ชาวอัมพวาเตรียมยิ้มรับกับรางวัลอนุรักษ์ขององค์การยูเนสโก โดยจะมีพิธีการมอบรางวัลจากองค์การยูเนสโกเพื่อยกย่องการบูรณปฏิสังขรณ์ชุมชนอัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามในวันที่ 21 ธันวาคม 2551 ณ โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ เวลา 16.00 น.
โครงการอนุรักษ์อาคารมรดกดังกล่าวได้รับรางวัลชมเชย (Honourable Mention) จากการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคแห่งองค์การยูเนสโกประจำปี 2551
ในพิธี ดร. เชลดอน เชฟเฟอร์ ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ จะถวายโล่รางวัลให้แก่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ราชูปถัมภกโครงการอนุรักษ์ชุมชนอัมพวา พร้อมทั้งถวายของที่ระลึกในฐานะที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรี นับตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน
คณะกรรมการผู้ตัดสินกล่าวชื่นชมโครงการอนุรักษ์ชุมชนอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ที่ประสบความสำเร็จในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการคุ้มครองโครงอาคารที่มีคุณค่าในฐานะที่เป็นมรดกของประเทศไทย
โครงการฯดังกล่าวสามารถอนุรักษ์อาคารสำคัญๆทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีคุณค่าสำคัญทางท้องถิ่นหลายอาคารไว้ได้เป็นอย่างดีและยังได้รักษาลักษณะการตั้งถิ่นฐานริมฝั่งคลองแบบดั้งเดิม ที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงทั่วประเทศเอาไว้อีกด้วย นอกจากนี้ โครงการฯยังแสดงถึงคุณค่าของความสำคัญทางวัฒนธรรมบริเวณคลองอัมพวาและการตระหนักถึงมรดกทางสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งคลองประวัติศาสตร์แห่งนี้
อนึ่ง ในปีนี้ มีโครงการอนุรักษ์ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 45 โครงการ จาก 13 ประเทศ ในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค ซึ่งประกอบด้วยโรงแรม อาคารสำนักงาน อาคารสถาบันทางวัฒนธรรม อาคารสถาบันการศึกษา ศาสนสถาน อนุสรณ์สถาน อาคารสาธารณะ ที่พักอาศัย และชุมชนเมือง
Herat Old City (ประเทศอัฟกานิสถาน) และ Stadium Merdeka (กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย) ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม (Award of Excellence) จากโครงการประกวดนี้ ผู้ได้รับรางวัลดีเด่น (Awards of Distinction) 3 รางวัล ได้แก่ National Pass (ในอุทยาน Blue Mountains มลรัฐนิวเซาท์เวลล์ ประเทศออสเตรเลีย) Fujian Earth Buildings (มลฑลฟูเจียน ประเทศจีน) และ Suffolk House (เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย)
ในส่วนของผู้ได้รับรางวัลดี (Award of Merit) 3 รางวัล ได้แก่ Vysial Street (เมืองพอนดิเชอร์รี ประเทศอินเดีย) Shigar Historic Settlements and Bazaar Area (เขตทางเหนือ ประเทศปากีสถาน) และวัดปงสนุก (เมืองลำปาง ประเทศไทย) ดังที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ รางวัลชมเชย (Honourable Mention) 6 รางวัล ได้แก่ Béthanie (เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประเทศจีน) Archiepiscopal Palace (เมืองโกอา ประเทศอินเดีย) Craigie Burn Bungalow (มัฐราช ประเทศอินเดีย) Bach 38 (เกาะแรงคิโตโต ประเทศนิวซีแลนด์) สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา (ประเทศไทย) และชุมชนอัมพวา (จังหวัดสมุทรสงคราม ประเทศไทย)
โครงการรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคแห่งองค์การยูเนสโกมีจุดประสงค์หลักเพื่อยกย่องบุคคลและองค์กรภาคเอกชน หรือโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารและสิ่งก่อสร้างที่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าในภูมิภาค
ทั้งนี้ โครงการอนุรักษ์ที่ส่งเข้าประกวดเพื่อเข้ารับพิจารณารางวัลฯจะต้องมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ จะต้องมีการเปิดใช้อาคารนั้นๆมาแล้วอย่างน้อยเป็นระยะเวลาหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่ประกาศการประกวดรางวัลฯ
องค์การยูเนสโกเชื่อมั่นว่าในการยกย่องภาคเอกชนเรื่องการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางประวัติศาสตร์จะเป็นแรงผลักดันให้เจ้าของอาคารรายอื่นๆเริ่มดำเนินโครงการอนุรักษ์ภายในชุมชนของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยตัวบุคคล หรือการแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนต่อไป
ประเทศไทยได้ส่งโครงการอนุรักษ์เข้าร่วมการประกวดรางวัลฯมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง โดยนอกเหนือไปจากโครงการอนุรักษ์ชุมชนอัมพวานั้น โครงการอนุรักษ์อื่นๆในประเทศไทย 5 โครงการก็เคยได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโกมาก่อนหน้านี้
คือ โครงการอนุรักษ์วัดปงสนุก เมืองลำปาง (รางวัล Award of Merit ปีพ.ศ. 2551) สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา (รางวัล Honourable Mention ปีพ.ศ. 2551) โครงการอนุรักษ์ตำหนักใหญ่ วังเทวเวศน์ กรุงเทพมหานคร (รางวัล Honourable Mention ปีพ.ศ. 2548) โครงการอนุรักษ์พระราชวังเดิม กรุงเทพมหานคร (รางวัล Award of Merit ปีพ.ศ. 2547) และโครงการอนุรักษ์วัดสระทอง จังหวัดขอนแก่น (รางวัล Award of Merit ปีพ.ศ. 2545)