นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (10 เม.ย.) ที่ระดับ 36.32 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.36 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.20-36.70 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.28-36.43 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากที่ในช่วงวันก่อนหน้าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตามการอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ ที่คาดว่าจะเป็นการลดสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาดก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนวันพุธนี้
ขณะเดียวกัน เงินบาทยังได้แรงหนุนการแข็งค่าจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ เรายังเห็นการทยอยลดสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ของผู้เล่นในตลาด ก่อนที่จะรับรู้ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน และอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และการแข็งค่าของเงินบาทจนหลุดโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ อาจทำให้เกิด Stop loss ของสถานะ Short THB บางส่วน ซึ่งมีส่วนยิ่งช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง “เร็วและแรง” ของเงินบาทในวันก่อนหน้าจนหลุดโซนแนวรับที่เราประเมินไว้แถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์นั้นอาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะเริ่มเข้าสู่โหมดระมัดระวังตัว (Wait and See) เพื่อรอลุ้นปัจจัยสำคัญ ทั้งผลการประชุม กนง. รายละเอียดมาตรการ Digital Wallet และอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้เงินบาทน่าจะแกว่งตัว sideways ในกรอบ 36.25-36.45 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะรับรู้ปัจจัยสำคัญดังกล่าว โดยเฉพาะผลการประชุม กนง.
โดนหาก กนง. ลดดอกเบี้ย -0.25% ตามที่ตลาดและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ประเมินไว้ พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าจนทะลุโซนแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก ขณะที่หาก กนง. ลดดอกเบี้ยลง แต่ส่งสัญญาณอาจลดดอกเบี้ยเพิ่มราว 1 ครั้ง หรือแม้จะเป็นกรณีที่ กนง. คงอัตราดอกเบี้ย แต่ส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ย (Dovish Hold) ตามที่เราประเมินไว้อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเงินบาทมากนัก และเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ต่อไป
ในส่วนของรายละเอียดมาตรการ Digital Wallet นั้น เราประเมินว่าหากรัฐบาลมีความชัดเจนของมาตรการดังกล่าว ทั้งในแง่ของไทม์ไลน์และมูลค่าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจพอช่วยให้ผู้เล่นในตลาดมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ทว่าต้องจับตาประเด็นแหล่งเงินทุนสำหรับมาตรการ Digital Wallet อย่างใกล้ชิด ว่าจะทำให้ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะในฝั่งตลาดบอนด์มีความกังวลต่อปริมาณการออกบอนด์ในอนาคตหรือไม่
และประเด็นสุดท้าย รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เรามองว่า หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ชะลอตัวลงต่อเนื่องตามคาด และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณสนับสนุนการลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้งของเฟดที่ชัดเจนอาจพอช่วยทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมีความหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนได้ ทำให้เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways หรืออ่อนค่าลงได้บ้าง ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ออกมาสูงกว่าคาด และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างส่งสัญญาณสนับสนุนการลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้ง อาจหนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง ทดสอบโซน 104.5-105 ได้เช่นกัน สำหรับดัชนีเงินดอลลาร์ DXY ซึ่งในกรณีดังกล่าวเงินบาทอาจกลับไปอ่อนค่าเกินระดับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง
สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญที่ห้ามพลาดจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ซึ่งจะรับรู้ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งจะมีกำหนดในช่วงหลังตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI เพื่อประเมินว่าเจ้าหน้าที่เฟดจะมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินเฟดอย่างไรบ้างหลังรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ ทั้งภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อที่ดูเริ่มชะลอลงช้า