นายกสมาคมอาคารชุดไทย ประเมินตลาดคอนโดฯ ปี 67 มีแนวโน้มเติบโตเล็กน้อย 5-10% ปัจจัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมเรียกร้องให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยลง ยอมรับทุกคนเหนื่อย ภาระดอกเบี้ยทำให้สุขภาพคนไทยไม่ดี ชี้ที่ผ่านมาเงินทุนยังไหลออก เตือนภาคธุรกิจระมัดระวังลงทุน ตรวจสอบดีมานด์ให้ดี
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ทางสมาคมอาคารชุดไทยมองว่าปี 2567 ตลอดคอนโดมิเนียมคาดว่าเติบโตบวกอ่อนๆ ประมาณ 5-10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากพอมีปัจจัยบวกเล็กๆ ต่อเนื่องจากปี 66 ทั้งในเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ตนประเมินจะขยายตัวได้ 3% กลางๆ ดีขึ้นเยอะ เมื่อเทียบกับตัวเลขจีดีพีระดับ 2% กลางๆ อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะปรับลดลง ภาคท่องเที่ยวจะดีขึ้น คาดตัวเลขที่ประเมินเองไว้เองประมาณ 30-35 ล้านคน การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ไปแล้ว เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงเข้ามาเยือนประเทศไทย เช่น รัสเซีย และมีหลายชาติที่เข้ามาเสริมทดแทนกลุ่มชาวจีน ส่งผลให้รายได้เข้าประเทศไทยมากขึ้น กระจายลงไปได้ทั่วถึง
"ปัจจัยบวกต่อภาคอสังหาฯ เรามองว่าครึ่งแรกของปี 67 อัตราดอกเบี้ยจะนิ่ง เป็นสัญญาณที่ดี ส่งต่อไปถึงครึ่งหลังของปีนี้ที่อัตราดอกเบี้ยลดลง แต่ถ้าจะเป็นข่าวดีเลย เซอร์ไพรส์ คือ ปีนี้ลดอัตราดอกเบี้ยเลย เราต้องพูดเยอะๆ เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยลง ที่ผ่านมา การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันเงินทุนไหลออก กังวลจะไม่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนตราสารหนี้ ไม่มาลงทุนในประเทศของเรา สุดท้ายเงินทุนไหลออกหมด เราสู้ไม่ได้ เพราะสหรัฐฯ มีเศรษฐกิจใหญ่กว่า เงินเฟ้อสูงกว่า ต้องใช้นโยบายเพิ่มดอกเบี้ยสกัด แต่ของประเทศไทยที่พูดไปเศรษฐกิจ เงินเฟ้อยังไม่มาสักอย่าง ทุกวันนี้ทุกคนเหนื่อย ภาระดอกเบี้ยไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพคนไทย ใช้ชีวิตยากขึ้น ภาคครัวเรือนลำบาก ภาคธุรกิจก็ยาก สิ่งที่อยากให้ภาครัฐช่วยคือ ลดดอกเบี้ย เพื่อลดภาระการใช้ชีวิต การทยอยปรับลงของดอกเบี้ยจะเป็นสัญญาณบวก เราจะเห็นว่า อย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดมีเกณฑ์ในปี 67 จะลดดอกเบี้ยลง 3-4 ครั้ง ทุกคนจะไม่กังวล ตลาดจะเริ่มกลับมาดีขึ้น" นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวตั้งความหวัง
ในประเด็นการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในปี 2567 นั้น นายพีระพงศ์ กล่าวในมุมตนเองว่า ถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องรีบร้อนขึ้นโครงการ ทยอยเปิดโครงการขนาดไม่ใหญ่ ตรวจสอบความต้องการซื้อ (ดีมานด์) ให้ดี ทำวิจัยตลาดให้ดี ต้องมีการหารือกับธนาคารให้ชัดเจนในเรื่องการขอสินเชื่อโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Project Finance) เนื่องจากธนาคารมีเกณฑ์ในการปล่อยโครงการเข้มข้นยิ่งขึ้น ไม่ได้ปล่อยง่ายๆ เหมือนเดิม