xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวถ้ำพระยานคร สามร้อยยอด...รอดหวุดหวิด !?!/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี

“เมื่อมีคำถาม ถามให้ลองตอบ ว่าชอบภูเขาหรือทะเล ไม่ยากใช่ไหมถ้าใครจะตอบ สิ่งที่ชอบรู้อยู่แก่ใจ...”

เพลง ภูเขา & ทะเล : ศุ บุญเลี้ยง

ไม่ว่าใครจะชอบภูเขาหรือทะเล แต่หากเมื่อไปเที่ยวยัง“อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด” จ. ประจวบคีรีขันธ์ สิ่งที่จะได้สัมผัสก็คือบรรยากาศทางการท่องเที่ยวที่มีทั้งภูเขา ทะเล ที่ต่างก็มีเสน่ห์ชวนชมแตกต่างกันออกไป

แต่สำหรับผมการไปเที่ยวสามร้อยยอดหนนี้ กลับไม่ได้โฟกัสไปยังภูเขาและทะเล หากแต่เลือกพุ่งเป้าไปยัง“ถ้ำพระยานคร” ไฮไลท์สำคัญแห่งอช.สามร้อยยอดที่นอกจากจะไม่ใช่ถ้ำธรรมดาๆแล้ว ถ้ำแห่งนี้ยังเป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์อันลือชื่ออีกด้วย

ที่สำคัญการเที่ยวถ้ำพระยานครนั้น ไม่ได้มีเฉพาะบรรยากาศแห่งถ้ำอย่างเดียว หากแต่มีหลากหลายทั้ง ขุนเขา ป่าไม้ ชายหาด ท้องทะเล ตำนาน และประวัติศาสตร์ ซึ่งก่อนจะไปขึ้นเขาเข้าถ้ำ ผมขอเล่าถึงที่มาของชื่ออุทยานแห่งนี้กันเสียหน่อย

ชื่อ“สามร้อยยอด”นั้นมีที่มา 3 ทางด้วยกัน คือ หนึ่งนั้นมาจากการที่ขุนเขาลูกนี้เต็มไปด้วยยอดเขาหินปูนมากมาย ชาวบ้านจึงเรียกขานกันว่า“สามร้อยยอด” อีกหนึ่งมาจากการเรียกขานชื่อต้น“สามร้อยยอด” พรรณไม้ชนิดหนึ่งที่มียอดมากมาย ส่วนอีกหนึ่งนั้นมาจากตำนานที่เล่าต่อๆ กันมาว่า ในสมัยก่อนพื้นที่แถบนี้เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ มีเรือน้อยใหญ่ผ่านไป ผ่านมาอยู่เสมอ จนวันหนึ่งมีเรือสำเภาของพ่อค้าชาวจีนผ่านมา แล้วถูกมรสุมกระหน่ำจนเรืออับปางลงมีผู้เสียชีวิตมากมาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีผู้โชคดี 300 คน หนีตายขึ้นฝั่งรอดมาได้ จึงเรียกดินแดนแถบนี้ว่า “สามร้อยรอด” ก่อนจะเพี้ยนเป็น“สามร้อยยอด” ในเวลาต่อมา

เอาล่ะ หลังรู้ที่มา 3 ทางของชื่อสามร้อยยอดแล้ว(ใครจะเชื่อในที่มาไหนหรือไม่เชื่อเลยก็สุดแท้แต่) ทีนี้ก็ได้เวลาเดินทางสู่ถ้ำพระยานครกันเสียที

ถ้ำแห่งนี้ตั้งอยู่บนเขาที่เส้นทางการเข้าถึงตัวถ้ำมี 2 ช่วงด้วยกัน ช่วงแรก(หาดบางปู-หาดแหลมศาลา) มี 2 ทางให้เลือกคือ การเดินเท้าขึ้นและข้ามเขาเทียนไปประมาณ 500 เมตร หรือจะไปทางเรือ ขึ้นที่หาดบางปูนั่งอ้อมเขาไปประมาณ 10 นาที ค่าเรืออยู่ที่ 300 บาท(ไป-กลับ : ให้นัดเวลากลับกับคนขับเรือ) ส่วนช่วงที่สองนั้นต้องเดินขึ้นเขาในระยะทาง 430 เมตรสู่ตัวถ้ำสถานเดียว ไม่มีวิธีอื่นหรือเส้นทางอื่นให้เลือก

งานนี้ผมเลือกไปทางเรือเพราะเห็นว่าเมื่อไปกันหลายคน คิดคำนวณบวก-ลบ-คูณ-หาร แล้วถือว่าคุ้ม อีกอย่างตัวผมเองเป็นคนที่ชอบทั้งภูเขาและทะเล แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงข้ออ้างทั้งนั้น ส่วนเหตุผลจริงๆก็คือ เพื่อเป็นการเก็บแรงเอาไว้เดินขึ้นถ้ำในช่วงสุดท้ายนั่นเอง

ว่าแล้วผมกับเพื่อนร่วมทริปก็นั่งเรือเครื่อง แต๊กๆๆๆ อ้อมเขาเทียนไปขึ้นฝั่งยังที่ทำการอุทยานฯ(หาดแหลมศาลา) เพื่อลุยถั่วเดินถั่วขึ้นยังตัวถ้ำ แต่ช้าก่อน !!! ก่อนจะเดินไปถ้ำ ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯเสนอว่า สนใจไกด์เด็กนำทางมั้ย ไม่คิดค่าไกด์ ขึ้นอยู่กับน้ำใจของแต่ละคนว่าจะให้ทิปแก่ไกด์เด็กที่นำทางคนละเท่าไหร่ ซึ่งคณะผมไม่รีรอขอไกด์ตัวน้อยมานำทางหนึ่งคน เธอชื่อ ทักษิณา เกตุย้อย หรือ น้องฝ้าย นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนบ้านพุน้อย

ช่วงแรกดูเหมือนว่า น้องฝ้ายเธอจะเกร็งๆ ซึ่งไม่รู้ว่าเธออายหรือ“กลัว”!!! พวกเรากันแน่ แต่ถึงอย่างไรเธอก็ไม่กลัวต่อการทำหน้าที่ เพราะหลังออกเดินในเส้นทางที่สะดวกสบายไปได้สักพัก น้องฝ้ายก็เริ่มอธิบายสิ่งน่าสนใจอย่างแรกนั่นก็คือ“บ่อพระยานคร” ที่ขุดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช

จากบ่อเมื่อเดินต่อไปอีกหน่อย เส้นทางสู่ถ้ำพระยานครเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกไปอย่างสิ้นเชิง จากทางเดินสบายๆกลายเป็นทางขึ้นเขาสูงชัน ที่ผมเห็นปร๊าดแรกก็บอกได้คำเดียวว่า งานนี้คงได้เดินกันรากเลือดแน่ แต่สำหรับน้องฝ้ายกับดูเธอเดินขึ้นเขาสบายฉิวลิ่วโลด ปรู๊ดปร๊าด ปร๊าดปรู๊ด เผลอแป๊บเดียวขึ้นไปลิบๆโน่นแล้ว เรียกว่าทิ้งผู้ใหญ่ไปไกลโขทีเดียว

ครั้นพอถึงจุดพักกลางทางซึ่งน้องฝ้ายนั่งรออยู่นานแล้ว ผมจึงยิงคำถามใส่น้องฝ้ายว่า ตัวเล็กๆอย่างนี้ไปเอาเรี่ยวแรงพลังมาจากไหน

“หนูเดินประจำค่ะ บางวันเดินถึง 3 รอบ ส่วนวันนี้เพิ่งเดินเป็นรอบแรกเอง”

น้องฝ้ายบอก ก่อนที่ผมจะซักไซ้ไล่เลียงแบบขุดเจาะไปในความเขินอาย(หรือกลัวก็ไม่รู้)ของเธอ ซึ่งก็ได้ข้อมูลคร่าวๆเกี่ยวกับตัวเธอและทีมไกด์น้อยมาว่า พวกเธอมีทีมงานไกด์น้อยชาย-หญิง ทั้งหมด 6 คน ด้วยกัน เป็นลูกหลานของเจ้าหน้าที่ในอุทยานฯทั้งหมด ส่วนใหญ่เคยเดินตามพ่อที่พานักท่องเที่ยวไปเที่ยวถ้ำมาก่อน แล้วพวกผู้ใหญ่เห็นแววจึงจับฝึกเป็นไกด์เพื่อให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

ผมฟังน้องฝ้ายเล่าแล้วก็เห็นด้วยกับการฝึกเด็กเป็นไกด์น้อยคอยนำเที่ยวและให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยว ซึ่งเดี๋ยวนี้การนำเด็กๆเยาวชนมาเป็นมัคคุเทศน์ท้องถิ่นกำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่ ส่วนไกด์น้อยนำเที่ยวถ้ำพระยานครนั้น ผมก็ขอฝากไปยังผู้เกี่ยวข้องว่าให้สานต่อและฝึกฝนเด็กๆพวกนี้ไปอย่างต่อเนื่อง ให้เชี่ยวชาญประสบการณ์มากขึ้นกล้าพูดจามากขึ้นแต่ก็คงความน่ารักไว้อย่างนี้ เพราะยังไงๆการเป็นไกด์น้อยนำเที่ยวนั้นดูดีมีคุณประโยชน์กว่าการเป็นเด็กแว้นท์เยอะเลย

โดยเฉพาะการเที่ยวในทริปนี้ไกด์น้อยอย่างน้องฝ้ายนั้นถือว่ามีคุณต่อผมอย่างใหญ่หลวง ซึ่งเอาไว้ถึงช่วงนั้นผมจะอธิบายให้ฟัง ส่วนตอนนี้ขอเล่าต่อว่า หลังพักเหนื่อยแล้วน้องฝ้ายก็พาพวกเราออกเดินลุยถั่วมุ่งหน้าสู่ถ้ำพระยานครต่อไป

ดูเหมือนว่าเส้นทางในวันนั้นจะมีความพิเศษตรงที่ มันเฉอะแฉะเป็นพิเศษ เนื่องจากเมื่อคืนก่อนหน้านั้นมีฝนตกหนัก ทางเดินจากดินแข็งๆจึงกลายเป็นเลนเลอะลื่น

เฮ้อ...แค่เดินขึ้นเขาธรรมดาที่ก็แย่อยู่แล้ว ยิ่งมาเดินย่ำเลนหนืดหนึบหนับยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ แต่ดูเหมือนเลนจะไม่เป็นอุปสรรคต่อน้องฝ้าย เพราะยังคงฉิวลิ่วโลดไปสู่ถ้ำพระยานครแบบไม่ติดขัด ผิดกับผมและเพื่อนๆที่เดินกันแบบทุลักทุเลยักแย่ยักยัน

แต่เมื่อความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น เพราะอีกไม่นานเราก็มาถึงยังตัวถ้ำพระยานครจนได้

สำหรับถ้ำพระยานครแห่งนี้ เป็นถ้ำขนาดใหญ่ เพดานถ้ำมีปล่องทะลุเป็นโพรงขนาดใหญ่ยามแสงอาทิตย์สาดส่องลอดลงมาจะเห็นเป็นภาพสวยงาม ถูกค้นพบโดยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ซึ่งในอดีตขบวนเดินทางของท่านที่มุ่งหน้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ เคยมาแวะพักแรมแถวนี้ แล้วได้สำรวจพบถ้ำบนเขาจึงให้ชื่อว่า“ถ้ำพระยานคร”

ในถ้ำแห่งนี้มีจุดชวนชมหลายจุด อาทิ น้ำตกแห้ง สะพานมรณะ หินรูปเจดีย์ ลายพระหัตถ์ จ.ป.ร.,ป.ป.ร. โดยมีไฮไลท์อยู่ที่ “พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์” ที่เป็นพลับพลาจัตุรมุขอันวิจิตรสวยงามตั้งเด่นอยู่กลางถ้ำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้ก่อสร้างขึ้น เมื่อคราวเสด็จประพาสเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2433

พระที่นั่งหลังนี้ไม่เพียงเป็นจุดเด่นของถ้ำพระยานครในระดับอันซีนไทยแลนด์เท่านั้น หากแต่ยังถูกใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อีกด้วย

หลังเดินชมถ้ำและถ่ายรูปพระที่นั่งฯอย่างจุใจแล้ว ก่อนจากลาถ้ำพระยานคร น้องฝ้ายเธอชวนให้เดินลึกเข้าไป เพื่อชมต้นไม้มีพิษ และหิน(รูป)จระเข้

สำหรับต้นไม้มีพิษนั้น น้องฝ้ายบอกว่ามันคือต้นสามแก้วหรือต้นลังตังช้างร้อง ที่เห็นใบเป็นมันวาวอย่างนั้นนั่นแหละ หากใครไปโดนเข้าจะปวดแสบปวดร้อนไปหลายวันทีเดียว

“มีเรื่องว่า เคยมีพม่าหนีมาพักในนี้แล้วนำใบต้นสามแก้วไปปูนอน พอตกดึกพวกเขานอนคันปวดแสบปวดร้อนไปทั้งตัวจนต้องไปกระโดดน้ำตาย”

ฟังน้องฝ้ายเล่าถึงพิษภัยของต้นสามแก้วแล้ว ผมว่าอย่าเสี่ยงไปยุ่งกับมันเป็นดีที่สุด งานนี้หนีไปดูหิน(รูป)จระเข้ดีกว่า ซึ่งกับหินรูปร่างประหลาดที่ดูคล้ายจระเข้ก้อนนี้ น้องฝ้ายเธอบอกว่า ชาวบ้านแถบนี้เชื่อกันว่าเป็นจระเข้ที่มากับหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร ซึ่งท่านเคยมานั่งกรรมฐานวิปัสสนาในนี้

“คนที่นี่เชื่อกันว่าหินจระเข้นั้นศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีเรื่องเล่าว่า เคยมีวัยรุ่นปีนขึ้นไปยืนบนหัวหินจระเข้ แล้วจู่ก็ล้มตึงตกลงมาเสียชีวิต”

เอาอีกแล้ว น้องฝ้ายเล่าเรื่องน่ากลัวให้ฟังอีกแล้ว แถมสภาพอากาศตอนนี้ จากที่ฟ้าโปร่งแสงจ้า จู่ๆเกิดเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันเป็นมืดครึ้มทะมึนเทาปานประหนึ่งบรรยากาศมาคุเหมือนในหนังเกียร์บัน

ดูสภาพการณ์แล้ว ผมเห็นท่าว่าไม่ดีจึงบอกน้องฝ้ายว่ารีบลงเขาออกจากถ้ำกันเถอะ ขืนชักช้าเจอฝนกลางทางลงเขาเข้าจะแย่ไม่น้อยเลย เพราะทริปนี้ผมประมาทสภาพฟ้าฝนไปมากโข จึงไม่ได้เตรียมถุงกันน้ำหรือถุงพลาสติกมาเผื่อไว้สำหรับหุ้มกล้อง เนื่องจากตอนเดินขึ้นถ้ำนั้นฟ้าใสแจ๋วแหวว ถ้าขาลงเจอฝนถล่มต่อเนื่อง ถึงแม้ผมจะเป็นคนอยู่ใต้ฟ้าไม่กลัวอะไรกับฝน แต่ไอ้กล้องถ่ายรูปตัวเก่งนี่สิ ต่อให้มันเก่งแค่ไหน หากโดนฝนถล่มจนเปียกเข้าไปถึงกลไกภายในแล้วละก้อ บอกได้คำเดียวว่า“เจ๊ง”แน่นอน

ครั้นเมื่อเห็นท่าไม่ดีจึงต้องรีบจรลีลงจากเขาทันที แต่ประทานโทษหลังเดินลงเขาไปได้สักพักฝนก็ตกลงมาห่าใหญ่ปานประหนึ่งฟ้ารั่ว ผมพยายามปกป้องกล้องถ่ายรูปสุดชีวิต แต่ก็ไม่วายถูกสายฝนถล่มจนกระเป่ากล้องเปียกโชก ซึ่งผมแน่ใจว่ากระเป๋ากล้องจะอึดทนกันน้ำฝนที่เปียกชุ่มซึมเข้าสู่ข้างในได้นานแค่ไหน เพราะดูๆแล้วฝนยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ

...นี่ถ้าโดนฝนถล่มอย่างนี้ไปจนถึงข้างล่าง รับรองว่ากล้องเจ๊งแน่ เพราะฝนที่ตกลงมาจะไปเพิ่มน้ำให้กับกระเป๋ากล้องจนอุ้มน้ำไม่ไหว ไหลไปถึงตัวกล้องแน่ๆ...

ผมเดินไปพะวงไปตลอด ส่วนน้องฝ้ายนั้นเธอวิ่งดุ๊กๆนำหน้าไปไกลลิบแล้ว

หะแรกผมนึกว่าเธอคงจะวิ่งหนีไปแล้ว แต่ปรากฏว่าคิดผิดถนัด เพราะผมเห็นน้องฝ้ายไปยืนคุ้ยถังขยะที่ทางอุทยานฯตั้งไว้ตามจุดต่างๆในทางเดินขึ้น-ลง ถ้ำ ก่อนจะหยิบถุงพลาสติกใบโตขึ้นมาจากถังขยะ ซึ่งตอนแรกผมนึกว่าเธอจะนำไปคลุมหัวกันฝน แต่ที่ไหนได้น้องฝ้ายเธอวิ่งย้อนกลับมาแล้วส่งถุงพลาสติกให้ เพื่อให้ผมนำไปคลุมกระเป๋ากล้องกันฝน

โอ้...เจอแบบนี้เข้าไป น้องฝ้ายทำเอาผมตื้นตันใจหลาย อีกทั้งยังช่วยให้การเดินลงเขาคลายความกังวลไปเยอะทีเดียว

พอเดินลงมาถึงยังจุดปลอดภัยพื้นราบที่โรงอาหารของอุทยานฯ สิ่งแรกที่ผมทำก็คือหยิบกล้องมาตรวจสภาพว่ายังดีอยู่มั้ยหรือเจ๊งบ๊งไปแล้ว

ครับ ปรากฏว่ากล้องเริ่มถูกน้ำฝนซึมผ่านกระเป๋าเปียกภายนอกบ้างนิดหน่อย ส่วนภายในปลอดภัย เปิดใช้งานได้ตามปกติ ไม่ต้องเสียเงินซื้อกล้องใหม่ ซึ่งนี่ถ้าไม่ได้น้องฝ้ายไปช่วยหาถุงพลาสติกมาคลุมกระเป๋ากล้อง บางทีกล้องผมอาจจะไม่รอดกลับออกไปจากสามร้อยยอดก็เป็นได้
*****************************************

ผู้สนใจเที่ยวถ้ำพระยานคร และแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานฯเขาสามร้อยยอด ต.เขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โทร. 0-3261-9078 ส่วนผู้ที่สนใจท่องเที่ยวสถานที่อื่นๆ ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อาทิ หัวหิน ปราณบุรี สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงาน ททท. ภาคกลาง เขต 2 โทร. 0-3247-1005-6
กำลังโหลดความคิดเห็น