี้กันก็มีเยอะ ไม่ต้องเสียเงินค่าเข้าชมและยังสามารถถ่ายรูปเก็บกลับไปเป็นที่ระลึกได้ด้วย”

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สามารถบอกเรื่องราวที่ดีในอดีต ความร่มรื่น ลมเย็นสบายที่พัดผ่านให้คนที่มาต้องประหลาดใจกับบรรยากาศบ้านสวนที่หลงเหลืออยู่โดยไม่ต้องใช้เครื่องอำนวยความสะดวกอย่างเครื่องปรับอากาศ นั่นอาจเป็นเพราะ รศ.วราพรเองทราบถึงวิกฤตการณ์โลกร้อนตั้งแต่ปี 2535 จึงได้เพียรพยายามปลูกต้นไม้สร้างพื้นที่สีเขียวเป็นตัวอย่างให้นำกลับไปปฏิบัติตามอย่างที่รณรงค์กันอยู่ในทุกวันนี้

สุธินันท์ ระดมสุข ช่างภาพอิสระ บุคคลที่เกิดแรงบันดาลใจจากการได้เห็นรูปภาพที่สวยงามในเว็บไซต์จึงอยากมาพิสูจน์ด้วยตาตนเอง พร้อมทั้งถ่ายทอดอารมณ์และบรรยากาศของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกด้วยการบันทึกภาพมุมต่างๆ เพื่อไปเผยแพร่ให้คนที่ยังไม่เคยมาได้สัมผัสกับความประประทับใจในภูมิปัญญา วิถีความเป็นอยู่ไทยในแบบต่างๆ ช่างภาพอิสระยังแนะนำให้คนที่ชอบถ่ายภาพหรือคนที่สนใจ มาดูบ้านไทยสมัยเก่าหรือลองเปลี่ยนมาเที่ยวในแบบพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกกัน

สุดท้ายการที่ รศ.วราพรเปิดบ้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เธอบอกกับเราว่าไม่สามารถพูดประโยชน์ได้ เพราะประโยชน์นั้นอยู่ที่คนมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ว่ามาแล้วได้อะไรกลับไป ซึ่งเธอเองก็ได้ประโยชน์อย่างไม่คาดฝันเช่นกัน ที่มีคนคอยให้กำลังใจในการได้รับการยอมรับจากการเปิดบ้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์ รวมถึงสื่อที่ต่างๆ ที่คอยช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนอยากมาเยี่ยมชมอยู่ไม่ขาด เธอได้นำเอกสาร ขั้นตอนทั้งหมดที่กว่าจะมาเป็นพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกจัดแสดงไว้ให้คนที่อยากทำได้ศึกษาเช่นกัน

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ซอยเจริญกรุง 43 เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าชม (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) ทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 น. โทร. 0-2234-6741
ในวันเสาร์ที่ 24 และอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2551 จัดแสดงกิจกรรมวิถีชีวิตไทยครั้งที่ 4 โดยวันเสาร์จะมีการแสดงละครเรื่อง บูเช็คเทียน พร้อมทั้งขายบัตรการกุศลเพื่อสมทบทุนมลูนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย นิทรรศการอาหาร “ตำราอาหารเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก” ของพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดนามาตุ เชิญชมการออกร้านสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต


******************************

เรื่อง-หทัยรัตน์ เอมอ่อง

ข้อมูล-นิตยสาร anywhere และเอกสารพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
อาจารย์วราพร สุรวดี เจ้าของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
ห้องรับแขกที่เชื่อมต่อกับห้องรับประทานอาหาร
ห้องบรรพบุรุษ ชั้น2 ไว้เก็บอัฐิเพื่อกราบไหว้
ห้องน้ำในห้องหนีงสือที่จัดแสดงวิถีการใช้ของคนสมัยก่อน
ยามเปิดไฟในตู้โชว์ภาชนะ
ป้ายพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
โต๊ะเครื่องแป้งผู้ชายของ คุณหมอ ฟรานซิส ในห้องเเต่งตัว
ชั้นล่างของอาคารหลังที่ 2ที่จะใช้เป็นคลีนิกของคุณหมอ ฟรานซิส
ชั้น2ของคลีนิกที่จัดทำเป็นห้องนอนดูแล้วคล้ายรีสอร์ท
ตู้เเสดงเครื่องมือการเเพทย์
ของเล่นสมัยก่อนที่จัดเเสดงอยู่ในส่วนของพิพธภัณฑ์ อาคาร 3
เครื่องครัวสมัยก่อนที่จัดแสดงในส่วนพิพิธภัณฑ์
นิทรรศการชั้นบนแสดงประวัติความเป็นมาของบางกอกอดีต-ปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น