นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 35.60-36.25 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้ (19 ก.พ.) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.80-36.10 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ที่ 35.95 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 36.03 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในกรอบ 35.95-36.17 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.15 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด ทว่า เงินดอลลาร์กลับมาย่อตัวลงบ้าง ตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ออกมาแย่กว่าคาด กอปรกับผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ออกมาด้วยเช่นกัน ซึ่งการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์มีส่วนช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวนด์ขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวนด์ขึ้นของราคาทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าเริ่มแผ่วลง เปิดโอกาสเงินบาทแกว่งตัว sideways หรือแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่เงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนการแข็งค่าที่ชัดเจน และยังมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่า หากรายงานข้อมูล GDP ไทยออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจว่า ธปท. อาจลดดอกเบี้ยได้ไม่น้อยกว่า 2 ครั้งในปีนี้ ขณะเดียวกัน ควรจับตาทิศทางเงินหยวนของจีน (CNY) ราคาทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินบาทได้พอสมควรในช่วงนี้
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าธีม US Exceptionalism ที่เริ่มแผ่วลงจะทำให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้างหรือแกว่งตัว sideways ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนบ้าง หากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย จนทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ล่าสุด
ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ที่สูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดมองว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 4 ครั้งในปีนี้
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรจับตารายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของประเทศเศรษฐกิจหลัก พร้อมรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2023