xs
xsm
sm
md
lg

Plasma RX ชัยชนะที่ไม่ควรหยุดอยู่แค่แชมป์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสียงโห่ร้องด้วยความยินดีของคนไทยหลายสิบชีวิตบนสนามการแข่งขันเวิลด์โรโบคัพ ณ เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน อาจดังมาไม่ถึงสยามประเทศก็จริง แต่ภาพของความสำเร็จที่ถูกเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดีถึงศักยภาพของเด็กไทย ว่า มีความเป็นเลิศเหนือกว่าหลายๆ ชาติ โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีอย่าง เยอรมนี อิหร่าน และ ญี่ปุ่น

ชื่อของ Plasma RX, Plasma Z จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Scuba จาก ม.เกษตรศาสตร์ กลายเป็นชื่อที่เรียกความสนใจจากทีมคู่แข่งได้อย่างล้นหลาม นักศึกษาต่างชาติ (ไม่เว้นแม้แต่นักศึกษาปริญญาเอก) เดินเข้ามาสอบถามเทคนิคในการเขียนโปรแกรมจากเด็กไทยอย่างไม่ขาดสาย ตลอดจนกลวิธีในการพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีประสิทธิภาพเหนือกว่าของคู่แข่ง ซึ่งภาพเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย หากว่าวงการหุ่นยนต์ไม่มีความสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศเหล่านั้น และไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย หากความสามารถของเด็กไทยไม่ถึงขั้นที่ทุกชาติให้การยอมรับ

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ซึ่งพาทีมนักศึกษาไทยเข้าร่วมการแข่งขันมาตลอด 4 ปี เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ที่พาทีม Independent มาร่วมแข่งขันในยุคแรกๆ จะพบว่า ผู้เข้าแข่งขันบางชาติไม่ยอมพูดด้วย เนื่องจากเกรงว่าทีมหน้าใหม่อย่างไทยจะไปล้วงความลับการพัฒนาหุ่นยนต์ของเขา แต่หลังจากที่ทีม Independent สามารถชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลกได้เป็นผลสำเร็จ รวมถึงสามารถป้องกันแชมป์ในปีถัดมาได้ ชาติที่เคยหันหลังให้เรา กลับเป็นฝ่ายเดินเข้ามาหา เพื่อสอบถามเทคนิคจากเด็กไทยเสียเอง ผลงานของทีมนักศึกษาไทยเป็นสิ่งพิสูจน์ถึงความสามารถของเราว่าเป็นของจริง เพราะการจะได้แชมป์ 3 สมัยซ้อนในประเภทหุ่นยนต์กู้ภัยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก

“เด็กไทยไม่ค่อยปิดบังอยู่แล้ว ใครถามมา เราก็อธิบายให้ฟัง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กัน และบ่อยครั้งที่เราก็ได้ไอเดียจากการพูดคุยกับชาติอื่นๆ นำมาปรับปรุงหุ่นยนต์ของเราให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก”

สำหรับในปีนี้ “Plasma RX” ผู้ชนะเลิศการแข่งขัน SCG Thailand Rescue Robot 2007 คือตัวแทนจากประเทศไทย ซึ่งสมาชิกประกอบด้วย กมล จึงเสถียรทรัพย์ (อิ๊ก), ชนินท์ จันมา (เล่ย), ยุทธนา สุทธสุภา (อั๋น) และ นวรัตน์ เติมธนาสมบัติ (แหวน) ก็ไม่ทำให้คนไทยต้องผิดหวัง เพราะสามารถสร้างหุ่นยนต์กู้ภัยที่ยากจะหาทีมใดเทียบเท่าได้

เส้นทางของคนเก่งก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ชัยชนะในการแข่งขัน เนื่องจากนิสิตที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแล้วแต่มีแผนศึกษาต่อในระดับปริญญาโทกันทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น นวรัตน์ เติมธนาสมบัติ เธอคนนี้ได้รับทุนการศึกษา Erasmus Mundus ในสาขาเทคโนโลยีทางอวกาศ และจะเดินทางไปศึกษาต่อรวมถึงทำวิทยานิพนธ์ที่ยุโรป โดยจะสลับสับเปลี่ยนไปเรียนที่ประเทศเยอรมนี-สวีเดน

ขณะที่ กมล จึงเสถียรทรัพย์ ปัจจุบันได้รับทุน Fulbright เพื่อไปศึกษาต่อด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ณ Carnegie Mellon University โดยจะเดินทางไปในเดือนสิงหาคม 2551 นี้ ส่วน ชนินท์ จันมา และ ยุทธนา สุทธสุภา นั้นกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หันไปมองนักศึกษาต่างชาติกันบ้าง จาจา เชกินี (Jajar Chegiji) หนึ่งในผู้เข้าร่วมแข่งขันจากทีม MRL ประเทศอิหร่าน เปิดเผยถึงเส้นทางและความชอบในศาสตร์หุ่นยนต์ของตนเอง ว่า ประเทศอิหร่าน มีผู้ที่สนใจเป็นวิศวกรค่อนข้างมาก และมีศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทำให้ทีม MRL ได้นำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ได้หลายอย่าง และมองอย่างภูมิใจว่าหุ่นยนต์ของเขานั้นเป็นหุ่นยนต์ที่ทรงพลังที่สุดในสนามแข่ง

เมื่อถามถึงเส้นทางในอนาคต เขาตอบอย่างภูมิใจว่า เขาจะเข้าเป็นหนึ่งในทีมวิศวกรผู้คิดค้นและพัฒนาหุ่นยนต์ให้กับรัฐบาลของประเทศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะไม่มีการต่อยอดด้านหุ่นยนต์ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็มีบางส่วนที่ภาครัฐให้การยอมรับและนำไปใช้จริง ซึ่ง นางมัทนา เหลืองนาคทองดี ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เครือซิเมนต์ไทย (SCG) เปิดเผยว่า จากเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยที่ SCG ให้การสนับสนุนมาตลอดระยะเวลา 5 ปี จะพบว่ามีการนำสิ่งประดิษฐ์ไปต่อยอดให้เห็นในหลายส่วน ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ทีม Independent ก็มีทางกระทรวงกลาโหม ติดต่อให้ช่วยพัฒนาสำหรับใช้ในภาคใต้ และทาง SCG ช่วยอำนวยความสะดวกในการจดสิทธิบัตรให้กับทีม Independent ขณะที่ผลงานของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีนี้ SCG ก็พร้อมสนับสนุนเช่นเดียวกัน

“สิ่งที่อยากฝากถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน คือ การเปิดเวทีให้เด็กได้มีโอกาสแสดงความสามารถในเชิงสร้างสรรค์ เพราะแท้จริงแล้วเด็กไทยมีศักยภาพ เพียงแต่ยังขาดโอกาสที่จะได้แสดงความสามารถเหล่านั้นออกมา ที่เห็นเด่นชัดคือ ถ้าเด็กได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขัน เขาจะมีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ถ้าเราจัดการแข่งขันที่สร้างสรรค์บ่อยๆ ก็เท่ากับว่า โอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถของเด็กๆ ก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และท้ายที่สุด ประโยชน์นี้ก็จะตกแก่ประเทศชาติ”
กำลังโหลดความคิดเห็น