บริษัท ทริส เรทติ้ง (ประเทศไทย) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตที่ระดับ 3.0% ชะลอลงจากประมาณการครั้งก่อนหน้าที่ระดับ 3.7% ตามการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง และงบประมาณของรัฐบาลประจำปี 2567 ที่ล่าช้า และประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 เติบโตที่ระดับ 3.7% ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคเอกชน และการลงทุนโดยรวม ทั้งนี้ การประมาณการดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ราคาน้ำมันดูไบปี 66 เฉลี่ยที่ 80-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปี 67 เฉลี่ยที่ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 66 เฉลี่ยที่ 1.7% ปี 67 เฉลี่ยที่ 2.0-2.5% อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปี 66 เฉลี่ยที่ 34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปี 67 เฉลี่ยที่ 33.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 66 และปี 67 ที่ 2.50%
ทั้งนี้ การคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 67 ที่ระดับ 3.7% เป็นการรวมผลของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลในกรณีฐานต่อการบริโภคเอกชน ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐในช่วงโควิด-19 โดยปรับเพิ่มจาก 41.04% ในปี 62 เป็น 61.1% ในเดือนมิถุนายน 66 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าเพดานหนี้สาธารณะเดิมที่ 60% ก่อนมีการขยายเป็น 70% ในช่วงปี 65 และในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงที่หนี้สาธารณะจะปรับตัวสูงขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 67
พร้อมกันนั้น ทริสเรทติ้ง คาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% จนถึงสิ้นปี 66 จากอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายทั้งในปีนี้และปีหน้า รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว โดยการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อาจได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ
สำหรับความเสี่ยงและผลกระทบในอนาคต ทริส เรทติ้ง ได้ประเมินใน 4 ด้าน ได้แก่ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารกลางในหลายประเทศยังคงนโยบายการเงินแบบเข้มงวดและกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้น สภาพคล่องปรับลดลง และกระทบต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่
ความผันผวนในตลาดทุน และเงินทุนไหลออกจากตลาดเงิน ซึ่งอาจส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกสุทธิในดุลบัญชีการเงิน และกดดันดุลการชำระเงิน ขณะที่ความมั่งคั่งของผู้บริโภคที่ปรับลดลงอาจกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนได้
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงอุปสงค์ของโลกที่ลดลงจากภาวะการเงินที่ตึงตัวอาจกระทบการส่งออกสินค้าของไทยมากกว่าคาด แต่ผลกระทบบางส่วนอาจถูกชดเชยได้บ้างจากการที่จีนเปิดประเทศ
และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก บรรยากาศการลงทุน และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนเงินเฟ้อได้ต่อไป