xs
xsm
sm
md
lg

ปล่อยผี 4 โบรกเกอร์เงินดิจิทัล / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัติใบอนุญาตผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มอีก 4 ราย เป็นการอนุมัติเงียบๆ ไม่มีข่าวอะไรมากมาย และแต่ละรายล้วนเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ หรือเป็นเครือข่ายระดับเจ้าสัวแทบทั้งสิ้น

ผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 4 รายใหม่ประกอบด้วย บริษัท วาฬ เอ็กเชนจ์ จำกัด บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด บริษัท แมกซ์บิท ดิจิทัล แอสเซท จำกัด และบริษัท 1109 พรอส์เปอร์ จำกัด

บริษัท วาฬ เอ็กเชนจ์ มีนายชวัล เจียรวนนท์ ลูกชายนายชัชวาล เจียรวนนท์ เป็นผู้บริหาร

บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ เป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กับบริษัท ไบแนนซ์ โบรกเกอร์ซื้อขายเงินดิจิทัลใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งหลายประเทศเฝ้าจับตาพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจ

บริษัท แมกซ์บิท ผู้บริหารเป็นทายาทของกลุ่มรัชกิจประการ ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เจ้าของปั๊มน้ำมัน PT

และบริษัท 1109 พรอส์เปอร์ ผู้บริหาร เป็นอดีตผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI

ทั้ง 4 ราย ล้วนเป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่มีเครือข่ายหรือสายสัมพันธ์ทางการเมือง ทำให้เกิดคำถามในการพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตประกอบสินทรัพย์ดิจิทัลจาก ก.ล.ต.

เพราะมีผู้ที่ยื่นคำขอประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรอการพิจารณาอนุมัติจาก ก.ล.ต.อีกหลายสิบราย และยื่นคำขอนานเป็นปีแล้ว โดยเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น

การอนุมัติ 4 ผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 4 รายใหม่ ทำให้โบรกเกอร์สินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตมีจำนวนรวมทั้งสิ้นเป็น 12 ราย โดย ก.ล.ต.จะพิจารณากลั่นกรองอนุมัติรายใหม่ๆ เพิ่มเติมเมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์

โบรกเกอร์ หรือนายหน้าซื้อขายหุ้นจำนวนนับสิบรายได้ยื่นคำขอใบอนุญาตเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายโทเคนหรือเหรียญดิจิทัล เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้

เพราะรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหุ้นลดลง เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายหุ้นตกต่ำ ตลาดหุ้นซบเซา และการแข่งขันสูง จนคาดว่าผลประกอบการบริษัทโบรกเกอร์ค้าหุ้นส่วนใหญ่ปีนี้จะขาดทุน

แต่การขอใบอนุญาตเป็นโบรกเกอร์ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะหากไม่มีสายสัมพันธ์ทางการเมือง และไม่ใช่กลุ่มทุนเจ้าสัว เพราะ ก.ล.ต.วางกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวด

บริษัทโบรกเกอร์หุ้นจะต้องตั้งบริษัทลูกเพื่อประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง และผู้บริหารระดับสูงอย่างน้อย 2 คน จะต้องมีประสบการณ์ในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่น้อยกว่า 3 ปี ทั้งที่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่งอุบัติขึ้นในประเทศไทยเพียงไม่กี่ปี

ผู้ยื่นคำขอใบอนุญาตต้องแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าด้านบุคลากร การวางระบบงาน รวมทั้งฐานะการเงิน ซึ่งกลายเป็นภาระต้นทุนของผู้ขอใบอนุญาต

เพราะแต่ละเดือนจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2-3 ล้านบาท สำหรับบริษัทลูกที่เตรียมความพร้อมในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ถ้าการยื่นขอใบอนุญาตมีความล่าช้า ไม่ว่าด้วยเหตุใด ไม่ว่าเกิดจากความไม่พร้อมของผู้ยื่น หรือความล่าช้าในการพิจารณาของ ก.ล.ต. บริษัทโบรกเกอร์ค้าหุ้นจะต้องเหนื่อย เพราะแบกภาระต้นทุนการเตรียมความพร้อมรองรับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ธุรกิจหลักทรัพย์กำลังย่ำแย่ แต่ต้องแบกขาดทุน มีภาระค่าใช้จ่ายบริษัทลูกที่รอใบอนุญาตนายหน้าค้าโทเคนอีกปีละหลายสิบล้านบาท

และไม่รู้ว่าจะต้องรอการพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตกันอีกกี่ปี ซึ่งดีไม่ดีโบรกเกอร์ค้าหุ้น อาจล้มตายก่อนได้ใบอนุญาตค้าโทเคน

4 โบรกเกอร์สินทรัพย์ดิจิทัลน้องใหม่รายล่าสุดขึ้นทางด่วนพิเศษ ได้ใบอนุญาต เตรียมตัวหารายได้จากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว

แต่โบรกเกอร์ค้าหุ้นอีกนับสิบรายได้แต่ชะเง้อ ลุ้นระทึกว่าอีกนานไหม ก.ล.ต.จึงจะสงเคราะห์อนุมัติใบอนุญาตให้เสียที

เพราะแต่ละรายแบกต้นทุนค่าใช้จ่ายจนหลังแอ้ อยากได้ใบอนุญาตค้าเงินดิจิทัลเร็วๆ

และไม่มีเส้นทางด่วนพิเศษด่วนพิเศษเหมือน 4 โบรกเกอร์เงินดิจิทัลใหม่ที่ ก.ล.ต.เพิ่งปล่อยผีมาเสียด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น