xs
xsm
sm
md
lg

ยลบ้านเก่า เยือนอดีตราชธานี ที่"พิพิธภัณฑ์ศูนย์กรุงธนบุรีฯ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
บ้านเอกะนาค เรือนปั้นหยาสมัยรัชกาลที่ 6 ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ฯ
เนื่องจากว่ากำลังอยู่ในช่วงอินกับละครย้อนอดีตอย่างเรื่อง "สู่ฝันนิรันดร"ที่นางเอกของเรื่องที่ชื่อ "แม่เฟื่อง" ได้พลัดหลงไปกับกาลเวลาย้อนยุคมาอยู่ในสมัยกรุงธนบุรี ในคราวนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ฉันได้มาที่ "พิพิธภัณฑ์ศูนย์กรุงธนบุรีศึกษา" ที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เพราะนอกจากจะได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับกรุงธนบุรี อดีตราชธานีที่ตั้งขึ้นก่อนหน้ากรุงรัตนโกสินทร์นี้แล้ว หากบังเอิญได้เจอแม่เฟื่องก็จะได้พาตัวกลับบ้านเสียเลย

พิพิธภัณฑ์ศูนย์กรุงธนบุรีศึกษานั้น ตั้งอยู่ในบ้านเก่าแก่ที่มีชื่อเรียกว่า "บ้านเอกะนาค" ที่แม้จะไม่ได้เก่าแก่ถึงสมัยกรุงธนบุรี แต่ก็สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2462 หรือในสมัยรัชกาลที่ 6 มีอายุเกือบ 90 ปีแล้ว บ้านหลังนี้ก็มีเรื่องเล่าด้วยเช่นเดียวกัน โดยบ้านเรือนโบราณทรงปั้นหยานี้ เป็นบ้านของ พ.ต.อ.พระยาประสงค์สรรพการ (ยวง เอกะนาค) ซึ่งมีตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น และต่อมา บ้านหลังนี้ก็ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุตรสาว คือ คุณประยูร เอกะนาค แต่คุณประยูรไม่มีทายาทสืบสกุล จึงได้ยกบ้านหลังนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา หรือโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในสมัยนั้น
ห้องของเจ้าของบ้าน ภายในยังมีเตียงนอนและโต๊ะเขียนหนังสือตั้งอยู่
ต่อมาอีกหลายปี ทางมหาวิทยาลัยจึงได้ปรับปรุงซ่อมแซมตัวบ้านที่ชำรุดให้สวยสง่างามเหมือนเดิม แล้วจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ศูนย์กรุงธนบุรีศึกษาขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของกรุงธนบุรี อดีตราชธานีของไทย

ฉันเดินเข้ามายังมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จฯ โดยได้แวะกราบ "อนุสาวรีย์เจ้าพ่อ" หรืออนุสาวรีย์ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้ซึ่งมีพระคุณมากมายกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพราะที่ตั้งของมหาวิทยาลัยและบริเวณโดยรอบนั้น เคยเป็นจวนและที่ดินของท่านมาก่อน ทุกคนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงเคารพเทิดทูน และขนานนามท่านอย่างเคารพว่า "เจ้าพ่อ" ซึ่งมาจนถึงตอนนี้มหาวิทยาลัยก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในที่ดินของเจ้าพ่อมาได้ 112 ปีแล้ว
นาฬิกาพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ที่ชั้นล่างของบ้าน
ส่วนบ้านเอกะนาคนั้น ตั้งอยู่ในมุมที่ค่อนข้างอับไปสักหน่อย คืออยู่บริเวณด้านข้างโรงเรียนประถมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จฯ และมีตึกสูงบังอยู่ด้านหลังบ้าน แต่เมื่อได้ย่างเท้าเข้าไปในบริเวณบ้านแล้วก็พบว่าไม่อึดอัดอย่างที่คิด เพราะสวนรอบๆตัวบ้านนั้นได้รับการดูแลรักษาอย่างดี จึงช่วยส่งเสริมให้ตัวบ้านน่ามองยิ่งขึ้น

บ้านเอกะนาคนี้เป็นบ้านสองชั้นหันหน้าไปทางคลองบางไส้ไก่ แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โตนักแต่ก็ดูอบอุ่นสมเป็นบ้าน รายละเอียดเล็กๆน้อยๆภายในบ้านไม่ว่าจะเป็นลวดลายไม้ฉลุอันละเอียดสวยงามที่ตกแต่งอยู่ตามช่องลมเหนือประตูห้องต่างๆ และตามชายคา ซึ่งเป็นของที่มีมาแต่เดิมในบ้านหลังนี้ หรือกระเบื้องปูพื้นและผนังห้องลวดลายต่างๆที่ส่วนใหญ่เป็นของเก่า และส่วนหนึ่งทำขึ้นให้เหมือนของเดิม ก็ทำให้ตัวบ้านมีสีสันน่ารักมากยิ่งขึ้นไปอีก
การทำหัวโขน เป็นอีกอาชีพหนึ่งของคนในฝั่งธนบุรี
ด้านในบ้านนั้นแบ่งเป็นห้องๆ ซึ่งในตอนนี้ได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างที่กล่าวไปแล้ว โดยห้องแรกที่ฉันได้เข้าไปชมนั้น เป็นห้องที่จัดแสดงวัตถุสิ่งของต่างๆ ของบ้านหลังนี้ เช่น แผ่นจารึกประวัติความเป็นมาของนามสกุลเอกะนาค ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 นาฬิกาตั้งพื้นซึ่งเป็นของพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 เศษชิ้นส่วนกระเบื้องปูพื้น ลายปูนปั้น เสาระเบียงบ้าน และถ้วยชามต่างๆ ทั้งถ้วยเคลือบเขียวไข่กา ชามลายพุ่มข้าวบิณฑ์ จานเชิงลายคราม เป็นต้น

ส่วนในห้องตรงกันข้ามนั้นจัดแสดงเกี่ยวกับอาชีพของชาวธนบุรีที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน จนมาถึงปัจจุบันก็ยังคงมีผู้ทำอาชีพเก่าแก่นั้นอยู่ เช่น อาชีพการทำขลุ่ยที่บ้านลาว อาชีพการทำขันลงหินที่บ้านบุ อาชีพทำขนมฝรั่งกุฎีจีน อาชีพการทำฆ้องวงบ้านเนิน อาชีพการทำหัวโขนวัดบางไส้ไก่ เป็นต้น
ระเบียงทางเดินในชั้นบน
อีกทั้งภายในห้องนี้ก็มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากอาชีพเหล่านี้ให้ชมด้วย ไม่ว่าจะเป็นหัวโขนตัวลิง ตัวยักษ์ ในขนาดต่างๆ อยู่ในตู้โชว์กลางห้อง ขลุ่ยจากบ้านลาวและอุปกรณ์การเจาะตัด คว้านเลาขลุ่ย รวมไปถึงอุปกรณ์การตั้งเสียงขลุ่ย และมีอุปกรณ์ในการทำขันลงหิน รวมไปถึงเตาเผา เครื่องมือตีเหล็ก เป็นต้น

ห้องถัดไปเป็นห้องของบุคคลสำคัญของกรุงธนบุรี นั่นก็คือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี ในห้องนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้อ่านกัน ทั้งพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์ในด้านต่างๆ เช่น พระราชกรณียกิจทางด้านการทหาร พระราชกรณียกิจด้านศาสนา พระราชกรณียกิจด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น
มุมหนึ่งในห้องของเจ้าของบ้าน
มาถึงห้องรูปทรงห้าเหลี่ยมที่อยู่ทางด้านหน้าของตัวบ้าน ห้องนี้จัดเป็นห้องธนบุรีในอดีต จัดแสดงถึงภาพในอดีตของเมืองธนบุรี ที่เคยได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นราชธานีของสยามประเทศมากว่า 15 ปี มีนามว่า "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" ในห้องนี้มีภาพเก่าๆ ของเมืองธนบุรี เช่น ภาพเกาะกลางน้ำหน้าวัดอรุณฯ ที่ขณะนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว ภาพคลองสมเด็จกับพระปรางค์วัดพิชัยญาติ บริเวณวัดประยูรฯก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง พอให้นึกถึงบรรยากาศเก่าๆกันได้บ้าง

และในชั้นล่างนี้ยังมีห้องวัฒนธรรมประเพณีของชาวธนบุรี ซึ่งในธนบุรีนี้เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมที่หลากหลาย เพราะมีผู้คนหลายเชื้อชาติมาอยู่รวมกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย จีน แขก มอญ ลาว ทำให้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา
บรรยากาศน่าอยู่ของบ้านเอกะนาค
ขึ้นบันไดต่อมายังชั้นบนกันบ้าง ในชั้นนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลสำคัญที่มีคุณประโยชน์ต่อธนบุรี เช่น พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ที่ได้ทำนุบำรุงเมืองธนบุรีมาโดยตลอด และบุคคลสำคัญที่มีถิ่นพำนักอยู่ในธนบุรี เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ผู้สำเร็จราชการเมืองหลวงในสมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ผู้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่แถบวัดอนงคาราม จางวางทั่ว พาทยโกศล ผู้แต่งเพลงชาติไทย นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 12 ของไทย เลื่อน สุนทรวาทิน ครูดนตรีไทย ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ และอีกหลายคนที่ฉันสาธยายไม่หมด

และเนื่องจากในถิ่นธนบุรีนี้เป็นสถานที่ที่มีคนหลายเชื้อชาติมาอยู่รวมกัน ดังนั้นจึงเกิดมีศาสนสถานของแต่ละศาสนาหลากหลายตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ในห้องนี้จึงได้จัดแสดงภาพศาสนสถานในศาสนาต่างๆ ไว้ให้ชมเช่น วัดกัลยาณมิตร วัดอรุณราชวราราม วัดระฆังโฆษิตาราม มัสยิดบ้านสมเด็จ มัสยิดบางหลวง มัสยิดต้นสน กุฎีเจริญพาสน์ ศาลเจ้าเกียนอันเกง โบสถ์ซางตาครูส คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ เป็นต้น และยังมีอีกหนึ่งภาพสถานที่สำคัญของกรุงธนบุรี นั่นก็คือพระราชวังกรุงธนบุรี หรือที่รู้จักกันว่าพระราชวังเดิมนั่นเอง
ระเบียงชั้นล่างปูด้วยกระเบื้องสวยๆดูคลาสสิค
และในชั้นบนนี้ ก็มีห้องของท่านเจ้าของบ้านคือ พ.ต.อ.พระยาประสงค์สรรพการ เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ โดยในห้องยังคงมีข้าวของเครื่องใช้บางชิ้น เช่น เตียงนอน โต๊ะเขียนหนังสือ ตู้สำหรับเก็บของ โคมไฟ แจกันดอกไม้ถวายพระ ตั้งอยู่ภายในห้องอีกด้วย

แม้ข้าวของและข้อมูลที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์นี้จะยังมีน้อยไปสักหน่อย แต่ก็ทำให้ฉันได้ความรู้เกี่ยวกับกรุงธนบุรีเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการได้มาชมบ้านเก่าอันงดงามใจกลางกรุงธนบุรี ในมหาวิทยาลัยสำคัญของฝั่งธนบุรี แค่นี้ก็ถือว่าคุ้มแล้ว เสียอย่างเดียวที่เดินชมจนทั่วบ้านทุกซอกทุกมุมแล้ว ฉันก็ยังไม่เจอแม้เงาแม่เฟื่องอยู่ดี

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 


"พิพิธภัณฑ์ศูนย์กรุงธนบุรีศึกษา" หรือ "บ้านเอกะนาค" ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซอยอิสรภาพ 15 ถนนอิสรภาพ แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กทม. 10600 โดยตัวพิพิธภัณฑ์จะอยู่บริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัย ติดกับโรงเรียนประถมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เปิดให้ชมวันจันทร์-ศุกร์ ในเวลา 09.00-16.30 น. ผู้ที่สนใจเข้าชมด้านในพิพิธภัณฑ์จะต้องมาเป็นหมู่คณะและต้องติดต่อมาก่อนล่วงหน้า สอบถามรายละเอียดโทร.0-2466-6664
กำลังโหลดความคิดเห็น