xs
xsm
sm
md
lg

เข้าใจง่าย! เพจนักบินสรุปจากรายงานเหตุการณ์เครื่องบินสิงคโปร์ตกหลุมอากาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจนักบินโพสต์ข้อความสรุปเหตุการณ์เครื่องบินนของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ โบอิ้ง 777-300ER ตกหลุมอากาศ อย่างเข้าใจง่าย เผยเหตุการณ์สำคัญคือ เครื่องสูญเสียความสูงถึง 54 เมตรในเวลาน้อยกว่า 6 วินาที อีกทั้งยังมีประเด็นการเปิดสัญญาณรัดเข็มขัด แต่แอร์ฯ ยังเดินเสิร์ฟอาหาร

จากกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับเครื่องบินของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ โบอิ้ง 777-300ER หลังตกหลุมอากาศ ลึก 7,000 ฟุต หรือกว่า 2 กิโลเมตร ขณะกำลังเดินทางจากกรุงลอนดอนมุ่งหน้าสิงคโปร์ ส่งผลให้มีผู้โดยสารชาวอังกฤษวัย 73 ปี เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีกหลายสิบคน ขณะที่กัปตันตัดสินใจขอนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรุงเทพมหานคร ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น

ล่าสุดวันนี้ (30 พ.ค.) เพจ "Takeoff your Life กัปตันหมี" ได้ออกมาโพสต์ข้อความสรุปจากรายงานเหตุการณ์เครื่องบินสิงคโปร์ตกหลุมอากาศ โดยได้สรุปเป็น 5 ข้อหลักๆ โดยมีใจความว่า

"สิงคโปร์แอร์ไลน์เที่ยวบิน 321 สูญเสียความสูงถึง 54 เมตรในเวลาน้อยกว่า 6 วินาที! (อ่านรายละเอียดจากรายงานอย่างเป็นทางการด้านล่างครับ)

หน่วยงานสืบสวนด้านความปลอดภัยการขนส่งของสิงคโปร์ได้เปิดเผยผลการสืบสวนเบื้องต้นเกี่ยวกับเหตุการณ์การเจอสภาพอากาศรุนแรงและอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นกับเที่ยวบิน SQ321 ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ หลังจากได้ดึงและวิเคราะห์ข้อมูลจากเครื่องบันทึกข้อมูลการบินและเครื่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน

1. เที่ยวบินออกจากลอนดอนเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม และประสบเหตุการณ์อากาศสั่นสะเทือนรุนแรงในวันที่ 21 พฤษภาคมขณะบินผ่านทางตอนใต้ของพม่าที่ระดับความสูง 37,000 ฟุต

2. มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 100 คนจากการเปลี่ยนแปลงของแรงโน้มถ่วง (gravitational force) อย่างกะทันหันเนื่องจากแรงยกตัวของกระแสอากาศ
พัดพาเครื่องบินขึ้นและการควบคุมระดับความสูงของนักบิน

3. มีผู้โดยสารเสียชีวิต 1 รายจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน สิงคโปร์แอร์ไลน์ยืนยันเมื่อวานนี้ว่ามีผู้โดยสารจำนวน 28 คนที่ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ

ทีมสืบสวนประกอบด้วยทีมสืบสวนจากสิงคโปร์ ร่วมกับตัวแทนจาก NTSB, FAA และโบอิ้ง ตามรายงานเบื้องต้น เที่ยวบินเดินทางมาอย่างปกติจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์อากาศเลวร้าย

4. การเปลี่ยนแปลงของ gravitational force อย่างรวดเร็วเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บ

Timeline

ในเวลา 14:49:21 น. ตามเวลาประเทศไทย วันที่ 21 พฤษภาคม ขณะบินผ่านทางใต้ของพม่า เครื่องบินประสบการสั่นสะเทือนจากการเปลี่ยนแปลงของแรงโน้มถ่วง ในช่วงระหว่าง +0.44G ถึง +1.57G เป็นเวลา 19 วินาที

พร้อมกับการสั่นสะเทือน เครื่องบันทึกข้อมูลการบินบันทึกการเพิ่มระดับความสูงที่ไม่ได้ตั้งใจ ไปที่ 37,362 ฟุต

ทีมสืบสวนระบุว่าเป็นผลมาจาก "การเปลี่ยนแปลงและยกตัวของสภาพอากาศบริเวณนั้น" ระบบควบคุมการบินอัตโนมัติลดระดับเครื่องบินลงเพื่อให้อยู่ที่ระดับความสูง 37,000 ฟุตตามที่กำหนดไว้ พร้อมกันนั้นนักบินดึง speed breaks เพื่อลดการเพิ่มขึ้นแบบฉับพลันของความเร็วของเครื่องบิน

รายงานระบุว่า ในช่วงเวลานี้เครื่องบันทึกเสียงในห้องนักบินมีข้อมูลว่านักบินเปิดสัญญาณรัดสายเข็มขัดนิรภัย

อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารบนเครื่องบางรายได้ให้ข้อมูลว่าไม่ได้มีสัญญาณไฟรัดสายเข็มขัดนิรภัย และพนักงานต้อนรับบนเครื่องยังคงให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ข้อขัดแย้งนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของทีมสอบสวนจะนำไปวิเคราะห์ต่อไป

ทีมสืบสวนสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงระดับความสูงและความเร็วโดยที่ไม่ได้ตั้งใจนั้น น่าจะเป็นผลมาจากกระแสลมรุนแรงที่ยกตัวขึ้น, พัดขึ้น

โดยระบบควบคุมการบินอัตโนมัติยังคงทำงานอยู่ ในเวลา 14:49:40 น. เครื่องบินประสบการเปลี่ยนแปลงของแรงโน้มถ่วงอย่างรวดเร็ว จากระดับ +1.35G ลดลงเป็น -1.5G ภายในเวลาเพียง 0.6 วินาที !!

ทีมสืบสวนรายงานว่าการเปลี่ยนแปลงแรงโน้มถ่วงอย่างกะทันหันนี้น่าจะทำให้ผู้โดยสารที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยลอยขึ้นจากที่นั่งทันที!!

หลังจากนั้นแรงโน้มถ่วงเปลี่ยนจาก -1.5G เป็น +1.5G “ภายใน 4 วินาที”
ซึ่งทำให้ผู้โดยสารตกลงมาทันทีและรุนแรง

การตกครั้งนี้น่าจะเป็นสาเหตุหลักของการบาดเจ็บสาหัสของลูกเรือและผู้โดยสาร

ระดับความสูงของเครื่องบินลดลง 178 ฟุต หรือ 54 เมตร! (จาก 37,362 ฟุตเป็น 37,184 ฟุต )

นักบินตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้คาดคิดอย่างรวดเร็วนี้ ด้วยการปิดระบบควบคุมการบิน อัตโนมัติ (Autopilot) และควบคุมเครื่องบินด้วยตัวเองเป็นเวลา 21 วินาที ก่อนจะเปิดระบบควบคุมการบินอัตโนมัติกลับมาในเวลา 14:50:05 น.

ในช่วง 24 วินาทีถัดมา เครื่องบินประสบการเปลี่ยนแปลงของแรงโน้มถ่วงอีกเล็กน้อย อยู่ในช่วง +0.9G ถึง +1.1G และกลับสู่ระดับ 37,000 ฟุต ในเวลา 14:50:23 น.

5.หลังจากได้รับแจ้งเรื่องผู้โดยสารบาดเจ็บ นักบินตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางไปลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นักบินประกาศภาวะฉุกเฉินและขอให้มีการเตรียมความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน

ประมาณ 17 นาทีหลังเหตุการณ์อากาศสั่นสะเทือน ในเวลา 15:06:51 น. นักบินเริ่มลดระดับเพื่อลงจอดเครื่องบิน ไม่ประสบอากาศสั่นสะเทือนรุนแรงอีกในช่วงการเปลี่ยนเส้นทางบินและลงจอดอย่างปลอดภัยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

เท่าที่อ่านรายงานอุบัติเหตุครั้งนี้อย่างเป็นทางการยืนยันได้ว่า

“ไม่มีการสูญเสียความสูงหลายพันฟุต” อย่างที่บางสำนักข่าวเข้าใจครับ

กัปตันหมี"
กำลังโหลดความคิดเห็น