กสิกรฯ มองแนวโน้มเงินบาทระยะสั้นยังมีแรงกดดันด้านอ่อนค่า จากทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีปัจจัยหนุน รวมถึงใกล้ช่วงฤดูกาลจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นต่างชาติคาดยอด 8 หมื่นล้านบาท แต่ยังคงประมาณการ ณ สิ้นปีที่ระด้บ 35.20 บาท พร้อมคาดการณ์ กนง.ปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เริ่มต้นเดือน มิ.ย.เพื่อรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรก ชี้ผลข้างเคียงห่วงหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น-บาทอ่อน-เงินไหลออก
น.ส.ซาร่า ผลพิบูลย์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทในขณะนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยใน 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจไทย และทิศทางดอกเบี้ย โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลงจากปลายปีก่อนที่คาดการณ์ในระดับกว่า 4% ปรับลดลงมาอยู่ไม่ถึง 3% ส่วนทิศทางดอกเบี้ยคาดการณ์คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสะท้อนออกมาที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ในระดับใกล้ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ในขณะนี้ นอกจากนี้ ในระยะอันใกล้นี้คือเดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปีจะเป็นช่วงเวลาของการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนที่ประมาณการว่าปีนี้จะมียอดประมาณ 80,000 ล้านบาท ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาทอยู่ รวมถึงเงินดอลลาร์ที่ยังมีปัจจัยหนุนในด้านแข็งค่า แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงคาดการณ์เงินบาท ณ สิ้นปีนี้ที่ 35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ขณะเดียวกัน ทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐยังอยู่ในระดับแข็งค่าจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยล่าสุดได้มีการปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีสหรัฐฯ เติบโต 2.1% จากเดิมที่ 1.7% แต่อย่างไรก็ตาม ยังคาดการณ์ว่าเฟดจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ 3 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงธนาคารกลางหลักอย่าง ECB ด้วยเช่นกัน
ด้านทิศทางดอกเบี้ยไทย ธนาคารมองว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ โดยจะเริ่มครั้งแรกในการประชุมเดือนมิถุนายน ถัดจากการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 10 เมษายนที่จะถึงนี้ เนื่องจากมองว่า กนง.น่าจะรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาก่อน เพื่อตัดสินใจอีกครั้ง รวมถึงเดือนเมษยนเป็นช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ซึ่งจะมีการจับจ่ายใช้สอยในระดับสูงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้การกระตุ้นช่วย และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนการปรับลดลงของเฟดอาจจะไม่ค่อยสมเหตุสมผลและอาจจะส่งผลกระทบต่อเงินทุนไหลออกเพิ่มขึ้น
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยกล่าวเสริมว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งสะสมมาเป็นกว่า 10 ปีนับแต่น้ำท่วมใหญ่ในปี 2555 ทำให้บริษัทขนาดใหญ่หลายรายย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม รวมถึงปัญหาภาคการผลิต การส่งออกของไทยที่ไม่ตรงความต้องการที่เปลี่ยนไปของตลาดโลกแล้ว ผลิตภาพที่ลดลงอันเนื่องมาจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่สูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำนั้นเป็นผลมาจากมาตรการอุดหนุนค่าพลังงานซึ่งหากหมดมาตรการนี้ เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อก็จะสูงขึ้น ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุดในประเด็นดังกล่าว
"การปรับลดไม่ใช่ยารักษาทุกโรค ขณะเดียวกัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เร็วกว่าธนาคารกลางหลักๆ ดูว่ามันจะสมเหตุสมผลหรือไม่ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ผลข้างเคียงที่ตามมาคือ หนี้ครัวเรือนที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันที่ระดับ 92% นับว่าสูงอยู่แล้ว ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้จะลดความน่าสนใจลง กระทบการนำเข้าจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง และหากมองอย่างร้ายแรงยิ่งขึ้นอาจจะลุกลามเป็นสงครามค่าเงินที่เพื่อนบ้านอาจจะมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนของไทยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกของไทย"