นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (28 มี.ค.) ที่ระดับ 36.42 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.30-36.50 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.35-36.44 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังราคาทองคำมีจังหวะรีบาวนด์ขึ้นบ้างตามการย่อตัวลงของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์ (ตลาดการเงินสหรัฐฯ และยุโรปปิดทำการ เนื่องในวันหยุด Good Friday) ทำให้เงินบาทไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่จากโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศในช่วงปลายเดือน นอกจากนี้ ถ้อยแถลงล่าสุดของเจ้าหน้าที่เฟด Christopher Waller (ในช่วง 05.00 น. เช้าวันพฤหัสฯ) ที่ยังย้ำจุดยืนเฟดไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยมีส่วนช่วยหนุนเงินดอลลาร์และยังคงกดดันทั้งราคาทองคำ รวมถึงเงินบาท
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ทว่า ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในช่วงเช้านี้เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด Christopher Waller ที่ย้ำจุดยืนเฟดไม่รีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี เราคาดว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์อาจเป็นไปอย่างจำกัด เพราะอย่างน้อยเงินดอลลาร์อาจไม่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เหมือนในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มกังวลต่อการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนจากทางการญี่ปุ่นมากขึ้น โดยในวันก่อนหน้า ข่าวการประชุมของทางการญี่ปุ่นสามฝ่าย (MOF, FSA และ BOJ) ได้หนุนให้เงินเยนญี่ปุ่นพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วและแรงจนทดสอบโซน 151 เยนต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะรีบาวนด์ขึ้นบ้างสู่ระดับล่าสุดแถว 151.3-151.4 เยนต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศในช่วงปลายเดือน ทำให้ในระหว่างวันการอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก
ทั้งนี้ เรามองว่าเงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากโฟลว์ซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยง อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในช่วงคืนวันศุกร์ ทำให้การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจจำกัดอยู่ไม่เกินโซน 36.30 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยหนุนการแข็งค่าใหม่ๆ เข้ามา
ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจฝั่งยุโรปผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสที่ 4 รวมถึงรายงานยอดค้าปลีกและอัตราการว่างงานของเยอรมนี
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 เช่นกัน นอกจากนี้ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) จะเป็นอีกข้อมูลที่ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจ เพื่อประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ