โบรกเกอร์ พร้อมใจเล็งหั่นเป้าจีดีพี - EPS ตลาดปี67 ใหม่ หลังสภาพัฒน์เผยตัวเลขปี66 โตแค่ 1.9% แถมยังหั่นเป้าปีนี้เหลือโตแต่ 2.2-3.2% หลังแนวโน้มเศรษฐกิจมีโอกาสชะลอตัว ขณะที่มีแนวโน้ม ธปท. อาจลดดอกเบี้ยนโยบายลงด้วยเช่นกัน ประเมินแนวรับรอบนี้ 1,350-1,370 จุด แนวต้านที่ 1,405 จุด แนะเก็งกำไรหุ้นที่ยังปรับตัวลดลงกว่าตลาด แต่ลดน้ำหนักลงทุนหุ้นแบงก์
วานนี้ (19 ก.พ.67) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ปี 66 ขยายตัว 1.9% ต่ำกว่าที่ตลาดคาด และหั่นเป้าปีนี้ เหลือโต 2.2-3.2% ยังไม่รวม Digital Wallet ซึ่งถือเป็นตัว
เลขที่ต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนที่ 2.7-3.7%
ASPS จ่อหั่นเป้า SET- EPS หลังศก.ชะลอ ให้แนวรับ 1,350 จุด
นายภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ภาพรวมจีดีพีปี66 ที่ออกมาถือว่าต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ระดับ 2.1% แต่ดีกว่าที่รัฐบาลคาดไว้ระดับ 1.8% โดยระยะสั้นคาดว่าปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้ตลาดผันผวนไปบ้าง แต่คงไม่ปรับตัวลดลงกว่าจุดต่ำสุดเดิม
ส่วนระยะกลางสิ่งที่ตลาดคาดหวังคงเป็นนโยบายการเงินและการคลัง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นชัดเจนภายในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงระยะยาวคาดว่าแม้ตัวเลขจีดีพีปีนี้จะลดลงจากคาดการณ์เดิม แต่ยังถือว่าเติบโตจากปีก่อนที่ทำได้ 1.9% ซึ่งจะหนุนให้กำไรบจ.น่าปรับตัวเพิ่มขึ้นได้
ดังนั้นประมาณการจีดีพีที่ออกมาอาจมีผลต่อแนวโน้มการปรับเป้าหมาย SET และ EPS ตลาดปีนี้ลง จากเดิมที่มองเป้าหมาย SET ปีนี้ที่ 1,710 จุด และ EPS ตลาดที่ 99.8 บาทต่อหุ้น
"ตัวเลขจีดีพีที่ชะลอลง มีโอกาสสูงที่จะกดดันให้ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน เม.ย.67 ขณะที่แนวโน้มตลาดหุ้นไทยเชื่อว่าปัจจุบัน P/E ยังอยู่ในระดับต่ำ และคาดว่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปได้ เชื่อว่ารัฐบาลจะมีนโยบายการเงินและการคลังออกมาหลังจากนี้" นายภราดร กล่าว
ทั้งนี้ ประเมินแนวรับ SET Index ที่ 1,350 จุด และแนวต้านที่ 1,400-1,450 จุด
ทิสโก้ เล็งหั่นจีดีพี- EPS ปีนี้ หลังตัวเลขปี 66 แย่กว่าคาด
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า ตัวเลขจีดีพีปี 66 ที่ออกมาถือว่าแย่กว่าที่ฝ่ายวิจัย บล.ทิสโก้ คาดไว้ที่ 2.6% และที่ตลาดคาด 2.4-2.6% ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่ชะลอตัว หลังการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลล่าช้า โดยปัจจัยดังกล่าวทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 67 ลง จากเดิมที่คาดโตระดับ 3.5%
สำหรับการประมาณการจีดีพีในครั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังไม่รวมโครงการ Digital Wallet ของรัฐบาลไว้ในสมมติฐาน เนื่องจากยังต้องรอดูความคืบหน้าว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะช่วยเพิ่มการขยายตัวของจีดีพีได้ราว 0.6-0.8% และมองว่ามีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงราว 0.50% ภายในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ดูชะลอตัว ขณะที่ด้านอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อยังมีสัญญาณติดลบ
ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทย คาดว่าได้ซึมซับปัจจัยดังกล่าวไปล่วงหน้าแล้ว ซึ่งยังต้องติดตามการประกาศงบของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในงวดไตรมาส 4/66 และประเมินว่าหากทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศยังปรับตัวดีก็คาดว่ามีโอกาสที่หุ้นไทยจะฟื้นตัวได้
อย่างไรก็ดียังคงเป้าหมาย SET ปีนี้ที่ 1,550 จุด ส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) มีความเสี่ยงที่จะปรับลดคาดการณ์ลงเล็กน้อย จากเดิมที่คาดไว้ 86 บาทต่อหุ้น ซึ่งต้องรอความชัดเจนภายหลังการประกาศงบในงวดไตรมาส 4/66 ออกมาครบก่อน
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำเลือกเก็งกำไรหุ้นที่ยังปรับตัวลดลงกว่าตลาด พร้อมประเมินกรอบแนวรับอยู่ที่ 1,350-1,370 จุด ส่วนแนวต้านที่ 1,405 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,430-1,440 จุด
UOBK จ่อปรับเป้าจีดีพีปีนี้ โตต่ำกว่า 3%
ด้านนายกิจพล ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล. ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตัวเลขจีดีพีโต 1.9% ต่ำกว่าที่ภาพรวมตลาดคาดการณ์ไว้ แต่เป็นสิ่งที่ตลาดเตรียมใจไว้ก่อนแล้ว โดยช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมากระทรวงการคลังคาดการณ์จีดีพีปี 66 จะอยู่ที่ระดับโตเพียง 1.8%
ดังนั้นภาพรวมตัวเลขจีดีพีในปี 67 จึงมีแนวโน้มที่โบรกเกอร์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับลดจีดีพีลงจากเดิมที่คาดโต 3.2-3.5% โดย ยูโอบี เคย์เฮียน มีแนวโน้มจะปรับจีดีพีลดลงต่ำกว่า 3% เช่นกัน จากเดิมที่ยูโอบี สิงคโปร์ คาดว่าเติบโต 3.6%
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจปี 67 มีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวจากเดิมที่ตลาดคาด เนื่องจากเครื่องมือการคลัง การเงินของรัฐบาลในปี 67 ค่อนข้างจำกัด และอาจเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นบางจุด เช่น การปรับขึ้นค่าแรงบางอุตสาหกรรม หรือแม้แต่มาตรการโครงการดิจิทัลวอลเล็ท ที่อาจจำเป็นต้องลดขนาดโครงการลง เนื่องจากหน่วยงานที่จะอนุญาตต้องพิจารณาผลกระทบรอบด้าน และระมัดระวังมากขึ้นจากประสบการณ์ในอดีต เช่น กรณีโครงการรับจำนำข้าว
ส่วนอัตราดอกเบี้ย มองว่าอย่างเร็วสุดจะเห็นปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงช่วงปลายปี 67 เนื่องจากปัจจุบันส่วนต่างดอกเบี้ยที่กว้างทำให้เงินทุนไหลออกง่าย ดังนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าสหรัฐฯ อาจเป็นความเสี่ยงให้เงินไหลออกมากกว่า
ประเมินกรอบดัชนี 1,373 - 1,390 จุด แนะนำลดน้ำหนักลงทุนกลุ่มธนาคาร โดยเลือกลงทุนหุ้นท่องเที่ยว อาหาร เช่น SPA, BAFS, TU, CPF