ทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบี เปิดแผนขับเคลื่อนกลยุทธ์ธุรกิจ ปี 2567 เพื่อเดินหน้า LEAD the CHANGE เร่งทรานส์ฟอร์มองค์กรผ่าน 4 ด้านสำคัญ เพื่อเสริมแกร่ง ทั้งจับมือพันธมิตรชั้นนำสร้าง Ecosystem Play มอบประสบการณ์ที่เหนือกว่าแบบครบวงจร ส่วนภาพรวมเอ็นพีแอลเพิ่มหลังหมดมาตรการ ธปท. แต่ยังไม่สนตั้งเอเอ็มซี
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) เปิดเผยว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาทีทีบีได้ดำเนินธุรกิจโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer-Centric) เพื่อสานต่อพันธกิจในการมุ่งสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้ลูกค้า และในปี 2567 นี้ ธนาคารได้เดินหน้าที่จะ LEAD the CHANGE หรือเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า โดยเร่งทรานส์ฟอร์ม (Transform) องค์กรแบบรอบด้าน นำดิจิทัลมาดูแลลูกค้าทุกกลุ่มในทุกช่วงชีวิต โดยเฉพาะ 4 กลุ่มลูกค้าหลักที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญ ภายใต้แนวคิด Ecosystem Play ได้แก่ กลุ่มคนมีรถ คนมีบ้าน พนักงานเงินเดือน และลูกค้า Wealth โดยมีแอป ttb touch เป็นแพลตฟอร์มหลักในการเชื่อมต่อโซลูชันและสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากพันธมิตรชั้นนำของธนาคาร เพื่อส่งมอบประสบการณ์ทางการเงินในระดับเฉพาะบุคคล หรือ Segment-of-One เพื่อให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นแบบรอบด้าน
"ในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าการนำคนไปสู่ Digital Eco system นั้นทำได้ แต่ทำคนเดียวไม่ได้ ขณะที่ความท้าทายในปีนี้ที่ต้องเผชิญยังมีอยู่ ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม หนี้ครัวเรือน และความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เพราะลูกค้าแต่ละคนมีโจทย์ไม่เหมือนกัน จึงต้องมีการทรานส์ฟอร์มในส่วนหลักๆ เพื่อเดินหน้าสู่ LEAD the CHANGE "
ทั้งนี้ สิ่งที่เราต้องทำคือการมุ่งทรานส์ฟอร์ม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ Digital Transformation เพื่อยกระดับประสบการณ์ทางการเงินที่ดีให้ลูกค้าทุกกลุ่ม เป็นการวางกลยุทธ์สร้างขีดความสามารถด้านดิจิทัลขององค์กรเพื่อสร้าง New Business Model ใหม่ๆ ขณะเดียวกัน ต้อง Revenue Model Transformation หรือการปรับการหารายได้ให้เหมาะกับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป รวมถึง Channel & Process การดูแลช่องทางการให้บริการ โดยผลักดันให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งจากปัจจุบัน 94% ของธุรกรรมที่สาขา ลูกค้าสามารถทำได้ผ่านแอปพลิเคชัน ขณะเดียวกัน ยังมีช่องทางออฟไลน์ในกรณีที่ลูกค้าต้องการพบเจ้าหน้าที่ เพราะเรื่องของการเงินต้องมีความมั่นใจ และ Organizational Transformation โดยสร้างทีมดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ซึ่งที่ธนาคารใช้งบไอทีปีละหลักพันล้าน หรือประมาณ 7% ของรายได้ แต่ไม่กระทบกับ Cost to Income ของธนาคาร
**แนวโน้มเอ็นพีแอลเพิ่ม-ไม่สนตั้งเอเอ็มซี**
ด้านทิศทางหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งระบบนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการพิเศษของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่หมดไปหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ซึ่งถือเป็นการกลับเข้าสู่ความจริง ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่สูงอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของประเทศหลักๆ ยังไม่ลดลง หากไทยลดก่อนอาจกระทบเงินทุนไหลออกได้ ขณะที่เอ็นพีแอลของทีทีบีคงสูงขึ้นบ้างแต่ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ดังนั้น จึงมองว่าธนาคารยังไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ในปีนี้ ปริมาณหนี้กับวิธีบริหารในปัจจุบันยังเพียงพอกับเอ็นพีแอลที่จะเกิดขึ้น
"ปัจจุบันเรามีแนวทางในการบริหารจัดการเอ็นพีแอลอยู่แล้ว โดยส่วนหนึ่งจะตัดขายออกไปซึ่งจะเป็นส่วนที่เราไม่ค่อยชำนาญ หรือลูกค้าไม่ให้ความร่วมมือ โดยในปีก่อนเราขายไป 6-7 พันล้านบาท แต่ปีนี้อาจจะต่ำกว่า หากราคาต่ำไป ขณะที่แนวโน้ม SM (หนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน) ของกลุ่มสินเชื่อบ้านมีสูงขึ้น มีความเปราะบางขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท และกลุ่มที่มีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระ แต่ลูกหนี้กลุ่มนี้ก้อนใหญ่อยู่ที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ"