xs
xsm
sm
md
lg

ถ้า ROBOT ยังอยู่..รายย่อยตาย / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดข้อมูลการซื้อขายของโปรแกรมเทรดหรือ ROBOT เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ที่นักลงทุนได้เห็นคือ การโจมตีหุ้นรายตัว

ROBOT เข้าโจมตีหุ้นตัวไหน หุ้นตัวนั้นมักจะร่วงแรง เช่น หุ้นบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT หุ้นบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU และหุ้นกลุ่มสายการเดินเรือหลายตัวที่ถูกถล่มยับ

สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหุ้นของ ROBOT เฉลี่ยวันละประมาณ 40% ของมูลค่าซื้อขายโดยรวมทั้งตลาด โดยภาพการชี้นำทิศทางตลาดโดยรวมอาจไม่ปรากฏชัดนัก แต่ภาพการชี้นำความเคลื่อนไหวหุ้นรายตัวเกิดขึ้นอย่างชัดเจน

ROBOT กระโดดเข้าโจมตีหุ้นทุกตัวที่มีมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น หรือราคามีความเคลื่อนไหวร้อนแรง ไม่มีข้อจำกัดว่า จะเป็นหุ้นเล็กหรือหุ้นใหญ่ โดยสอดแทรกเข้ามาหาจังหวะฟันกำไร ไม่ว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือลง

การเล่นใต้โต๊ะ นอกกติกา แหกกฎโดยการทำ NAKED SHORT หรือขายโดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือ ปัจจุบันทำได้ลำบากขึ้น เพราะตลาดหลักทรัพย์วางมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มข้น จน ROBOT กระดุกกระดิก เล่นตุกติกไม่ได้

แต่ความรวดเร็วในการประเมินแรงซื้อแรงขายหุ้นในแต่ละตัว ประมวลผลภายในพริบตาว่าหุ้นมีแนวโน้มขึ้นหรือลง และการส่งคำสั่งซื้อขายที่รวดเร็วดุจสายฟ้า ก็เป็นความได้เปรียบที่มากพอในการเก็บเกี่ยวกำไรจากหุ้นรายตัวที่ ROBOT เข้าไปโจมตี

เมื่อ ROBOT เป็นผู้ได้ โดยมักชนะเสมอในการเล่นหุ้นรายตัว นักลงทุนรายย่อยต้องกลายเป็นผู้แพ้ และถูก ROBOT กินมาตลอดเวลาประมาณ 6 ปี ซึ่งนักลงทุนรายย่อยมียอดซื้อหุ้นสะสมค้างไว้กว่า 5 แสนล้านบาท เป็นหุ้นที่ซื้อมาด้วยราคาต้นทุนสูง ขายออกไม่ทัน ต้องติดกันอยู่บนยอดดอย

ความพ่ายแพ้ราบคาบต่อ ROBOT ทำให้เงินที่ใช้ซื้อขายเก็งกำไรระยะสั้นของนักลงทุนรายย่อยต้องจมปรักกับหุ้นที่ซื้อไว้ในราคาต้นทุนสูง และไม่สามารถทำใจตัดขายขาดทุนได้

เมื่อไม่มีเงินใหม่เข้ามา เมื่อจำนวนนักลงทุนหน้าใหม่พัดหลงเข้ามาในตลาดหุ้นน้อยลง มูลค่าการซื้อขายหุ้นจึงหดตัวลง และปรับระดับสู่การซื้อขายเฉลี่ยวันละ 3-4 หมื่นล้านบาท โดยมีแนวโน้มที่จะเห็นมูลค่าการซื้อขายต่ำกว่าวันละ 3 หมื่นล้านบาท ในช่วงปลายปีนี้

เพราะนักลงทุนต่างชาติหยุดธุรกรรมการซื้อขายเพื่อฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ทำให้ขาดผู้ซื้อผู้ขายรายใหญ่

น่าจะมีการตั้งคำถามไปถึงผู้บิหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงพฤติกรรมของ ROBOT ว่า ตลาดหลักทรัพย์ได้ตรวจสอบการซื้อขายเพื่อประเมินผลของ ROBOT บ้างหรือไม่

การโจมตีหุ้นแต่ละตัว ROBOT โกยเงินไปเท่าไหร่ เป็นผู้ชนะตลอดกาลหรือไม่ และวิธีการซื้อขายในรายละเอียดเป็นอย่างไรจึงทำกำไรได้เสมอ ไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง

และที่สำคัญ การเปิดโอกาสให้ ROBOT เชื่อมระบบต่อสู่ระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้มีความรวดเร็วในการส่งคำสั่งซื้อขาย เป็นการเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อย โดยตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้สนับสนุนหรือไม่

ประมาณ 6 ปีแล้วที่นักลงทุนรายย่อยถูก ROBOT โจมตีจนสะบักสะบอม และเริ่มถอดใจ ชะลอการซื้อขาย ขณะที่บริษัทโบรกเกอร์ 38 แห่ง ปีนี้ส่วนใหญ่ขาดทุน เพราะมูลค่าซื้อขายหด จนมีแนวโน้มที่จะล้มตายตามนักลงทุนรายย่อย

จะมีโบรกเกอร์ที่มีลูกค้า ROBOT เพียงไม่กี่บริษัทที่รอดได้

ตลาดหลักทรัพย์น่าจะรู้ดีที่สุด เห็นพฤติกรรมของ ROBOT ชัดเจนที่สุด โดยเห็น ROBOT กอบโกยเงินออกจากประเทศไทย ท่ามกลางความเสียหายของนักลงทุนในประเทศ

แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมตลาดหลักทรัพย์จึงปกป้อง ROBOT ดุจเทพเจ้าที่เคารพมาตลอด และไม่ยอมทบทวนปัญหาของ ROBOT ตามข้อเรียกร้องของนักลงทุนที่เสนอให้ยกเลิก ROBOT

หรืออย่างน้อย ตัดทางด่วนพิเศษ ห้าม ROBOT เชื่อมระบบซื้อขายตรงสู่ตลาดหลักทรัพย์ ลดช่องทางเอาเปรียบนักลงทุน

รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องเลือกข้างแล้ว

จะเลือกอยู่เคียงข้างนักลงทุนในประเทศ หรือจะปล่อยให้ ROBOT โจมตีตลาดหุ้นต่อไป

ถ้าเลือกให้ ROBOT อยู่ ต้องเตรียมตัวดูนักลงทุนในประเทศล้มตาย จนในที่สุดอาจไม่เหลือนักลงทุนรายย่อย

ถึงวันนั้นตลาดหุ้นจะแปรสภาพเป็นสุสานร้าง สาแก่ใจคนที่ปล่อยให้ ROBOT เข้ามาปล้นนักลงทุนคนไทย








กำลังโหลดความคิดเห็น