น.ส.อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แนะนำกลยุทธ์ลงทุนหุ้นช่วง "เงินบาทอ่อนค่า" หลังจากเงินบาทกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งทะลุ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าอ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือนนับตั้งแต่เดือน พ.ย.65 จากปัจจัยหลักที่กดดันมาจากเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้น พันธบัตรไทย ความเสี่ยงจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าคาด แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงคำเตือนของฟิทช์ เรตติ้ง ที่อาจลดอันดับเครดิตประเทศไทยหากก่อหนี้สูงขึ้น ถือเป็นอีกแรงกดดันสำคัญที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว
สำหรับปัจจัยภายในมาจากการขาดดุลการค้า เพราะมูลค่าส่งออกน้อยกว่านำเข้า หรือมีเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากประเทศมาก ทำให้ประเทศมีสกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะสกุลดอลลาร์สหรัฐน้อยลง ดังนั้น เมื่อมีความต้องการแลกเงินบาทเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำออกนอกประเทศมากขึ้น ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลให้เงินลงทุนทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยไหลออก กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง เป็นต้น
ส่วนปัจจัยภายนอกที่สำคัญ คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกอยู่ในระดับสูง เพราะโดยปกติ เงินลงทุนจะย้ายออกจากประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำไปยังประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เนื่องจากนักลงทุนมองเห็นว่าผลตอบแทนที่จะได้รับสูงกว่า
*เงินบาทอ่อนค่า กระทบกับตลาดหุ้นอย่างไร
หากเม็ดเงินลงทุนในหุ้นของนักลงทุนต่างชาติไหลออก รวมถึงแรงเทขายในตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง เพราะการถือเงินบาทเอาไว้ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จึงขายหุ้นและตราสารหนี้เพื่อถือเงินสกุลต่างประเทศ (โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐ) เงินบาทจึงอ่อนค่าลง
อย่างไรก็ตาม มีหุ้นบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ในช่วงเงินบาทอ่อนค่า คือ กลุ่มส่งออก เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ถุงมือยาง การแพทย์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เพราะจะได้ประโยชน์จากการแปลงรายได้จากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นสกุลเงินบาท สังเกตได้จากธุรกิจเหล่านี้จะมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทอ่อนค่า เช่น ธุรกิจที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพื่อนำมาผลิตสินค้าและขายภายในประเทศ แต่ต้องซื้อวัตถุดิบในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่รายได้เป็นสกุลเงินบาท ต้นทุนการผลิตสินค้าจึงเพิ่มสูงขึ้น หรือธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องสั่งซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศต้องจ่ายในราคาที่แพงขึ้นด้วยเช่นกัน
แต่มีบางกลุ่มธุรกิจที่ในช่วงเงินบาทอ่อนค่า ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบแต่กลับไม่กระทบ ได้แก่ กลุ่มพลังงาน เพราะมีรายได้เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นผลดี แต่ธุรกิจนี้มีหนี้สินเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐด้วยเช่นกัน จึงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงเงินบาทอ่อนค่า รวมถึงกลุ่มสายการบินที่มีโครงสร้างต้นทุนเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หรือกลุ่มโรงไฟฟ้า เนื่องจากมีเงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้มีการบันทึกกำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้มีการชดเชยกัน หรือเรียกว่า Natural Hedge คือ การที่ธุรกิจบริหารรายได้ และรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้อยู่ในสกุลเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนจะส่งผลต่อทั้งรายได้และรายจ่ายในทิศทางเดียวกัน จึงสามารถชดเชยกันได้ เช่น หากเงินบาทอ่อนค่า จะทำให้ต้นทุนในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันรายได้ในรูปเงินบาทก็จะเพิ่มขึ้นด้วย เป็นต้น
*วางกลยุทธ์ลงทุนอย่างไรดี
ก่อนตัดสินใจลงทุนในช่วงเงินบาทอ่อนค่า นักลงทุนต้องนำปัจจัยเรื่องค่าเงินมาประกอบการพิจารณาด้วยว่าหุ้นกลุ่มใดจะได้รับประโยชน์ หุ้นกลุ่มใดจะเสียประโยชน์ หรือไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทเลย เพราะปัจจัยค่าเงินมีผลกระทบต่อราคาหุ้น เช่น กระทบต่อผลประกอบการของหุ้นกลุ่มส่งออก ถ้าเงินบาทอ่อนค่าจะทำให้ Gross Margin ปรับขึ้นอย่างน่าประทับใจ ทำให้หุ้นกลุ่มนี้ถูกจับตามองจากนักลงทุนเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น นักลงทุนต้องเลือกหุ้นเข้าพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับแนวโน้มของค่าเงินบาท โดยหากประเมินว่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อไป ต้องเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มส่งออก แต่หากประเมินว่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น เงินลงทุนจากต่างชาติเริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุน นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น ต้องลดพอร์ตลงทุนในหุ้นกลุ่มส่งออก ด้วยการเพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า
โดยสรุป ในช่วงที่ความเสี่ยงของตลาดเพิ่มสูงขึ้น (Market Risk) ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านค่าเงิน อัตราดอกเบี้ย หรือความผันผวนของราคาหุ้น นักลงทุนควรใช้กลยุทธ์ "Play Safe, Stay Defensive" นั่นคือ เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน