xs
xsm
sm
md
lg

"ไทยวน" การอนุรักษ์บนความเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิถีชาวไทยวนที่ยังคงอยู่ แต่มิรู้จะสูญไปเมื่อใด
วัฒนธรรมแต่ละชุมชน ย่อมสะท้อนวิถีชีวิตรากเหง้าในอดีตของชุมชนนั้นๆได้อย่างเด่นชัด สืบสาแหรกไปถึงบรรพบุรุษ ก็อาจจะพอจับเค้าได้ว่า เดิมที่มาของชุมชนนั้นอยู่แห่งหนตำบลใดมาก่อน

หากชุมชนนั้นอยู่ที่เดิมรูปแบบการพัฒนาทางสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ก็อาจจะยังคงรักษาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น หรือ ในทางกลับกันด้วยยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เต็มไปด้วยพลวัฒน์แห่งการขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ วัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษก็อาจสูญหายและถูกทดแทนด้วยวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ที่รับจากภายนอกเข้ามา

แต่กระนั้นก็ยังมีชุมชนและชนเผ่าหลายๆแห่งในเมืองไทยที่ปัจจุบันยังคงพยายามอนุรักษ์สิ่งดีงามทางวัฒนธรรมเอาไว้ให้ลูกหลานจนสุดความสามารถ ดังกรณีของชาว"ไทยวน"(ไท-ยวน) จ.สระบุรี
เรือนไทยที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี
ไทยวน สระบุรี

ชวนไทยวนเมืองสระบุรี เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของกลุ่มคนที่ยังรักษาวัฒนธรรมของบรรพบุรุษไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ไทยวน สระบุรี เป็นใครมาจากไหน ?

จากอดีตครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา โลก ในปีพ.ศ.2347 ได้มีบัญชาให้เจ้าพระยายมราชยกทัพหลวงไปร่วมกับหัวเมืองฝ่ายเหนือ เชียงใหม่ น่าน ลำปางและเวียงจันทน์ จัดทัพเป็น 5 ทัพยกไปตีเมืองเชียงแสนหลังจากล้อมเมืองอยู่ได้ 1-2 เดือน จึงตีเชียงแสนสำเร็จ ได้ทำการเผาทำลายป้อมปราการกำแพงเมืองและกวาดต้อนผู้คนชาวเชียงแสนได้ประมาณ 23,000 คนเศษ

ชาวเชียงแสนส่วนหนึ่งอพยพเข้าไปอยู่ในเชียงใหม่น่าน ลำปาง เวียงจันทน์ อีกส่วนหนึ่งอพยพเข้าอยู่ในสระบุ รีและราชบุรี เรียกตัวเองว่า "ไท-ยวน"

ปัจจุบันชาวไทยวนในสระบุรี สืบเชื้อสายกันมาถึง 5 ชั่วคน กระจายอยู่ในทุกอำเภอของสระบุรี อำเภอที่มีชาวไทยวนอาศัยอยู่มากที่สุด คือ อำเภอเสาไห้
อ.ทรงชัย วรรณกุล
รวมกลุ่มอนุรักษ์

หากใครได้ผ่านมาเมืองสระบุรีช่วงริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก กิโลเมตรที่3 บนถนนสายสระบุรี – ปากบาง บ้านโตนด จะพบว่าเป็นที่ตั้งของ "หอวัฒนธรรมพื้นบ้าน ไทยวน สระบุรี" ก่อตั้งขึ้นโดย อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ผู้มีเชื้อสายไทยวนสระบุรี เดิมท่านเป็นอาจารย์โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม ที่รับผิดชอบดูแลศูนย์วัฒนธรรมประจำจังหวัดสระบุรี ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ(สวช.) ปัจจุบันเป็นประธานชมรมไทยวน สระบุรี

หอวัฒนธรรมพื้นบ้าน ไทยวน สระบุรี แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 โดยได้มีการรวมตัวกันในกลุ่มของชาวไทยวน ตั้งเป็นชมรมขึ้น โดยมีอาจารย์ทรงชัย เป็นประธานชมรม เรียกว่า ชมรมไทยวน สระบุรี
เด็กๆลูกหลานไทยวนกำลังเรียนฟ้อนเล็บ
หน้าที่อันสำคัญยิ่งของหอวัฒนธรรมฯ คือ ทำการศึกษาประวัติความเป็นมา กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อสืบสาวความเป็นมาประเพณีและ วัฒนธรรมอันดีงาม และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในกลุ่มของชาวไทยวน

การอนุรักษ์ที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือ ในเรื่องของภาษาพื้นเมืองของชาวไทยวน ที่มีสำเนียงทางเหนือ ที่คนเมืองเหนือฟังอาจจะบอกว่า คล้ายชาวแพร่บ้าง เชียงรายบ้าง เชียงแสนบ้าง

หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี เป็นหมู่เรือนไทยโบราณที่หาชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติพันธุ์ไทยวน ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรม จัดประชุมสัมมนาจัดเลี้ยงแบบวัฒนธรรมทางล้านนา ไม่ว่าจะเป็นการกินแบบขันโตกไม่ต้องไปไกลถึงล้านนามาสระบุรีก็กินได้ และยังมีการฝึกอบรมเยาวชนให้เรียนรู้ศิลปะการแสดง ภูมิปัญญาพื้นบ้านชาวไทยวน เช่น การฟ้อน การตัดกระดาษ การทำอาหาร งานใบตอง
ปัจจุบันชาวไทยวนจะแต่งกายอย่างเต็มยศเฉพาะในวันพิธีสำคัญๆ
เดิมทีอาจารย์ใช้บ้านเรือนไทยของตัวเอง ซึ่งอยู่อีกฝากหนึ่งของถนน ตรงข้ามกับที่ตั้งในปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของหอวัฒนธรรม เปิดให้เข้าชมอย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2530 ต่อมาจึงขยับขยายพื้นที่มายังฝั่งตรงข้าม ริมแม่น้ำป่าสัก

อาจารย์ทรงชัย เล่าว่าเริ่มสะสมสิ่งของพื้นบ้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือนไทย สะสมมานาน 30กว่าปี อาทิ เรือนของเจ้าเมืองสระบุรี เรือนของพันตรีหลวงจบกระบวนยุทธ(บิดาของท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร) เรือนของเสือคง โจรเลื่องชื่อในอดีตในจังหวัดสุพรรณบุรี

"เริ่มทำจากแค่เพียงต้องการอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญหายเท่านั้น ไป ๆ มา ๆ ก็กลายเป็นชมรมขึ้น ผมทำตรงนี้หลายๆคนที่มาเที่ยว มาเยือน พวกเราชาวไทยวนอาจจะมองว่าผมมีความรู้ความเข้าใจเรื่องไทยวนมากกว่าคนอื่น แต่จริงๆแล้วผมก็มีรู้บ้างไม่รู้บ้าง ถ้าเทียบกับคนไทยวนด้วยกันแล้วก็ไม่ได้รู้มากกว่า เพียงแต่เราเป็นคนเริ่มต้นอนุรักษ์ เลยกลายเป็นว่าเราเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างคนไทยวนกับคนที่สนใจอยากรู้เรื่องไทยวน"อาจารย์ทรงชัยกล่าว
ข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ที่ อ.ทรงชัย นำมาจัดแสดง
นอกจากนี้บริเวณท่าน้ำหน้าบ้านยังเป็นที่เก็บและจัดแสดงเรือชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ลุ่มน้ำป่าสักและภาคกลางกว่า 20 ลำ โดยใช้ชื่อว่า "พิพิธภัณฑ์เรือลุ่มน้ำป่าสัก"

สำหรับฝั่งตรงข้ามหอวัฒนธรรมฯที่มีเพียงถนนกั้นนั้น นอกจากอาจารย์จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยเองแล้ว ยังใช้เป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์บ้านเขาแก้ว" อีกด้วย

สิ่งเร้าแห่งกาลเวลา

แม้ว่าจะอนุรักษ์ไว้อย่างดีเยี่ยมปานใดก็ตามแต่ หากก็ไม่อาจกั้นกระแสแห่งยุคเวลาได้ ณ จุดนี้อาจารย์ทรงชัยเองก็ยอมรับว่ากำแพงวัฒนธรรมได้ถูกทำลายไป
เรือนไทยถูกดัดแปลงเป็นโฮมสเตย์แบบเรียบง่าย
"ผมเชื่อว่าเรื่องความเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีแค่ในหมู่ไทยวน สระบุรี แต่คงเป็นไปในทุกที่ ตัวผมเป็นรุ่นที่ 5 นับจากบรรพบุรุษถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่นี่ คาดว่าจะเป็นกลุ่มคนรุ่นสุดท้ายที่พูดภาษายวน เพราะรุ่นเราก็มีการผสมผสานระหว่างของเก่ากับของใหม่แล้ว ขนาดลูกๆผมยังพูดไม่ได้เลย ซึ่งเราห้ามความเปลี่ยนไม่ได้ทำได้เพียงชะลอให้ค่อยๆเปลี่ยนไปแล้วรับเอาสิ่งใหม่ที่ดีๆไว้"อาจารย์ทรงชัยกล่าว

เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกหลานได้รู้จักรากเหง้าและสนใจวัฒนธรรมไทยวน จึงมีการจัดกิจกรรมต่างเช่นในวันเสาร์-อาทิตย์ให้เด็กๆในชุมชนมาเรียนฟ้อน รำ เป็นต้น

"การทำงานเราทำแบบ 3 ประสาน "บวร" คือร่วมกับบ้าน-วัด-โรงเรียน ภายใต้แนวคิด "3 ส" คือ

หนึ่ง สืบหา ว่าพวกเรามาอยู่กันได้อย่างไร โดยสืบสาวจากความเป็นมาของภาษาที่คล้ายคลึงกับคนเหนือ จากคำเรียกตัวเองว่าเป็น คนยวน นอกจากนั้นพวกเราได้ลงไปเชียงแสนเพื่อสอบถามผู้รู้ เพราะในพงศาวดารได้กล่าวถึงคนยวนว่าเป็นคนเชียงแสนที่อพยพลงมา

สอง สืบสาน ฟื้นฟู รักษา ส่งเสริม เผยแพร่ พัฒนา กลุ่มชาติพันธุ์ และสาม เสริมสร้าง ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกลุ่มวัฒนธรรม ตอนนี้เรามีการแลกเปลี่ยนกับกลุ่มไทยวนกลุ่มอื่นๆ เชียงใหม่ น่าน เชียงราย ราชบุรี อย่างน้อยหมดคนรุ่นเราก็ยังอย่างให้ลูกหลานอยู่อย่างร่วมสมัยและภูมิใจในชาติกำเนิดตัวเอง"อาจารย์ทรงชัยกล่าวทิ้งท้าย

แม้จะหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามในฐานะผู้มีส่วนอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยวนมิให้สูญหายจากสระบุรี ลึกๆแล้วอาจารย์ก็ยังหวังว่าลูกหลานไทยวนยุคใหม่ จะไม่ทอดทิ้งวัฒนธรรมดีๆของชาวไทยวน และไม่ต้องการให้วัฒนธรรมภายนอกไหล่บ่าเข้ามาจบกลบของเดิมสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น