ย้อนหลังไป 5 ปีก่อน หากใครพอจำได้ จะพบว่า โครงการการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ต่าง ๆ ของไทย ในรอบชิงชนะเลิศมักไม่ค่อยพบชื่อของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากนัก ซึ่งนิสิตส่วนหนึ่งในยุคนั้นยอมรับว่า อุปสรรคสำคัญของพวกเขาเมื่อเทียบกับนักศึกษาจากสถาบันอื่น ๆ คือความไม่ถนัดในด้านฮาร์ดแวร์ (Hardware) นั่นเอง
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ความทรงจำดังที่กล่าวไว้ข้างต้นกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อกลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกว่า 30 ชีวิตภายใต้ชื่อทีม "Plasma-RX" และ "Plasma Z" สามารถพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัยและหุ่นยนต์เตะฟุตบอลจนคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน World Robocup 2008 ณ เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีนมาได้แบบแพกคู่ในที่สุด
สำหรับชื่อเสียงของทีม Plasma Z นั้น เป็นที่รู้จักกันมานานแล้วจากการแข่งขันประเภทต่าง ๆ ที่ต้องใช้ทักษะด้านคอมพิวเตอร์สูง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนารถอัจฉริยะไร้คนขับ, การแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล ซึ่งสมาชิกในทีมก็สามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยม และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน World Robocup ประเภท Small Size League เมื่อปีที่ผ่านมา โดยสามารถต่อกรกับแชมป์โลกอย่างทีม CMD ragon จาก Carnegie Mellon University ได้อย่างสูสี จนมีแต้มเสมอกันและนำไปสู่การยิงลูกโทษเพื่อตัดสินผล แต่การแข่งขันก็ต้องจบลงอย่างน่าเสียดายเมื่อทีม Plasma Z แพ้การดวลดังกล่าว แต่ก็ถือว่าสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
ในการแข่ง World Robocup 2008 เสียงโห่ร้องของกองเชียร์อย่างท่วมท้นที่ข้างสนามเมื่อปี 2007 ได้ย้อนกลับมาอีกครั้ง เมื่อแชมป์เก่าและรองแชมป์โคจรกลับมาพบกัน เห็นได้ชัดว่ารอบสนามในปีนี้เต็มไปด้วยกล้องวิดีโอดิจิตอลของตัวแทนจากทีมต่าง ๆ ตลอดจนผู้ที่ต้องการศึกษาการแข่งขันมาถ่ายภาพเก็บไว้ การแข่งขันดำเนินไปอย่างสูสี มีการเปลี่ยนโค้ดโปรแกรมเพื่อปรับการทำงานของหุ่นยนต์ให้ทันต่อสถานการณ์ทั้งสองฝ่าย จนไปจบลงที่ชัยชนะของทีม Plasma Z จากเมืองไทย ด้วยสกอร์ 4 - 2 และภาพของธงไตรรงค์ที่โบกสะบัดอยู่กลางสนาม
สิขรรณ วรรธนะสาร นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากทีมพลาสม่า ซี กล่าวภายหลังการแข่งขันว่า รู้สึกดีใจที่ได้แชมป์ในปีนี้ และเป็นการพิสูจน์ถึงความสามารถของทีมที่สามารถเอาชนะแชมป์เก่าอย่าง CMDragon มาได้ ส่วนความท้าทายหรือจุดมุ่งหมายในปีต่อไปก็คือการป้องกันแชมป์ในเวทีหุ่นยนต์เตะฟุตบอลให้ได้นั่นเอง
ส่วนธีระพล วัฒนเวคิน หัวหน้าทีม Plasma Z กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากรักษาแชมป์แล้ว ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมการแข่งขันก็ยังสามารถต่อยอดไปสู่การแข่งขันในสนามอื่น ๆ ได้ด้วย จึงคิดว่าความท้าทายของทางกลุ่มในปีหน้าจึงอาจไม่จำกัดอยู่แค่สนามของหุ่นยนต์เตะฟุตบอล แต่ยังมีสนามของหุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ (Humanoid) และหุ่นยนต์กู้ภัยเพิ่มเติมเข้ามาด้วย
ขณะที่สนามการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย "ความหน้าใหม่" ของทีม Plasma RX ก็เรียกความสนใจจากตัวแทนชาติต่าง ๆ ได้ไม่แพ้กัน โดยในปีนี้ ตัวแทนของทีม Plasma RX เจอกับภาวะกดดันมากพอสมควร เพราะนอกจากจะเป็นครั้งแรกที่เข้าร่วมแข่งขันแล้ว ยังมีศักดิ์ศรีแชมป์โลกสองสมัยที่ทีม Independent มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเคยทำเอาไว้ค้ำคออยู่ด้วย ทำให้สมาชิกในทีมต่างคร่ำเคร่งกับการปรับแต่งหุ่นยนต์ให้มีสมรรถนะดีที่สุดอย่างต่อเนื่อง และด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ การเขียนโค้ดโปรแกรมอย่างมีระบบ ตลอดจนการพัฒนาฟังก์ชันต่าง ๆ ขึ้นใหม่โดยเฉพาะ ทำให้ความกดดันของพวกเขาเปลี่ยนเป็นรอยยิ้มได้ทุกครั้งที่คณะกรรมการประกาศผลการแข่งขัน กับคะแนนที่มาเป็นอันดับหนึ่ง และทิ้งห่างคู่แข่งอย่างขาดลอย
โดยหุ่นยนต์ที่ทีม Plasma RX พัฒนาขึ้นนั้นมีทั้งสิ้น 3 ตัว เป็นหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ 2 ตัวและขนาดเล็ก 1 ตัว หุ่นทุกตัวใช้โปรแกรมควบคุมการทำงานโปรแกรมเดียวกัน ทำให้การควบคุมสามารถเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังทำงานได้ทั้งในโหมดอัตโนมัติและโหมดแมนนวล ทางกลุ่มยังได้ติดตั้งเลเซอร์ตรวจจับวัตถุ เซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อน - ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (สำหรับตรวจสอบว่าผู้ประสบภัยยังมีชีวิตอยู่หรือไม่) ไมโครโฟน ฯลฯ ซึ่งส่วนมากเน้นที่ราคาไม่แพง ส่วนที่ตัวหุ่นยนต์ ทางกลุ่มได้เลือกใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แมคมินิ (พร้อมติดตั้งระบบปฏิบัติการไมโครซอฟต์วินโดวส์) สำหรับควบคุมการทำงาน เนื่องจากมีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา
นอกจากนั้น ทางทีมงานยังได้พัฒนาซอฟต์แวร์จำลองสถานการณ์ภัยพิบัติ (Simulation) ขึ้นเพื่อใช้ทดสอบการทำงานของซอฟต์แวร์ที่ทางกลุ่มพัฒนาขึ้นอีกด้วย ซึ่งทำให้การทำงานก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะระหว่างที่ทีมงานอีกส่วนกำลังพัฒนาหุ่นยนต์นั้น ทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ก็สามารถทดสอบการทำงานของโปรแกรมไปได้พร้อม ๆ กัน ทั้งหมดนี้ทำให้ทีม Plasma RX สามารถพัฒนาฟังก์ชันการทำงานใหม่ ๆ ได้อีกมากมาย เช่น ฟังก์ชันการค้นหาผู้ประสบภัยในระหว่างที่หุ่นยนต์กำลังเคลื่อนที่ ฟังก์ชันควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ เหล่านี้เป็นต้น
ขณะที่คู่แข่งของทีม Plasma RX ล้วนแล้วแต่มาจากประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นทีม MRL จากประเทศอิหร่าน ซึ่งอ้างว่ามีศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง ทีม Resko จากประเทศเยอรมนีที่ยืนยันกับทีมข่าว MGR Lite ว่า หุ่นยนต์ของเขาเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติที่ดีที่สุดของการแข่งขัน หรือทีม Pelican United จากประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นสูงอย่างญี่ปุ่น
แต่สุดท้าย ทีมตัวแทนจากไทยก็ชนะเลิศอย่างใสสะอาด และมีคะแนนทิ้งห่างอันดับสองไม่เห็นฝุ่น ซึ่ง นวรัตน์ เติมธนาสมบัติ (แหวน) สมาชิกคนเก่งของทีม Plasma RX เปิดใจว่า "การแข่งขันครั้งนี้สิ่งที่ประทับใจที่สุดไม่ใช่ช่วงของการรับรางวัลบนเวที หรือตอนที่ทราบผลว่าเราชนะ แต่เป็นช่วงเวลาที่ได้เห็นทุกคนในทีม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ๆ หรือน้อง ๆ ตั้งใจทำงาน อดหลับอดนอน ร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคมาด้วยกัน ทีมเรา 13 คนนอนตีสองตีสาม ตื่นตีห้าทุกวัน แต่ก็ไม่มีใครท้อถอย เราเจอปัญหาหุ่นยนต์พัง ต้องนำชิ้นส่วนเก่า ๆ มาปรับใช้ หรือเจอปัญหาเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อัตโนมัติมากมาย แต่ก็ไม่มีใครยอมแพ้ ดังนั้น สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดจึงไม่ใช่ชัยชนะในวันนี้ แต่เป็นช่วงเวลาที่เราร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกันมากกว่าค่ะ"
ผลจากความร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาหุ่นยนต์ ยังทำให้ทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทีมนี้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมด้านสมรรถนะ หรือ Best in Class Mobility ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลดังกล่าวด้วย
อดัม เอส.จาคอฟฟ์ (Adam S. Jacoff) หัวหน้าคณะกรรมการตัดสินการแข่งขัน World Robocup 2008 ประเภท Robot Rescue เปิดเผยว่า การแข่งขันในปีนี้ ตัวแทนจากทีมไทยสามารถทำผลงานได้โดดเด่น โดยเฉพาะในเรื่องของแผนที่ผู้ประสบภัยที่ทำได้ดีและชัดเจนมาก แต่ในปีหน้า ทางคณะกรรมการก็เตรียมโจทย์ที่ท้าทายเอาไว้สำหรับทุกทีมด้วยเช่นกัน โดยเราจะให้หุ่นยนต์เพิ่มฟังก์ชันการทำงานขึ้นไปอีกระดับ ไม่ใช่เพียงการค้นหาเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายและทำแผนที่ แต่หากสามารถนำสิ่งของ เช่น ขวดน้ำ โทรศัพท์มือถือ หรือนกหวีด ฯลฯ เข้าไปให้ผู้ประสบภัยได้ก็จะมีคะแนนพิเศษมอบให้ด้วย
World Robocup 2008 จบลงอย่างประทับใจสำหรับตัวแทนนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกว่า 30 ชีวิต และอีกนับสิบชีวิตที่ก้าวไปไม่ถึงฝัน (ทีมสกูบาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับสองของการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล และทีมไข่นุ้ยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่แพ้ทีมสกูบาตกรอบไปก่อน) ซึ่งเชื่อว่าคงเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่ชีวิตนิสิตนักศึกษาน้อยคนจะได้สัมผัส ทั้งการทำงานเป็นทีม การประยุกต์ใช้ความรู้ความสามารถ และการได้เปิดโลกกว้าง ไปพบเจอกับคนเก่ง ๆ จากรอบโลกที่มารวมตัวกัน
แน่นอนว่า ในปี 2009 เขาเหล่านี้จะยังคงถูกความน่าสนใจของการแข่งขันดึงดูดให้มาพบเจอกันอีกครั้งที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และถึงวันนั้นจะเป็นการทดสอบศักยภาพครั้งใหม่ของทีมนิสิตนักศึกษาไทยที่ทุกฝ่ายต้องติดตามอย่างไม่กะพริบตา