xs
xsm
sm
md
lg

ไหว้พระเมืองอุบล เสริมมงคลให้ชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หอไตรกลางน้ำ วัดทุ่งศรีเมือง ศิลปะผสมระหว่างไทย พม่า และลาว
เมืองอะไรเอ่ย? ได้ชื่อว่าเป็นเมือง “ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม” เอ๊า..ไม่ต้องคิดลึกคิดมาก เฉลยให้ก็ได้ เมืองทวยราษฎร์ใฝ่ธรรมนั้นก็คือเมือง “อุบลราชธานี” นั่นเอง

หลายคนอาจสงสัยว่า “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เอามาจากไหน? ง่ายนิดเดียวก็เรานำมาจากส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัดอุบลนั่นแหละ เพราะไหนๆมาเบิ่งเมืองนี้แล้วก็ขอท่องคำขวัญจังหวัดเพื่อความคุ้นเคยก่อนจะออกไปตะลอนเที่ยวแบบอิ่มบุญกับ “โครงการเที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล” กันที่เมืองทวยราษฎร์ใฝ่ธรรมแห่งนี้
เรือธรรมนาคราช วิหารกลางน้ำอันสวยงามของวัดบ้านนาเมือง
และเป็นธรรมเนียมของโครงการนี้ ที่วิทยากรผู้ทรงเกียรติที่จะมาให้ความรู้เรานั้นเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก อ.คฑา ชินบัณชร ซึ่งเริ่มแรกเราเดินทางไปไหว้ชำระจิตใจกันที่ “วัดทุ่งศรีเมือง” (อ.เมือง) เป็นวัดราษฎร์เก่าแก่ประจำจังหวัด เป็นศิลปะภาคกลางสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2

สถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของวัดนี้ก็คือ “หอไตรกลางน้ำ” ที่เป็นอาคารทรงไทย สร้างด้วยไม้มีลักษณะผสมระหว่างไทย พม่า และลาว หลังคามีมีช่อฟ้าใบระกาแบบไทยแต่ซ้อนกันหลายชั้นแบบพม่า ส่วนลวดลายแกะสลักที่หน้าบันเป็นศิลปะแบบสถาปัตยกรรมของอีสานที่สวยงามและสมบูรณ์ ภายในมีตู้เก็บพระธรรมลงรักปิดทอง
พระแก้วบุษราคัม วัดศรีอุบลรัตนาราม
ด้านข้างหอไตรมีอุโบสถที่สวยงามเช่นกัน ภายในมีพระประธานปางมารวิชัย อาจจะดูแปลกตาสักหน่อยเพราะพระประธานองค์นี้เป็นศิลปะอินเดีย นามว่า “พระเจ้าใหญ่องค์เงิน” เป็นพระเนื้อเงินแท้ อัญเชิญมาจากฝั่งเวียงจันทน์ และยังประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองที่จำลองมาจากวัดสระเกศฯ กรุงเทพฯ เพื่อให้พุทธบริษัทที่อุบลราชธานีได้กราบไหว้บูชา นอกจากนี้ภายในอุโบสถยังมีภาพวาดจิตกรรมฝาผนังเรื่องเวชสันดรชาดก กุมารชาดก พุทธประวัติ และวิถีชีวิตของชาวท้องถิ่นในสมัยนั้น

ถัดจากวัดทุ่งศรีเมืองไม่ไกล คือ “วัดศรีอุบลรัตนาราม” (อ.เมือง) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดศรีทอง” เนื่องจากในอดีตได้เกิดนิมิตประหลาดมีแสงสว่างพวยพุ่งขึ้นเป็นสีเหลืองทองภายในบริเวณวัด จึงตั้งชื่อวัดว่าวัดศรีทอง ต่อมาในปี พ.ศ.2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จมาประกอบพิธีฉลองสมโภชฝังลูกนิมิตและยกช่อฟ้าพระอุโบสถ จึงได้ทูลเกล้าถวายพระอุโบสถหลังนี้ให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และทรงขอพระราชทานนามพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดศรีอุบลรัตนาราม” ตามนามขององค์อุปถัมภ์
พระเจ้าใหญ่อินแปลง วัดป่าใหญ่ เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่พระอินทร์ทรงสร้าง
วัดศรีอุบลรัตนารามแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี หากใครไปเยือนวัดนี้แล้วเห็นรูปแบบของพระอุโบสถดูคุ้นตาก็อย่าได้สงสัยไป เพราะพระอุโบสถของวัดแห่งนี้สร้างตามแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ ภายในประดิษฐาน “พระแก้วบุษราคัม” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอุบล

ด้านข้างของพระอุโบสถมีศาลา “พิพิธภัณฑ์ศรีอุบลรัตนาราม” ภายในเก็บสิ่งของเก่าแก่มากมายอาทิ ช่อฟ้าใบระกาหัวพญานาคเรียงซ้อนกันสวยงามเก่าแก่ ตู้เก็บพระไตรปิฎกได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 พระพุทธรูป และข้าวของเครื่องใช้โบราณ

จากวัดศรีอุบลรัตนารามชาวคณะไปเสริมบุญกันต่อที่ “วัดมหาวนาราม” (อ.เมือง) เดิมวัดนี้เป็นสำนักสงฆ์ชื่อ วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดมหาวัน หรือ วัดป่าใหญ่ และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “วัดมหาวนาราม” แต่ยังคงความหมายว่า ป่าใหญ่ เช่นเดิม
พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดใต้ เป็นเนื้อทองเก้าสัมฤทธิ์องค์ตันและหนักมาก
ภายในวัดมหาวนารามนี้มีปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ลักษณะศิลปะแบบลาวก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง มีตำนานเล่าว่า ในขณะที่กำลังสร้างพระประธานมานานหลายเดือนจนเกือบแล้วเสร็จเหลือแต่ใบหน้าเท่านั้น ในตอนค่ำๆ ชาวบ้านละแวกนั้นเห็นตาปะขาวเดินเข้ามาในโบสถ์ เช้าวันรุ่งขึ้นชาวบ้านและช่าง เข้ามาในโบสถ์ก็ตกใจที่เห็นพระประธานเสร็จสมบูรณ์ มีใบหน้าที่สวยงาม ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่า พระอินทร์มาช่วยสร้างให้ จึงได้ตั้งชื่อพระประธานว่า “พระเจ้าใหญ่อินแปลง”

ถัดไป คือ “วัดใต้” หรือ “วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ” (อ.เมือง) ที่นี่มี “พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อเมตตรัยสัทโธ” เป็นพระประธาน มีลักษณะเป็นเนื้อทองเก้าสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูง 85 นิ้ว หนักถึง 3,850 กิโลกรัม

เมื่อกราบไหว้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อในพระอุโบสถแล้ว พวกเราก็ไปกราบไหว้ “พระพุทธมงคลรัตนสิริรัญสถิต” พระประธานในวิหารเฉลิมพระเกียรติกันต่อ นอกจากนี้แล้วภายในวิหารยังมีพระสร้าง พระเสริม และพระสำเร็จ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเนื้อไม้ทั้งหมด ผู้คนนิยมมาขอพรให้สำเร็จมรรคผลกันที่นี่ รวมถึงพวกเราด้วย เมื่อได้ฟังก็ตั้งจิตอธิฐานกันยกใหญ่เลยทีเดียว
พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ วัดหนองบัว จำลองมาจากเจดีย์แบบพุทธคยา อินเดีย
ขอพรสมใจแล้ว ก็ไปต่อกันที่ “วัดหนองบัว” (อ.เมือง) สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2498 สิ่งที่โดดเด่นเป็นง่าของวัดแห่งนี้คือ “พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์” เห็นแล้วอาจจะดูแปลกตาสำหรับเมืองไทย แต่หากใครเคยได้ไปอินเดียแล้ว เจดีย์องค์นี้คงดูคุ้นตา เพราะได้จำลองมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา องค์พระธาตุที่พวกเราเห็นสูงใหญ่นี้เป็นองค์พระธาตุที่สร้างขึ้นในภายหลังครอบองค์พระธาตุเดิม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากกรุงเทพฯ และเกล็ดชิ้นส่วนของพระธาตุพนมซึ่งถือว่าเป็นเสมือนหนึ่งบรมครูของพระธาตุทั้งปวงในภาคอีสาน

เมื่อพวกเราสักการบูชา พระบรมสารีริกธาตุในพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์แล้ว ก็ไปกราบไหว้พระประธานในศาลาการเปรียญที่อยู่ใกล้ๆกัน ศาลาการเปรียญนี้ก็ได้จำลองมาจากเมืองกุสิดารา ประเทศอินเดีย ภาพวาดบนเพดานมีลายดอกบัวดาวสัญลักษณ์ของจังหวัดอุบล และเรื่องราวพุทธประวัติ สำหรับพระประธานเป็นพระพุทะรูปสำริดสมัยเชียงแสน และพระสังกัจจายน์ ที่สร้างด้วยดินประทาย ซึ่งพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ ได้อัญเชิญมาจากวัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ
พระอุโบสถเรือสุพรรณหงส์ อันโดดเด่นของวัดสระประสานสุข
จากนั้นเราเดินทางต่อมายัง “วัดสระประสานสุข” หรือ “วัดบ้านนาเมือง” (อ.เมือง) เมื่อพวกเรามาถึงวัดแห่งนี้ก็มีอันต้องตกตะลึง ตึง ตึง เมื่อผ่านซุ้มประตูทางเข้าวัดที่เป็นพระพิรุฬทรงช้างเอราวัณ 3 เศียร ที่ไม่เคยเห็นที่วัดใดมาก่อน และเมื่อผ่านพ้นซุ้มประตูเข้าไปก็เจอะเจอกับเรือสุพรรณหงส์มาเกยอยู่บนบก ไม่เพียงแค่นั้นบนเรือสุพรรณหงส์ลำใหญ่ยังมีพระอุโบสถตั้งอยู่ด้วย “ผู้จัดการท่องเที่ยว” แลเห็นแล้วว่าช่างน่าตื่นตาตื่นใจ ก็ไม่รีรอที่จะขึ้นไปชมบนเรือทันที

แต่น่าเสียดายยิ่งสำหรับสุภาพสตรี ที่สามารถชมความสวยงามของเรือได้แต่ห้ามเข้าไปภายในพระอุโบสถ เหล่าแม่บ้านจึงได้แต่ถ่ายรูปคู่กับมือพายอยู่ด้านนอก โดยเรือสุพรรณหงส์และพระอุโบสถนี้สร้างด้วยกระเบื้องดินเผาแกะสลักลาย หน้าบันเป็นธรรมจักร ลวดลายประจำยามก้ามปู ช่อฟ้าใบระกาก็เป็นเซรามิกทั้งหมด หลังคาลดหลั่นแบบศิลปะภาคกลางในกรุงรัตนโกสินทร์

ในวัดสระประสานสุขแห่งนี้นอกจากจะมีเรือเกยตื้นแล้ว ยังมีเรือที่อยู่ในน้ำด้วย โดยด้านหลังของวัดมีวิหารกลางน้ำ ที่มีรูปทรงเป็นเรือธรรมนาคราช ซึ่ง “ผู้จัดการท่องเที่ยว” คิดว่าเป็นวิหารกลางน้ำที่สมจริงที่สุดและสวยงามที่สุดด้วย โดยหลักการสร้างเรือของวัดนี้เปรียบเสมือน เรือลำนั้นได้พาเราออกจากมหาสมุทรวัฏสงสาร ข้ามมหานทีศรีทันดร มาถึงยังฝั่งปรินิพาน นั้นเอง ช่างมีแนวคิดและรูปแบบที่ผสมผสานกลมกลืนกันเป็นอย่างดีเยี่ยมทีเดียว
เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร วัดดอนธาตุ
และแน่นอนเมื่อพวกเราได้เก็บรูปสวยๆจนหนำใจแล้ว ก็ออกเดินทางต่อข้างอำเภอไปยัง “วัดดอนธาตุ” อ.พิบูลมังสาหาร ที่เป็นวัดป่าในสายของหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่น โดยวัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำมูล บนเนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ การมายังวัดแห่งนี้ต้องลงเรือข้ามแม่น้ำขึ้นฝั่งแล้วจึงเดินผ่านแมกไม้อันร่มรื่นไปโผล่ยังวัดดอนธาตุ

พวกเรามาหยุดอยู่หน้าเจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารที่สูงใหญ่ แต่ก่อนที่เราจะเข้าไปชมด้านในเจดีย์ ชาวคณะของเราพากันไปไหว้พระประธานในโบสถ์ที่ดูเรียบง่ายคล้ายศาลาการเปรียญ ภายในบริเวณวัดยังมีกุฏิเก่าของหลวงปู่เสาร์ที่เคยจำพรรษา แท่นหินที่หลวงปู่เสาร์เคยใช้เจริญภาวนา และเส้นทางเดินจงกรม จากนั้นเราก็ขึ้นไปชมภายใน “เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่เสาร์” ด้านในมีอัฐิธาตุหลวงปู่เสาร์ พระพุทธรูป เครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ของหลวงปู่เสาร์ที่ได้มีการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี
พระอุโบสถของวัดภูเขาแก้วประดับด้วยกระเบื้องทั้งหลัง
และวัดสุดท้ายที่พวกเราจะไปเสริมมงคลกันก็คือ “วัดภูเขาแก้ว” (อ.พิบูลมังสาหาร) ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2480 สำหรับให้พระสงฆ์ปฏิบัติกัมมัฏฐาน พระอุโบสถ ประดับด้วยกระเบื้องทั้งหลัง ดูงดงามสมส่วนด้วยงานศิลปกรรมพื้นบ้าน

ส่วนภายในพระอุโบสถตกแต่งด้วยภาพนูนสูงอันสวยงามอยู่เหนือบานประตูและหน้าต่างขึ้นไป เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระธาตุที่สำคัญของประเทศไทย พร้อมทั้งเล่าเรื่องประวัติพระธาตุแต่ละองค์โดยสังเขปด้วย มาที่เดียวเหมือนกับเราได้ไปสักการะพระธาตุทั่วประเทศเลยทีเดียว

รับบุญเสริมมงคลกันจนเต็มอิ่มแล้ว ก็ได้เวลาจากลาเมืองทวยราษฎร์ใฝ่ธรรมอุบลราชธานีไปด้วยความสุขใจ

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

เส้นทางนี้เป็นส่วนหนึ่งใน “โครงการเที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล” สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงาน อุบลราชธานี โทร. 0-4524-3770, 0-4525-0714
กำลังโหลดความคิดเห็น