หลักทรัพย์บัวหลวง เผย 5 เดือนแรกปี 67 ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยกว่า 8.9 หมื่นล้านบาท เพราะการผ่านงบประมาณรัฐปี 67 ล่าช้ากว่าปกติ และการส่งออกโตน้อยกว่าคาด แม้กำไร บจ.ไตรมาสแรกปี 67 จะโต 1.7% ชี้หุ้นไทยครึ่งหลังปี 67 ยังไม่สดใสเหตุนักลงทุนขาดความมั่นใจ หลังเศรษฐกิจไทยอาจตกหลุม โดยไตรมาสแรกปีนี้โตเพียง 1.5% ต่ำคาด มองเป้าหมายดัชนีสิ้นปี 67 ระดับ1,539 จุด แนะจัดพอร์ตลงทุนไปในสินทรัพย์หลากหลายประเภท พร้อมเพิ่มสัดส่วนลงทุนในหุ้นต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง ท่ามกลางความผันผวน
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกปี 67ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยกว่า 8.9 หมื่นล้านบาท ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 5.47% จากต้นปี ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลง 6.2% ท่ามกลางนักลงทุนรอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากรัฐ
ขณะที่กำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 1 ปี 67 อยู่ที่ระดับ 2.6 แสนล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน(ทีมวิจัยหลักทรัพย์ฯ coverage กำไร บจ. โต 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) หนุนโดยกำไรที่โดดเด่นของกลุ่มอาหาร ท่องเที่ยว โรงพยาบาล ขนส่ง พัสดุหีบห่อ และมีเดีย
สำหรับกลุ่มพัฒนาอสังหาฯ ก่อสร้าง และชิ้นส่วนยานยนต์มีกำไรลดลง สรุป คือ ตัวเลขกำไร บจ. ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาไม่ได้ออกมาเซอร์ไพรส์ตลาดมากพอที่จะเห็นอัปเกรดกำไร บจ. ขึ้น เมื่อเทียบกับกำไร บจ. ของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เติบโตได้สูงกว่าไทย ทำให้เม็ดเงินนักลงทุนต่างประเทศที่จะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยอาจต้องรอต่อไป
สำหรับมุมมองตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งหลังปี 67 ทีมวิจัยหลักทรัพย์บัวหลวง คาดการณ์ว่าอาจไม่สดใสมากนัก หลังนักลงทุนขาดความมั่นใจในการลงทุนจากหลากหลายปัจจัยความเสี่ยง เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 67 ที่ยังคงดูฟื้นตัวได้ช้า ประกอบกับการผลักดันมาตรการใหม่จากรัฐยังคงเลื่อนออกไปและมีโอกาสจะตกหลุมอากาศ ยิ่งในช่วงไตรมาส 3 ที่เป็นโลว์ซีซันหน้าฝนจะเป็นช่วงที่กำไร บจ. เข้าสู่รอบจุดต่ำสุด
แม้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 67 ตัวเลข GDP จะเติบโต 1.5% จากภาคการท่องเที่ยวและส่งออกที่เริ่มดีขึ้นก็ตาม แต่การเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ของภาครัฐ เพื่อการลงทุนเบิกจ่ายเพียง 12% ของงบประมาณทั้งหมดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่มีสถิติการเบิกจ่ายเฉลี่ยประมาณ 30-40%
ขณะเดียวกัน ภาคการส่งออกเริ่มส่งสัญญาณไม่ค่อยดีนัก การบริโภคภายในประเทศเริ่มอ่อนแอลงสังเกตจากยอดขายสินค้าคงทนจำพวกรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ อสังหาฯ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลงติดต่อกันหลายเดือน ฉะนั้นความเสี่ยงการปรับลดเป้าหมายตัวเลข GDP ปี 67 ยังคงอยู่รวมถึงมาตรการคุมเข้ม Short sell เพิ่มเติมของตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจยังไม่ได้ประกาศใช้ในเร็วๆ นี้ ในส่วนมุมมองสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่เส้นทาง Cool Down อีกครั้งจากนโยบายการเงินที่ตึงตัว
ส่วนราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงแม้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC) จะขยายเวลาลดอัตราการผลิตน้ำมันออกไปได้ สะท้อนภาพการบริโภคน้ำมันรวมของโลกที่ยังไม่สดใสอาจส่งผลกระทบต่อกำไรรวมของตลาดหุ้นไทยเพราะตลาดหุ้นไทยมีหุ้นกลุ่มเกี่ยวข้องกับน้ำมัน ปิโตรเคมี พลังงานสัดส่วนสูงถึง 25% รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลงในด้านการบริโภคในประเทศผ่านการใช้บัตรเครดิตและยอดการผิดนัดชำระหนี้บัตร ส่วนเรื่องอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ มองว่าได้ผ่านจุดพีกมาแล้ว และยังคงอยู่ในทิศทางขาลงคาดว่าจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือน ก.ย.นี้และตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเข้าสู่การปรับฐานรอบใหม่ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย.
สำหรับกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีแนวคิดจะผลักดันกองทุน LTF กลับมาอีกครั้ง ยังไม่ได้คาดหวังว่าวงเงินเพื่อการหักภาษีจะสูงมากนัก เนื่องจากภาครัฐจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินอัดเข้าไปกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นหลัก ฉะนั้นโครงการผลักดันกองทุน LTF จะสามารถเห็นผลได้เร็วสุดในช่วงปลายปี แต่ผลกระทบด้านตัวเลขเม็ดเงิน เข้าตลาดหุ้นไทยประเมินว่าคงไม่ได้มากเท่าเดิม คาดว่าจะอยู่ราว 1-1.5 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับในอดีตที่อยู่ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาททุกปี เทียบกับเม็ดเงิน LTF เดิมที่คงค้างในระบบและรอไถ่ถอนได้ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท
“เรายังคงเป้าหมายดัชนี SET สิ้นปี 67 ระดับ 1,539 จุด ปัจจุบันยังมีอัปไซด์ประมาณ 15% โดยได้ปรับลดคาดการณ์ดัชนีลงจากเดือน ธ.ค.66 ที่มองไว้ระดับ 1,620 จุด อ้างอิงจากคาดการณ์กำไร บจ. ปี 67 โต 15% จากปีก่อน ส่วนค่า P/E ตลาดหุ้นไทยปัจจุบันอยู่ระดับ 14.3 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่อยู่ 15.3 เท่า แต่เมื่อเทียบกับตลาดเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ที่มีค่า P/E ระดับ 15 เท่า แต่กำไร บจ. โต 25% มากกว่าไทย 2 เท่า ส่วนจีนและฮ่องกงกำไรคาดการณ์โตใกล้เคียงกับไทย แต่ค่า P/E ตลาดหุ้นฮ่องกงยังต่ำกว่า 10 เท่า และค่า P/E ตลาดหุ้นจีนอยู่ที่ 11.3 เท่า ทำให้หุ้นไทยอาจไม่ได้ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้มากนักและอาจมีโอกาสที่ดัชนีหุ้นไทยยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการดาวน์เกรดค่า P/E ลงมา หลังกำไรไม่ได้โดดเด่นอย่างที่คาดจนกว่าตัวเลขกำไรจะเติบโตอย่างสมเหตุสมผล และมีตัวเร่งจะขับเคลื่อนตลาดขึ้นใหม่” นายชัยพร กล่าว
นายชัยพร กล่าวทิ้งท้ายว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่สดใสนัก แนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีที่อาจมีเซอร์ไพรส์ด้านบวกจากปีก่อนที่ตัวเลขขาดทุนหลังเริ่มเห็นการฟื้นตัวของกำไรและส่วนต่างกำไรในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ หนุนด้วยออเดอร์ที่อาจเริ่มเข้ามาในช่วงไตรมาส 3 กลุ่มไฟแนนซ์ที่มีความเข้มงวดและระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หลังตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนยังคงสูง และยังต้องรอมาตรการกระตุ้นการจับจ่าย ส่วนกลุ่มอาหาร การบริโภค และการท่องเที่ยวน่าจะยังคงดีต่อเนื่อง และกลุ่มที่แนะนำหลีกเลี่ยง คือ กลุ่มที่เกี่ยวกับพัฒนาอสังหาฯ เพื่ออาศัยและวัสดุก่อสร้าง
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้แนะจัดพอร์ตแบบเน้นกระจายน้ำหนักการลงทุนไปในสินทรัพย์หลากหลายประเภทเพื่อลดความเสี่ยงการลงทุน โดยผู้ที่รับความเสี่ยงได้ให้แบ่งน้ำหนักการลงทุนไปในหุ้นต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ อินเดีย และเวียดนาม ที่มีแนวโน้มกำไรเติบโตดี แต่หากมองในแง่ Valuation ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงยังน่าสนใจหลังรัฐบาลอัดฉีดเงินผ่านมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และกำไรเริ่มฟื้นตัว
โดยนักลงทุนสามารถลงทุนต่างประเทศได้ง่ายๆ ผ่าน DR01 ส่วนผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ไม่มากให้พักเงินในหุ้นกู้เอกชนเรตติ้งดี แต่หากต้องการเพิ่มอัตราผลตอบแทนของพอร์ตแนะให้ผสมตราสารหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงเข้ามาด้วยก็ได้ โดยควรปรึกษากับผู้แนะนำการลงทุนก่อนลงทุน
“ผู้ที่ไม่มีเวลาและต้องการออมระยะยาวแนะกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างๆ ผ่านการจัดพอร์ตกองทุนรวมแบบอัตโนมัติ หรือ BLS Top Funds Portfolio AutoAsset Allocation เครื่องมือช่วยสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหา Pain Point การลงทุนแบบดั้งเดิมโดยสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้ผู้ลงทุนได้สูงสุดถึง 7.33% (ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี 67-31 พ.ค.67)” นายชัยพร กล่าว