นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (10 พ.ค.) ที่ระดับ 36.71 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมากจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.93 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.90 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมาค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.70-36.94 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ของสหรัฐฯ ล่าสุด ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดการณ์ว่าเฟดมีโอกาสราว 81% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด)
นอกจากนี้ ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังไม่ได้สะท้อนว่า BOE จะมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนได้อย่างแน่นอน ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ทยอยรีบาวนด์แข็งค่าขึ้นบ้าง และมีส่วนช่วยกดดันค่าเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกัน การปรับตัวลดงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีส่วนหนุนให้ราคาทองคำรีบาวนด์ขึ้นต่อเนื่องเกิน +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากโซนแนวรับระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจชะลอลงบ้าง หลังเงินบาทได้แข็งค่าใกล้โซนแนวรับระยะสั้น นอกจากนี้ ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่บ้าง หลังบรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยขายหุ้นไทยต่อเนื่อง และเริ่มกลับมาขายบอนด์ไทยบ้าง ขณะเดียวกัน โฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุนต่างชาติอาจยังมีอยู่ ทำให้เงินบาทจะยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปได้มากนัก จนกว่าตลาดจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ พลิกกลับมาชะลอลง จนผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง และเริ่มคาดหวังการลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง เป็นต้น โดยเราประเมินโซนแนวรับเงินบาทในระยะสั้นแถว 36.60-36.70 บาทต่อดอลลาร์ (หากผ่านไปได้จะมีโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับสำคัญที่อาจยังผ่านได้ยากอยู่ในช่วงนี้)
ทั้งนี้ โซนแนวต้านของเงินบาทอาจขยับลงมาบ้างหลังการแข็งค่าในช่วงคืนที่ผ่านมา โดยเงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ รวมถึงทิศทางเงินดอลลาร์ที่อาจแกว่งตัว sideways ไปก่อน จนกว่าจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยเรามองว่า โซน 36.90-37.00 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นแนวต้านระยะสั้นในช่วงนี้ได้
อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในช่วงผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ Michelle Bowman เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาคุณ Bowman มักจะมีการสื่อสารในโทร Hawkish ที่มากกว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ ทำให้ต้องจับตาการปรับเปลี่ยนโทนการสื่อสาร ซึ่งอาจมีผลต่อทิศทางเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ได้บ้าง
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของอังกฤษ โดยเฉพาะอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2024 ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของทาง BOE ได้
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจต่อรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้น และระยะกลาง ที่อาจกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้ พร้อมกันนั้นผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ Michelle Bowman ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ FOMC ที่ยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด (มีโทนการสื่อสารแบบ Hawkish มากที่สุดในบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด)
และในฝั่งไทย ควรรอติดตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเช่นกัน ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังว่าเฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ จากรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด ทั้งนี้ บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่กลับไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า อีกทั้ง ราคาหุ้นเทคฯ ใหญ่ต่างได้ปรับตัวขึ้นพอสมควร หลังรับรู้ผลประกอบการในไตรมาสล่าสุด ทำให้โดยรวม S&P500 ปิดตลาด +0.51%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.19% ยังคงหนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด โดยข้อมูลล่าสุดจาก LSEG ระบุว่า กว่า 61% ของบริษัทจดทะเบียนได้รายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกสูงกว่าคาด ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ราว 54% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปถูกกดดันจากการปรับตัวลงแรงของหุ้นกลุ่มธนาคาร เช่น HSBC -4.2% (หุ้นขึ้นเครื่องหมาย XD)
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 4.46% หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนภาพการชะลอตัวลงมากขึ้นของตลาดแรงงาน อนึ่ง เราคงมองว่า บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังอยู่ในกรอบ sideways แถวระดับ 4.50% ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า และหากบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4.50% ได้อีกครั้ง เรายังคงแนะนำให้นักลงทุนเน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip เนื่องจากบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นมี Risk-Reward ที่คุ้มค่าเมื่อประเมินจากคาดการณ์ผลตอบแทนรวมในอีก 1 ปี ข้างหน้า และความเสี่ยงในกรณีที่บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจกลับไปแตะระดับ 5.00% ได้อีกครั้ง
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด ได้ย้ำภาพการชะลอตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่แน่ใจในจังหวะการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ทำให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) สามารถรีบาวนด์ขึ้นได้บ้าง หลังจากอ่อนค่าลงในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุม ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 105.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.2-105.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) รีบาวนด์ขึ้นต่อเนื่อง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 2,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา