xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“โลกร้อน” มฤตยูเงียบ เครื่องบินเสี่ยง “ตกหลุมอากาศ” มากขึ้น ผู้โดยสารโปรดรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  เที่ยวบินมรณะ SQ321 ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ จากลอนดอนมุ่งหน้าสู่สิงคโปร์ ตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงเหนือมหาสมุทรอินเดีย ในช่วงบ่ายคล้อยของวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ได้พรากเอาความฝันสุดท้ายในบั้นปลายชีวิตของ “เจฟฟรีย์ คิทเชน” คุณปู่ชาวอังกฤษ วัย 73 ปี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกลุ่มละครเวทีมิวสิกคัลธอร์นบิวรีย์ TMTG (Thornbury Musical Theatre Group) ชื่อดัง เสียชีวิต 

เหตุการณ์ที่เครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ ได้ขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ยังทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสเข้าไอซียู 20 ราย จากผู้บาดเจ็บที่ถูกลำเลียงส่งโรงพยาบาลและคลินิก รวม 104 ราย จากจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 211 คน และลูกเรือบนเครื่อง 18 คน

“จู่ๆ เครื่องบินเอียงอะครับ และก็เขย่าๆๆ ผมรีบรัดเข็มขัดนิรภัยเตรียมเจอกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นทันทีเลย และมันปุบปับมาก เครื่องร่วงลงเร็วสุดๆ อย่างกับในหนังน่ะครับ ใครซึ่งนั่งอยู่ แต่ไม่ได้รัดเข็มขัดนิรภัย จะโดนเพดานฟาดลงมากระแทกศีรษะจังๆ” ดาฟราน อัซมีร์ หนุ่มนักศึกษาวัย 28 ปี ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุและปลอดภัยดี บอกเล่าเหตุการณ์ระทึกขวัญ

“พวกแอร์โฮสเตสและสจ๊วตของสิงคโปร์แอร์ไลน์ทำงานกันทรหดเหลือเกิน อะไรที่เป็นปัญหา ก็จะรีบเข้าไปดำเนินการ ผมเห็นพวกเขาทุกคนล้วนแต่ได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ยังปฏิบัติหน้าที่สุดความสามารถ” แอนดริว เดวิส หนึ่งในผู้โดยสารถ่ายทอดเรื่องราว และบอกด้วยว่า ทุกสิ่งปุบปับฉุกละหุกไปหมด “แทบจะไม่มีการเตือนอะไรเกี่ยวกับหลุมอากาศ ก่อนที่เครื่องจะ “ตกวูบ ลงไปเฉยเลย”

นี่เป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้โดยสารเครื่องบินที่จะต้อง  “รัดเข็มขัด”  ตลอดเวลาที่อยู่บนเครื่อง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจริงๆ อย่างเช่น ต้องเข้าห้องน้ำ หากต้องการรักษาชีวิตให้รอดปลอดภัยขั้นสูงสุด ไม่ใช่แค่รัดเข็มขัดเฉพาะช่วงเทกออฟและแลนดิ้ง ตามกฎหมายบังคับให้สายการบินต่างๆ เปิดไฟสัญญาณเตือนการคาดเข็มขัดนิรภัยเท่านั้น

นั่นเพราะว่า สภาวะ  “โลกร้อน” – “โลกเดือด” ทำให้เครื่องบินมีโอกาสตกหลุมอากาศถี่ขึ้น แม้ท้องฟ้าปลอดโปร่งก็ตาม โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน เชื่อว่า เที่ยวบินนี้อาจเจอกับสิ่งมองไม่เห็น ที่เรียกว่า  Clear Air Turbulence (CAT) หรือ “ความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส”  ซึ่งเป็นรูปแบบของหลุมอากาศที่อันตรายที่สุด

นักบินที่คุ้นชินกับสภาพเมฆหมอกบนท้องฟ้า จะประเมินได้ว่าจะหลีกเลี่ยงหรือบินผ่านม่านเมฆ ซึ่งใช้เป็นสัญญาณเตือนให้ทราบถึงความปั่นป่วนได้ว่ารุนแรงมากน้อยเพียงใด แต่  “ความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส”  ไม่มีสิ่งเตือนใดๆ ที่มองเห็นได้

ที่ผ่านมามีเครื่องบินจำนวนมากที่บินอยู่ในบริเวณที่ไม่มีก้อนเมฆปรากฏอยู่เลย แต่เครื่องบินได้รับการกระแทกเหมือนกับเรือที่แล่นอยู่ในทะเลที่เต็มไปด้วยระลอกคลื่น ซึ่งนั่นคือ ความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส ที่เวลานี้แทบไม่สามารถตรวจจับได้ด้วยเทคโนโลยีใดๆ ดังนั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้โดยสารบนเครื่องบินต้องคาดเข็มขัดนิรภัยอยู่ตลอดเวลา

ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ อ้างถึง ซารา เนลสัน ประธานระหว่างประเทศของสมาคมพนักงานต้อนรับบนเที่ยวบิน CWA ซึ่งเป็นตัวแทนพนักงานต้อนรับบนเที่ยวบินกว่า 50,000 ราย ของสายการบิน 20 แห่ง ระบุว่า กรณีตัวอย่างของ CAT กำลังเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น และไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ผู้โดยสารจึงจำเป็นต้องคาดเข็มขัดนิรภัยระหว่างเที่ยวบิน “มันเป็นเรื่องสำคัญที่กั้นระหว่างการมีชีวิตกับความตายเลยทีเดียว”

จากผลการศึกษาของคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติสหรัฐฯ ในปี 2021 ชี้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินที่เกี่ยวข้องกับหลุมอากาศ เป็นรูปแบบอุบัติเหตุที่พบเห็นมากที่สุด


นอกจากนักบินจะเจอ  “หลุมอากาศแบบแจ่มใส”  แบบไม่ทันตั้งตัวแล้ว สำนักงานด้านความปลอดภัยด้านการบินสิงคโปร์ เคยออกรายงานเมื่อปี 2022 ชี้ว่า ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือสภาวะโลกร้อน ยังทำให้เกิดพายุรุนแรงบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงใหม่ที่เหล่านักบินต้องเตรียมพร้อมรับมือ และอาจจำเป็นที่จะต้องขยับมาตรการความปลอดภัยทางการบินให้แน่นหนายิ่งขึ้น หลังจากเกิดเหตุการณ์เครื่องบิน Boeing 777-300ER สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ บินวนพยายามลงจอดหลายครั้งกว่าจะสำเร็จจนเฉียดฉิวน้ำมันจะหมด เพราะพายุรุนแรง ในเดือนตุลาคม ปี 2022

 สนธิ คชวัฒน์  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อาจารย์พิเศษหลายมหาวิทยาลัย อธิบายว่า เครื่องบินอาจตกหลุมอากาศบ่อยขึ้น แม้บินอยู่ในท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง...สัมพันธ์กับการที่โลกเข้าสู่ภาวะ  “โลกเดือด” 

กล่าวคือ ภาวะโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิบนผิวโลกสูงขึ้น 1.2 ถึง 1.4 องศาเซลเซียส จากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ยิ่งระดับความสูงจากผิวโลกขึ้นไปเกือบ 20 กิโลเมตร อุณหภูมิบรรยากาศยิ่งร้อนขึ้น จึงไปทำให้ลมระดับบนที่ระยะความสูงระหว่าง 7.0 ถึง 16 กิโลเมตร จากผิวโลกที่เรียกว่าลมกรด หรือ Jet stream ซึ่งมีความเร็วเฉลี่ย 200 ถึง 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเคลื่อนที่จากซีกโลกตะวันตกไปยังตะวันออก มีความเร็วลดลงในบางช่วงบางขณะ ซึ่งจะทำให้ความหนาแน่นของมวลอากาศบริเวณนั้นลดลงด้วย ทำให้เกิดความแปรปรวนของอากาศ ทั้งที่อากาศช่วงนั้นปลอดโปร่งไม่มีพายุหรือเมฆฝนใดๆ เรียกว่า Clear Air Turbulance หรือ CAT หากมีเครื่องบินบินผ่านแรงยกจากปีกของเครื่องบินจะลดลงอย่างกะทันหัน และเครื่องจะตกลงไปในมวลอากาศที่บางลง ซึ่งเรียกว่าการตกหลุมอากาศ (pole pocket)

เมื่อโลกร้อนขึ้น อุณหภูมิในบรรยากาศโลกสูงขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะเครื่องบินตกหลุมอากาศมากขึ้น ทั้งๆ ที่เครื่องบินบินอยู่ในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งได้ ซึ่งเรื่องนี้เกิดบ่อยขึ้น นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาค้นพบว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 ถึงปี ค.ศ. 2020 มีเครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านั้นถึงร้อยละ 55 และมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนพื้นโลกสู่บรรยากาศ ทำให้โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ

 “หากไม่ดำเนินการใดๆ ในปี ค.ศ. 2050 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเรียกว่า “สภาวะโลกเดือด” อาจจะทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงมากขึ้นถึง 40% แม้ขณะที่บินผ่านในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งก็ตาม” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมฯ กล่าวเตือน  


สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อธิบายการเกิดขึ้นของ หลุมอากาศ (Air Turbulence) คือการเคลื่อนที่ของอากาศที่ผิดปกติ โดยจะก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนให้กับเครื่องบิน มีหลายระดับตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงระดับรุนแรงมาก ได้แก่

หลุมอากาศแบบเบา (Light Turbulence) เครื่องบินสั่นเล็กน้อย อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว, หลุมอากาศแบบปานกลาง (Moderate Turbulence) เครื่องบินสั่นมากขึ้น ผู้โดยสารอาจถูกยกจากที่นั่ง, หลุมอากาศแบบรุนแรง (Severe Turbulence): เครื่องบินสั่นอย่างรุนแรง ผู้โดยสารอาจได้รับบาดเจ็บ และ หลุมอากาศแบบสุดขีด (Extreme Turbulence): เครื่องบินอาจสูญเสียการควบคุม

การเกิดหลุมอากาศเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ โดยปัจจัยทางธรรมชาติ คือ พายุฝนฟ้าคะนอง - กระแสลมแรง เมื่อเครื่องบินบินเข้าไปใกล้กับรอยต่อระหว่างขอบนอกของกระแสลมกรดกับบริเวณสภาพอากาศปกติ ซึ่งสาเหตุข้อนี้ไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ หรือในบางครั้งเกิดขึ้นเมื่อมีลมพัดปะทะภูเขา ทำให้อากาศอีกด้านปั่นป่วน เกิดเป็นหลุมอากาศ สาเหตุข้อนี้สามารถคาดการณ์ได้ โดยส่วนใหญ่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักบินจะเตือนผู้โดยสารให้ทราบ

รายงานจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซา เคยออกมาเตือนว่า จากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้กระแสลมกรดมีความเร็วเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นอัตราการเกิดหลุมอากาศจะมากขึ้นและรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยคาดว่า อัตราการเกิดหลุมอากาศจะเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าภายในปี 2050 และเครื่องบินอาจต้องเผชิญกับหลุมอากาศที่รุนแรงขึ้นถึง 40% ในช่วงอนาคตอันใกล้


กำลังโหลดความคิดเห็น