xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยลดเป้าจีดีพีโตเหลือ 2.6% จับตาสงครามการค้าแรงขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 เติบโต 2.6% จากเดิมที่ 2.8% รวมถึงปรับลดการส่งออกเติบโตมาที่ 1.5% จากเดิมที่ 2.0% การบริโภคภาคเอกชนเติบโตปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 2.9% จากเดิม 2.6% การบริโภคภาครัฐเติบโต 1.3% จากเดิมที่ 2.0% และคาดการณ์คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม 2.50% ตลอดปีนี้ ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในทางอ่อนค่า ณ สิ้นสุดไตรมาส 3 เคลื่อนไหวในกรอบ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ มองช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากการเบิกจ่ายงบ และการส่งออก จับตาความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่รุนแรง

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
มองเพิ่มเติมถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ว่า มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกมากขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นข้างต้น การระบายสินค้าจากกำลังการผลิตส่วนเกินจากจีนมายังตลาดโลกรวมถึงไทย ในขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงมีผลให้ส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ โดยสรุปภาพรวมทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 2.6% โดยในครึ่งปีแรกเติบโต 1.6% มีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว และครึ่งปีหลังเติบโต 3.6% รับปัจจัยขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยว และการลงทุน การใช้จ่ายของภาครัฐที่เข้ามาเสริมหลังการเบิกจ่ายงบประมาณ

"ในครึ่งปีหลังแม้ว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีจะสูงกว่าปีแรกแต่ยังต่ำกว่ามี่เราประมาณการไว้ ซึ่งมาจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสงครามการค้า และปัจจัยในประเทศเราเอง ขณะที่ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนในทางอ่อนค่าด้วยปัจจัยกดดันจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าจากสัญญาณเฟดไม่รีบปรับดอกเบี้ย รวมถึงจาดปัจจัยภายในเองที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และแรงขายหุ้นและพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นแม้ว่าเราจะมองว่าคงอัตราดอกเบี้ยตลอดปี แต่ยังต้องติดตามใกล้ชิดโดยเฉพาะผลของสงครามการค้า หากส่งผลกระทบที่รุนแรงมีรูมที่จะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจได้"

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะให้ภาพแรงส่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าคาด จนตลาดปรับการคาดการณ์ว่าเฟดจะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ หรือ Higher for Longer นั้น แต่มีประเด็นที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง ได้แก่ นโยบายภาษีของสหรัฐฯ และยุโรปที่กีดกันอุตสาหกรรม Cleantech ของจีน ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์ ซึ่งมองว่าจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในภูมิภาคยุโรป อาเซียน และอเมริกาใต้ ขณะที่หากโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง กลยุทธ์ของจีนในการกระจายความเสี่ยงทางการค้า อย่างเช่น China+1 ที่ขยายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีทางการค้า มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น ไทยต้องจับกระแสประเด็นการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อภาคอุตสาหกรรมไทยปรับทิศทางได้ทัน

"ในสถานการณ์ดังกล่าวเป็นโอกาสของประเทศไทยและภูมิภาคเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับ Clean Tech และ EV ที่ไทยมีโอกาสที่ดีจากทรัพยากรต่างๆ ที่มีมาก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงมาตรการ China +1 ที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย แต่เราต้องมีการปรับตัวในด้านต่างๆ เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนด้วย นอกจากนี้ ประเทศในกลุ่มอาเซียนควรมีการรวมตัวกันมากขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งการต่อรองที่มากขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าที่เพิ่มขึ้น"

**แนะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมขนานใหญ่**
ด้านแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมไทยนั้น น ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้น้ำหนักกับ 3 ปัจจัยที่จะกระทบภาคอุตสาหกรรมในช่วงข้างหน้า ได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนของการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่จะกระทบอุตสาหกรรมก่อสร้าง 2.สินค้านำเข้าที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้น จากผลของสงครามการค้า ซึ่งจะกระทบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และเหล็ก 3.ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งราคาน้ำมันดีเซลที่ภาครัฐทยอยลดการอุดหนุน และค่าแรงที่มีทิศทางสูงขึ้น จะกระทบต่อเอสเอ็มอีโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ภาครัฐควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ กวดขันสินค้านำเข้าและสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) รวมถึงเติมสภาพคล่องให้ SMEs และเน้นวางแผนการจัดการน้ำ ขณะเดียวกัน ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในทุกมิติ ทำให้รายได้เติบโตเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น