xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุทยานฯปัดเปิดเช่าอุทยาน อ้างแค่แนวคิด หากไม่เห็นด้วยพร้อมหยุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมีแนวคิดจะนำอุทยานแห่งชาติจำนวน10แห่งเปิดให้ภาคเอกชนเช่าทำบ้านพักภายในอุทยานนั้น ล่าสุดวานนี้ (24 ก.ย.) ณ ห้องประชุม อาคารกริต สามะพุทธิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการจัดประชุมสัมมนาเวทีสาธารณะ เรื่อง “แนวคิดการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอุทยานแห่งชาติ” ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ภาคการเมือง ตลอดจนผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

อนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานเปิดงานได้กล่าวว่า เหตุผลของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ เพราะอยากให้ร่วมกันคิดว่าจะบริหารจัดการอุทยานฯอย่างไร สำหรับกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยก้อยากทราบเหตุผลว่าไม่เห็นด้วยเพราะอะไร

“เรื่องนี้ขณะนี้ยังไม่สรุป อย่าใช้อารมณ์ อย่าตั้งธง อยากให้ทุกคนที่เป็นห่วงเรื่องนี้ มีพื้นฐานความเข้าใจเดียวกัน”อนงค์วรรณกล่าว

ทั้งนี้ยังประกาศตัวว่ายอมไม่ได้เหมือนกันถ้าอุทยานฯเสื่อม อยากให้ทำก็ทำ อยากให้หยุดก็หยุด รับเรื่องนี้ยังอีกยาว ตอนนี้เป็นแค่แนวคิด

ด้าน วิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่าเรื่องการเปิดสัมปทานให้อุทยานเช่านั้น เป็นเพราะทุกวันนี้การกินการอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งแออัดมากมายทำให้รู้สึกเห็นใจนักท่องเที่ยวที่มาแล้วไม่ได้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยาน

“ไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางทะเล นั่งเรือเสียเป็นหมื่น สุดท้ายไม่ได้ขึ้นเกาะ เพราะเหตุผลที่ต้องจำกัดนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดความรู้สึกเห็นใจเป็นอยากมาก ส่วนแนวคิดการให้เอกชนเข้ามาร่วมในการบริการ การท่องเที่ยวในอุทยาน เพราะมองว่าต้องการส่งเสริมนโยบายของรัฐในการให้ชุมชนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เป็นการแบ่งเบาภาระรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่อุทยาน เอกชนมีความพร้อมต่างๆกว่ารัฐ การพัฒนาการท่องเที่ยวจะมีการดำเนินการในเขตที่เรียกว่า “เขตบริการหลัก”เท่านั้น”วิชิตกล่าว

นอกจากนี้ยังได้ชี้ให้เห็นถึงเรื่องการกำหนดแนวทางอนุญาตว่ากรมอุทยานแห่งชาติมีระยะเวลาดำเนินการเกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างที่พักอาศัย โดยกำหนดดังนี้ 1.ไม่เกิน 15 ปีสำหรับพื้นที่ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร 2.ไม่เกิน 15 ปีสำหรับพื้นที่เกินกว่า 2,000 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 8,000 ตารางเมตร และ 3.ไม่เกิน 30 ปีสำหรับพื้นที่เกินกว่า 8,000 ตารางเมตรแต่ไม่เกิน 32,000 ตารางเมตร

กรณีการขออนุญาตเพื่อนักลงทุนรายใหญ่ สำหรับพื้นที่เกิน กว่า 8,000 ตารางเมตร แบ่งการทำสัญญาออกเป็น ระยะที่ 1 กำหนด 10 ปี ทั้งนี้จะให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความยืดหยุ่น เพิ่มความสามารถในการควบคุมคุณภาพ การบริการ และเงื่อนไขการดำเนินการตามเหมาะสม ส่วนระยะ 10 ปีขึ้นไปโดยการพิจารณาอนุญาตนั้นจะต้องเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมคือไม่สั้น และยาวเกินไป และให้การประเมินผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขของการอนุญาตทุกๆ ปี หากพบว่าทำผิดเงื่อนไข หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการจัดการขยะ กำหนดเพิ่มค่าบริการโดยไม่ขออนุญาตกรมอุทยานฯ ก็จำเป็นต้องยกเลิกใบอนุญาตไม่ให้ดำเนินการต่อไป และสิ่งปลูกสร้างจะตกเป็นของรัฐ

ด้าน ผศ.สุรเชษฎ์ เชษฐมาส คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่วัตถุประสงค์การจัดตั้งว่าอยู่ที่การให้น้ำหนัก ตอนนี้มองว่าทางกรมอุทยานฯให้น้ำหนักกับการนันทนาการมากเกินไป ความจริงแล้ว เรื่องนี้มีทางออกอยู่ 3 ทาง คือ 1.รัฐดูแลเอง 2.ยกให้เอกชนทำสัมปทาน 3.รัฐและเอกชนทำร่วมกัน

แต่สิ่งที่กรมอุทยานกำลังทำอยู่ในขณะนี้คือการให้น้ำหนักกับการท่องเที่ยวเกินไป อยากให้ผู้เกี่ยวข้องคำนึงเรื่องการปกป้องอนุรักษ์ ดูแลรักษาก่อนเป็นอันดับแรก เพราะกรมอุทยานไม่เคยกำหนดภาพรวมของการท่องเที่ยวในอุทยานให้ชัดเจนว่าจะชี้ไปให้ทางใด

ด้าน ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่าขณะนี้มีข่าวออกมาว่า มีการเล็งเกาะตาชัย อ่าวงวงช้าง ที่สิมิลัน เป็นอีกเรื่องที่น่ากังวล ส่วนเรื่องการเช่าอุทยานของเอกชน เรื่องนี้กรมอุทยานสามารถทำเองได้และทำได้ดี ไม่ควรทิ้งจุดแข็ง สภาพการเมืองในระยะที่ผ่านมาอย่าตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง

ทางด้าน ศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่ห่วงใยขณะนี้มีอยู่ 3 ประเด็น คือ เรื่องเรื่องการสงวนรักษา การศึกษาวิจัย และการท่องเที่ยว ตนอยากถามว่าอุทยานทำหน้าที่ครบถ้วนแล้วหรือยัง ในต่างประเทศที่มีการเปิดให้เอกชนเช่าสัมปทานปัจจุบันก็ทยอยเอาออกไปหลายแห่ง

“ไม่คิดว่าจะเจอนักท่องเที่ยวไปกระทืบๆปะการัง แต่ห่วงเรื่องสิ่งปฏิกูลมากกว่า”ศ.ดร.ธรณ์กล่าว

หากคิดว่าอยากไรเสียก็จะทำแน่ๆ ก็ไม่ควรนำของดีที่สุดมานำร่อง ตนของย้ำว่ามีอุทยานบางแห่งที่เหมาะจะนำร่องแต่ไม่ใช่หมู่เกาะสุรินทร์หรือสิมิลันที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย

ซึ่งแตกต่างจากความเห็นของ อภิชาติ สังฆอารี นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) ที่พร้อมขานรับหากเอกชนสามารถเปิดทำโรงแรมในอุทยานแห่งชาติได้ โดยกล่าวว่าในมุมของนักท่องเที่ยวล้วนต้องการความสะดวกสบายหากเอกชนไม่สามารถกระทำเพียงลำพังได้ก็อยากให้ร่วมมือกับทางรัฐช่วยกับพัฒนาอยากเห็นสิ่งเปลี่ยนแปลงที่ดีของอุทยาน
กำลังโหลดความคิดเห็น