xs
xsm
sm
md
lg

ท่องฝั่งธน ชมวัดดุสิต-มัสยิด-เรือพระราชพิธี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย: หนุ่มลูกทุ่ง
พระอุโบสถวัดดุสิดาราม
นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ฉันมีโอกาสได้มาเยือนถิ่นฝั่งธนบุรี อดีตราชธานีของไทยที่เป็นแหล่งรวมมรดกศิลปะนานัปการที่ตกทอดมาจากแผ่นดินอยุธยา บางคนจึงกล่าวว่า กรุงธนบุรีคือจุดเริ่มต้นของยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม หรือยุคเรอเนสซองซ์ของวัฒนธรรมกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ทางกองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครจึงจัดโครงการ "เที่ยวถิ่นธนบุรี ยลวิถีวัฒนธรรม" ขึ้น เพื่อให้ผู้สนใจได้เดินเท้าท่องเที่ยวในย่านวัดดุสิดาราม ผ่านมัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี ซึ่งฉันเองก็ได้ติดสอยห้อยตามไปกับเขาด้วย เพราะเป็นเส้นทางใหม่(สำหรับฉัน)ที่ยังไม่คุ้นเคยเท่าไรนัก
พระประธานในพระอุโบสถวัดดุสิดาราม
เส้นทางเดินเท้าในวันนี้เริ่มต้นกันที่ "วัดดุสิดารามวรวิหาร" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดดุสิต" ที่อยู่บริเวณเชิงสะพานปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรี ที่แม้จะเคยผ่านไปผ่านมาอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่เคยแวะเข้าไปเสียที วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ฉันจะได้ไปกราบพระและชมสถาปัตยกรรมอันงดงามของวัดด้วย

วัดดุสิต แต่เดิมมีชื่อว่าวัดเสาประโคน คำว่าเสาประโคนนั้นก็หมายถึงเสาที่ใช้ปักหลักเขตแดนของบ้านเมือง โดยเมื่อก่อนนี้ที่วัดเคยมีเสาประโคนปักอยู่บริเวณใกล้ๆกับพระอุโบสถ แต่ปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนไปหมดแล้ว โดยได้มีคำกล่าวถึงเสาประโคนนี้ในนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ที่แต่งขึ้นตอนที่จะเดินทางผ่านวัดนี้เพื่อไปอยุธยาว่า "...ถึงอาราม นามวัดประโคนปัก ไม่เห็นหลักลือเล่า ว่าเสาหิน เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา..."
รอบพระระเบียงพระอุโบสถวัดดุสิดาราม
ในสมัยก่อนนี้วัดดุสิตยังไม่มีพื้นที่กว้างขวางมากนัก แต่ที่มีอาณาเขตอย่างในปัจจุบันนี้ก็เพราะว่าได้รวมเอาพื้นที่ของวัดอีกสองวัดมารวมไว้ คือวัดน้อยทองอยู่ และวัดภุมรินราชปักษี แต่ก่อน 3 วัดนี้อาณาเขตแยกกันอยู่ แต่พอมาต้นรัชกาลที่ 4 บริเวณที่เป็นวัดภุมรินฯนั้นไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาแล้ว ก็เลยมีการยุบรวมพื้นที่วัดดุสิตกับวัดภุมรินไว้ด้วยกัน

และต่อมาหลังจากที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดลงในย่านบางลำพูและรวมถึงในแถบนี้ด้วย วัดน้อยทองอยู่ซึ่งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาก็ได้ถูกระเบิดทำลาย จึงมีการรวมพื้นที่วัดเข้าด้วยกันอีก ดังนั้นวัดดุสิตจึงเป็นการรวมสามวัดเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว
พระวิหารเก่าของวัดภุมรินราชปักษี ที่ปัจจุบันรวมเป็นวัดดุสิดาราม
คราวนี้เราเข้าไปดูภายในวัดกันบ้างดีกว่า วัดดุสิตนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ดูจากศิลปกรรมตรงหน้าบันของพระอุโบสถที่เป็นลวดลายก้านขด รูปแบบที่นิยมของอยุธยา และตรงหลังคามีการต่อชานลงมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลายด้วยเช่นกัน

เมื่อฉันเข้าไปกราบพระประธานด้านใน ก็พบว่ากำลังมีการซ่อมแซมจิตรกรรมฝาผนังกันอยู่ยกใหญ่ โดยจิตรกรรมฝาผนังของวัดนี้ได้เป็นภาพเขียนสมัยต้นรัตนโกสินทร์อันงดงาม ด้านหลังพระประธานเขียนเป็นภาพไตรภูมิ ส่วนด้านหน้าเป็นเรื่องราวตอนที่พระพุทธเจ้ามีมารผจญ

ที่ไม่ควรพลาดชมก็คือด้านหลังพระประธานบริเวณด้านล่าง หากเข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นภาพของนรกภูมิ จำลองเหตุการณ์เรื่องพระมาลัยโปรดสัตว์นรก มีภาพเปรตตัวผอมสูงกำลังถูกทรมาน มีเหล่าคนบาปทั้งหลายกำลังชดใช้กรรม ดูแล้วเป็นเครื่องเตือนใจคนที่คิดจะทำชั่วได้เป็นอย่างดี
พระวิหารเก่าของวัดภุมรินราชปักษี
ไหว้พระเสร็จแล้วอย่าลืมออกมาเดินชมพระระเบียงที่ล้อมรอบพระอุโบสถกันก่อน ภายในพระระเบียงนั้นเจาะช่องทำเป็นซุ้มมีพระพุทธรูปปางถวายเนตรประดิษฐานไว้เรียงรายรอบอุโบสถ ดูขรึมขลังและสงบนิ่งไปด้วยในขณะเดียวกัน

และที่พลาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งที่วัดดุสิตก็คือ พระอุโบสถและพระวิหารหลังเก่าที่เคยอยู่ในอาณาเขตของวัดภุมรินราชปักษี แม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็มีความสวยงามไม่แพ้ใคร โดยมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย ฐานพระอุโบสถและพระวิหารโค้งปากสำเภาหรือตกท้องช้าง หน้าบันและคันทวยเป็นลายแกะสลักไม้ ส่วนของพระวิหารนั้นมีความพิเศษตรงที่ด้านหลังนั้นจะมีพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติองค์ใหญ่อยู่ด้วย อีกทั้งมีหอไตรหลังเล็กๆตั้งอยู่กลางน้ำ เป็นของเก่าของวัดภุมรินราชปักษีด้วยเช่นกัน
เรือขุดโบราณในศาลาเรือโบราณ
อ้อ...ของดีของวัดดุสิตยังไม่หมดเท่านี้ บริเวณหน้าพระอุโบสถยังมี "ศาลาเรือโบราณ" ซึ่งเป็นที่เก็บเรือขุดโบราณจากไม้ตะเคียนขนาดความยาวหลายสิบเมตร เป็นเรือขุดที่ยังไม่สำเร็จดี แต่ความยาวนั้นถือว่าไม่เป็นรองใคร ลำหนึ่งมีป้ายแขวนไว้ว่า เสด็จแม่ตะเคียนทอง ยาวถึง 42 เมตร 10 เซนติเมตร เลยทีเดียว

ชมสิ่งสำคัญในวัดดุสิตเรียบร้อย คราวนี้ก็ได้เวลาออกเดินทางไปยังจุดหมายต่อไปของเรา คือที่ "มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์" จากวัดดุสิตฉันต้องเดินเท้าเข้าซอยเล็กๆ ด้านหลังวัดผ่านบ้านเรือนผู้คนเข้าไป แต่ฉันสังเกตดูยังไม่เห็นป้ายบอกทางชัดเจนดีนัก แต่ก็ไม่ต้องกังวลไป เอาเป็นว่าถ้าหาทางไม่เจอก็ใช้แผนที่ปากถามคนแถวนั้นดูได้
การทำที่นอนบางกอกน้อย หนึ่งในอาชีพเก่าแก่ที่ยังเหลืออยู่
ก่อนที่จะเดินไปถึงมัสยิดหลวงฯ ก็มีเหตุให้ต้องแวะกันกลางทางเพราะไปเจอสิ่งที่น่าสนใจเข้าให้ โดยชุมชนในบริเวณนี้ยังมีบางบ้านที่ยังประกอบอาชีพเย็บที่นอนขายกันอยู่ อาชีพการเย็บที่นอนนี้ชาวบางกอกน้อยโดยเฉพาะชาวมุสลิมเขาทำกันมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นอนนี้เป็นที่นอนยัดนุ่นที่คนกรุงเทพฯสมัยนี้อาจไม่ค่อยเคยเห็นกันแล้ว แต่ยังพบเห็นและสามารถสั่งซื้อกันได้ที่นี่

เลยจากบ้านที่นอนยัดนุ่นมาไม่ไกล ก็เป็นที่ตั้งของ "มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์" ริมคลองบางกอกน้อย โดยในแถบฝั่งธนบุรีนี้เป็นแหล่งบ้านเรือนของชาวมุสลิมที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยามาตั้งรกรากที่กรุงรัตนโกสินทร์เกิดเป็นชุมชนชาวมุสลิมขึ้นที่บางกอกน้อยนี้
มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์
แต่พอมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริจะสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพไปยังจังหวัดเพชรบุรี จึงโปรดให้สร้างสถานีรถไฟขึ้นบริเวณปากคลองบางกอกน้อย แต่บริเวณนั้นเป็นที่ตั้งของมัสยิดอยู่ก่อนแล้ว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินฝั่งตรงข้ามที่มีพื้นที่กว้างกว่าเดิมให้เป็นที่ตั้งของมัสยิดแห่งใหม่ อีกทั้งยังได้พระราชทานทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างมัสยิดอีกด้วย แต่มัสยิดหลังเดิมนั้นถูกระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำลาย มัสยิดหลังใหม่จึงถูกสร้างขึ้นทดแทนเมื่อ พ.ศ.2492 ดังที่เห็นในปัจจุบัน

เอ้า...คราวนี้อย่ามัวรอช้า รีบเดินไปให้ถึงปลายทางของเราที่ "พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี" กันดีกว่า ตามเคยว่าหากหาทางไม่เจอก็ใช้วิธีถามทางกันเอา ที่พิพิธภัณฑ์ฯ นี้คงไม่ต้องพูดกันมาก เพราะหลายคนคงรู้จักกันดีหลังจากที่มีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคให้ได้ชมเป็นบุญกันถึง 2 ครั้งในเวลาใกล้ๆ กัน คือวันฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.2549 และในโอกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามในปี พ.ศ.2550
พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังริมคลองบางกอกน้อย
ที่นี่เราสามารถยลโฉมความงดงามอลังการของเรือพระราชพิธีอย่างเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือเอกชัยเหินหาว เรือครุฑเหินเห็จ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร และเรืออสุรวายุภักษ์ รวมทั้งหมด 8 ลำ ได้อย่างใกล้ชิด ได้เห็นความประณีตละเอียดอ่อนและฝีมือของช่างไทยได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังสามารถชมรายละเอียดความเป็นมาของเรือพระราชพิธี ประวัติศาสตร์ของการแห่เรือ และความเป็นมาของเรือพระที่นั่งได้ด้วยเช่นกัน

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

สอบถามเส้นทางการเดินเท้าท่องเที่ยวได้ที่ กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2225-7612 ถึง 4
กำลังโหลดความคิดเห็น