“ส.อ.ท.” เกาะติดค่าเงินบาทใกล้ชิด ย้ำอ่อนค่าเร็วไม่ส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจ มอง กนง.ขึ้นดอกเบี้ยล่าสุดเหตุเพราะดูแลความสมดุลค่าเงิน หวั่นปลายปีหนุนราคาพลังงาน วัตถุดิบพุ่ง ขณะที่ดอกเบี้ยขาขึ้นซ้ำเติม SME ด้าน "สศอ." มองบาทอ่อนค่ามีทั้งบวกและลบ แต่หากนานไปอาจทำให้ผู้ส่งออกถูกต่อรองราคา
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.ได้ติดตามภาวะค่าเงินบาทใกล้ชิด เนื่องจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ไทยขาดดุลการค้ามากขึ้นเพราะไทยต้องมีการนำเข้าพลังงาน สินค้าทุนและวัตถุดิบจากต่างประเทศ ประกอบกับภาวะอัตราดอกเบี้ยของไทยที่ต้องปรับขึ้นเพื่อดูแลภาวะค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจประเภทวิสาหกิจชนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่จะกระทบมากขึ้น
“เงินบาทอ่อนแม้จะส่งผลดีต่อการส่งออกในรูปของมูลค่าเงินบาทที่จะเพิ่มขึ้นแต่หากอ่อนเร็วเกินไปก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นปัจจัยลบ ดังนั้น ส.อ.ท.คงต้องติดตามใกล้ชิดเพราะกังวลว่าช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากหลายปัจจัยทั้งความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นและการที่รัสเซียประกาศงดส่งออกน้ำมันล่าสุดน่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสแตะระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้ ขณะที่ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบและใช้กว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็อาจจะทำให้ไทยขาดดุลเพิ่มมากขึ้นและจะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกมีทิศทางสูงกระทบต่อต้นทุนการผลิตได้ รวมไปถึงการนำเข้าวัตถุดิบเช่นอาหารสัตว์ก็จะปรับตัวเพิ่ม เหล่านี้ก็จะผลักภาระมายังราคาสินค้าในระยะต่อไป” นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.25% ต่อปี จาก 2.25% ต่อปี เป็น 2.50% ต่อปี และปรับคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2566 อยู่ที่ 2.8% จาก 3.6% และในปี 2567 อยู่ที่ 4.4% จาก 3.8% ส.อ.ท.ไม่แปลกใจเเละมองว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ไม่อยู่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่เงินบาทผันผวนทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวเร็วเกินไป จึงต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อให้เกิดสมดุลของเงินไหลเข้าและไหลออกในประเทศ
"การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ได้ขึ้นตามทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED แต่อย่างใด เป็นการขึ้นเพราะต้องการสกัดไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวเร็วในระยะนี้ ทำให้ประเมินได้ยากว่าในอนาคต กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหรือไม่ เพราะมีหลายปัจจัยที่ กนง.จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมตามสภาพแวดล้อมในช่วงนั้นๆ" นายเกรียงไกรกล่าว
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่านั้นมีทั้งบวกและลบ กล่าวคือ ปัจจัยบวกจะทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น แต่การนำเข้าทั้งพลังงาน วัตถุดิบ เครื่องจักรก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นกันจึงต้องมาเทียบว่าที่สุดอย่างใดจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน โดยหากพิจารณารายละเอียดจะพบว่ากลุ่มที่มีสัดส่วนนำเข้ามากและส่งออกมาก แล้วมีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องสำอาง กลุ่มนำเข้ามากส่งออกได้มูลค่าน้อย เช่น น้ำมัน เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เป็นต้น
“สิ่งที่มองคือกรณีที่ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าในระยะยาวจะทำให้คู่ค้าต่อรองราคาสินค้ากับผู้ส่งออกได้เช่นกัน เพราะเขาก็มองว่าเมื่อคิดกลับไปในรูปค่าเงินบาทก็จะได้เพิ่มขึ้นก็คงต้องระวัง” นางวรวรรณกล่าว