น.ส.ศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director, Financial Advisory Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภาพรวมตลาดลงทุนในครั้งแรกของปี 2567 ตลาดหุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องจากปีก่อน โดยดัชนีหุ้นทั่วโลก (MSCI All Country World Index) ปรับเพิ่มขึ้น 11.5% จากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ฟื้นตัวได้ดี แนวโน้มดอกเบี้ยขาลง และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดที่ทำได้ดีกว่าที่นักวิเคราะห์ประมาณการไว้ แม้ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจะเผชิญความผันผวนปรับตัวลดลง 5% หลังเกิดเหตุตึงเครียดในตะวันออกกลาง ขณะที่ตลาดหุ้นจีนยังคงมีหลายประเด็นที่ต้องตาม เช่น การแก้ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนตลาดตราสารหนี้มีความผันผวนให้ผลตอบแทนติดลบเล็กน้อย รับแรงกดดันจากแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ล่าช้าออกไป
"ภาพรวมครึ่งปีแรกนั้นถือว่ามากสำหรับตลาดหุ้นทั่วโลก โดยสิ่งที่รอกันอยู่คือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเฟดที่ยืดออกไปเรื่อยๆ จากที่คาดการณ์ในปีนี้ลด 4-5 ครั้ง ก็ค่อยๆ ห่างออกไป แต่ถ้าดูจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอลงบ้าง กับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวชัดขึ้น จึงมองว่าน่าจะใกล้ช่วงที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ย โดยเราคาดการณ์ปรับลด 2 ครั้งในปีนี้"
มร.โฮมิน ลี ซีเนียร์ Senior Asia Macro Strategist ,Lombard Odier (Singapore) กล่าวถึงมุมมองเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังว่า คาดการณ์มีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอแบบ Soft Landing และจะไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถถดถอย โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งหนุนโดยภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตชิปที่เป็นที่ต้องการ ด้านตลาดแรงงานเริ่มลดความร้อนแรงลงบ้าง จากตัวเลขตำแหน่งงานว่างและค่าจ้างที่ปรับเพิ่มในอัตราที่ชะลอลง และอัตราการว่างงานที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้น พร้อมคาดการณ์เฟดมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ ครั้งแรกในเดือน ก.ย. ขณะที่ ECB นั้น ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว และคาดว่าจะลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง และจีนยังคงเผชิญความท้าทายทั้งจากประเด็นภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว ยังมีเรื่องของสงครามการค้าที่จะรุนแรงขึ้นหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ซึ่งมีโอกาสมากขึ้นเรื่อยๆ
น.ส.ศิริพร กล่าวอีกว่า ด้านกลยุทธ์การลงทุนนั้น KBank Private Banking แนะนำให้แบ่งเงินลงทุนออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกประมาณ 50-70% ให้ลงทุนเป็นพอร์ตหลัก เลือกกองทุนผสมแบบ Risk based approach ที่กระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ ด้วยกลยุทธ์หลักที่บริหารเชิงรุกและยืดหยุ่นสูง โดยแนะนำกองทุน All Roads Series
ส่วนที่สองประมาณ 30-50% เป็นพอร์ตเสริม แบ่งลงทุนหุ้นกลุ่ม Growth อย่างกองทุนหุ้นสหรัฐฯ ที่มีศักยภาพในการเติบโตที่โดดเด่น แม้ราคาจะปรับขึ้นมามากแล้ว แต่หนุนโดยกำไรสุทธิที่เตืบโตแข็งแกร่ง โดยกองทุน K-USA กองทุนหุ้นยุโรปขนาดกลาง-เล็กที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการลดดอกเบี้ยของ ECB แนะนำกองทุน K EUSMALL และกองทุนเวียดนามที่กำไรบริษัทจดทะเบียนโดดเด่น แนะนำกองทุน PRINCIP[AL-VNEQ ส่วนกลุ่มตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาลถือเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยและช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดี หากเศรษฐกิจชะลอตัว แนะกองทุน K-GDBOND และแนะนำเสริมพอร์ตการลงทุนด้วยหุ้นกู้ในภูมิภาคเอเชีย ผ่านกองทุน K-APB ที่ให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยในระดับสูง และมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจในเอเชียยังแข็งแกร่ง
"แนวทางหลักๆ คือ ในช่วงที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง เราอยากให้กระจายการลงทุนไปในหลายตลาดเพื่อกระจายความเสี่ยง หากเกิดมีเหตุกระทบกับภูมิภาคไหนจะสามารถโยกย้ายได้ทัน ความเสียหายไม่มาก แล้วมีโอกาสได้ผลตอบแทนเพิ่ม ซึ่งตั้งแต่ปีที่ผ่านมาเราเน้นให้ลูกค้าออกไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่า ส่วนหุ้นไทย จีน กอง REIT ยังไม่แนะนำ โดยหุ้นจีนนั้นอย่างที่รู้ว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่รอความชัดเจน ส่วนหุ้นไทย ณ ระดับ P/E ที่ 14 เท่า นับว่าไม่แพง แต่ปัญหาที่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมนั้น เนื่องจากปัญหาเรื่องความมั่นใจ และความน่าสนใจของบริษัทจดทะเบียนยังมีน้อย โดยส่วนใหญ่เราจะแนะนำตลาดต่างประเทศมากกว่าไม่ว่าจะเป็นตลาดสหรัฐฯ ยูโร อินเดีย เวียดนาม จีน (Luxury) ที่มีความน่าสนใจมากกว่า ซึ่งกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มเติมขึ้นก็จะเป็นพวก AI ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต"