xs
xsm
sm
md
lg

ปากน้ำ-พระสมุทรเจดีย์ วันนี้ไม่ได้มีแค่เรือข้ามฟาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ช่วงนี้จังหวัดสมุทรปราการมีงานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์และงานกาชาดจังหวัดสมุทรปราการ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “งานเจดีย์ปากน้ำ” หรือ “งานพระสมุทรเจดีย์” ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

งานนี้เป็นที่รู้กันว่า มีการออกร้านกาชาดของเหล่าชาดจังหวัดสมุทรปราการ จำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค การละเล่นพื้นบ้าน และการแสดงมหรสพ ให้ประชาชนชมฟรีทุกคืน

และนับตั้งแต่รถไฟฟ้าบีทีเอส ให้บริการถึงสถานีเคหะ มาตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2561 กำลังจะครบรอบ 5 ปีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ เดินทางสะดวกขึ้น ลงสถานีปากน้ำ ทางออก 4 หรือ 6

จากนั้นนั่งเรือข้ามฟากบริเวณตลาดวิบูลย์ศรี เพื่อไปยังพระสมุทรเจดีย์ได้เลย

กล่าวถึงเรือข้ามฟาก ปากน้ำ-พระสมุทรเจดีย์ เวลาไปธุระแถวจังหวัดสมุทรปราการ เคยเห็นมาหลายครั้ง แต่ไม่มีโอกาสขึ้นสักที เพราะปกติเวลากลับบ้านย่านถนนพระรามที่ 2 จะขึ้นรถเมล์สาย 142 ปากน้ำ-อู่แสมดำ ลงการเคหะธนบุรี

ใครที่ไปเที่ยวงานที่ไบเทค บางนา หรือกลับจากฉะเชิงเทรา ชลบุรี ภาคตะวันออก รถเมล์สาย 142 ปากน้ำ-อู่แสมดำ เที่ยวสุดท้ายออกจากอู่ฟาร์มจระเข้ 21.30 น. สามารถรอรถที่ป้ายแยกบางนา และเช็ก GPS ผ่านแอปฯ VIABUS ได้


วันหนึ่งนึกครึ้มอกครึ้มใจขึ้นมา อยากลองเปลี่ยนเส้นทางกลับบ้าน ไปทางพระสมุทรเจดีย์ดูบ้าง กะว่าถ้าข้ามเรือแล้วต่อรถเมล์สาย 20 พระสมุทรเจดีย์-ท่าดินแดง ลงที่ป้ายบางปะแก้ว ข้ามสะพานลอย ต่อรถเมล์เข้าถนนพระรามที่ 2

ท่าเรือข้ามฟากจะอยู่ในตลาดวิบูลย์ศรี บ้านเกิดของผู้ประกาศหญิงรายหนึ่ง ที่เพิ่งเว้นวรรคหน้าจอทีวีไปเป็นดาวติ๊กต็อก เต้นเพลงรังสิตมันร้าย คู่กับนักการเมืองที่เพิ่งลาออกจากพรรคลุงตู่ เมื่อไม่นานมานี้

มีป้ายคำว่า “ท่าเรือข้ามฟาก” ตัวโตๆ ตรงข้ามเป็นอนุสาวรีย์รถไฟสายแรกของไทย

ก่อนถึงท่าเรือจะมีร้านค้าขนาดย่อมที่ชื่อว่า “ดีดี ซุปเปอร์สโตร์” จำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค มีสองสาขา คือสาขาปากน้ำ และสาขาพระสมุทรเจดีย์ แบบดักหน้าดักหลังตรงท่าเรือพอดี แวะซื้อของพบว่าสินค้าบางรายการถูกจริง

มาถึงท่าเรือข้ามฟาก เราต้องจ่ายค่าเรือคนละ 6 บาทกันก่อน จากนั้นเดินเข้าไปในเรือ ไม่ช้าไม่นานเรือก็ออกจากท่าปากน้ำไป สังเกตได้ว่ามีทั้งชาวบ้าน รวมถึงทหารจากโรงเรียนนายเรือ กองทัพเรือ ต่างก็มาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

เรือลอยลำไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา มองเห็นลำน้ำกว้างใหญ่ เรือบรรทุกสินค้าแล่นไปมาไม่ขาดสาย ก่อนตวัดเข้าป้อมผีเสื้อสมุทร เข้าไปในลำน้ำสาขา ถึงท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที

บริเวณท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ มีตลาด แผงขายของ ขายอาหาร และร้านค้าขนาดย่อม ตรงจุดนี้จะมีรถประจำทางไปวัดสาขลา มีรถตุ๊กตุ๊กไปยังพื้นที่ใกล้เคียง มีร้านกาแฟและร้านสะดวกซื้อชื่อดังอยู่ใกล้กัน


เมื่อเดินออกไปทางซ้ายจะเจอรถตู้สาย ต.106 ตลาดบางปะแก้ว-ท่าน้ำพระสมุทรเจดีย์ เดินผ่านเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ จะพบกับท่ารถเมล์สาย 20 พระสมุทรเจดีย์-ท่าดินแดง จอดเรียงราย ให้เดินไปขึ้นคันหน้าสุด

เวลาเดินรถจากท่าเจดีย์ เที่ยวแรก 04.00 น. เที่ยวสุดท้าย 22.00 น. จากท่าดินแดง เที่ยวแรก 05.00 น. เที่ยวสุดท้าย 23.00 น. เช็ก GPS ผ่านแอปฯ VIABUS ได้เช่นกัน

ออกจากท่าเจดีย์ ป้ายแรกที่จอดคือ ป้ายไปรษณีย์พระสมุทรเจดีย์ ซึ่งอยู่เลยสามแยกพระสมุทรเจดีย์ ไปตามถนนสุขสวัสดิ์ ผ่าน สภ.พระสมุทรเจดีย์ ตลาดคู่สร้าง โรงเรียนราชประชาสมาสัย อู่ราชประชา

จากนั้นต้องเผชิญกับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ก่อสร้างตั้งแต่ทางแยกต่างระดับบางครุ อาจต้องเบี่ยงการจราจรบ้าง เจอรถติดบ้าง ผ่านพระประแดง วัดสน บางปะกอก

วันที่ผู้เขียนไปธุระวันนั้นตรงกับวันอาทิตย์ ใช้เวลาประมาณ 45 นาทีถึงบางปะแก้ว แต่วันธรรมดานานกว่านี้ โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน เพราะปกติถนนสุขสวัสดิ์รถติดอยู่แล้ว ยิ่งก่อสร้างรถไฟฟ้า ทำรถติดเพิ่มขึ้นไปอีก

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปี 2571 ช่วงนี้อาจต้องทนรถติดไปอีก 5 ปี ใครเผื่อเวลาได้ก็เผื่อ ใครหาเส้นทางเลี่ยงได้ก็หลีกเลี่ยง


หลังมาเยือนท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ ก็รับทราบเรื่องราวอย่างหนึ่งก็คือ ท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ ไม่ได้มีเรือให้บริการตลอด ถ้าวันไหนระดับน้ำลดลง น้ำในลำน้ำฝั่งพระสมุทรเจดีย์แห้ง ก็เดินเรือไม่ได้

อธิบายอย่างนี้ คือ ท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ไม่ได้อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง แต่อยู่บนลำน้ำสาขาที่มีลักษณะเป็นเกาะ บริเวณป้อมผีเสื้อสมุทร เป็นพื้นที่ควบคุมโดยกองทัพเรือ แต่มีทางเดินศึกษาธรรมชาติให้เข้าไปเที่ยวได้

ปัญหาก็คือ ในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูน้ำหลาก ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงกันยายนของทุกปี มันจะมีช่วงน้ำขึ้น น้ำลง ปรากฏว่าถ้าวันไหนน้ำลง น้ำในลำน้ำสาขาฝั่งพระสมุทรเจดีย์จะแห้งเหลือแต่ดินเลน เรือข้ามฟากก็เกยตื้น เดินเรือไม่ได้

ที่ผ่านมาท่าเรือพระสมุทรเจดีย์มีประกาศเลี่ยงเส้นทาง ติดไว้ที่ท่าเรือตลอดช่วงดังกล่าว อาศัยเวลาน้ำขึ้น-น้ำลงที่คำนวณโดยกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ แต่ละช่วงจะหยุดการเดินเรือเป็นเวลา 4-6 ชั่วโมง

แม้ชาวบ้านในพื้นที่จะปรับตัว แต่ก็ถือว่าได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะคนที่ต้องข้ามไปซื้อของ ไปหาหมอ หรือไปธุระที่ฝั่งปากน้ำ ต้องนั่งรถเมล์อ้อมไปขึ้นเรือที่ท่าน้ำพระประแดงแล้วย้อนกลับมา เสียเวลาและค่าใช้จ่าย

มี สส. อยู่คนหนึ่ง คือ บุญเลิศ แสงพันธุ์ สส.สมุทรปราการ เขต 7 พรรคก้าวไกล ยื่นกระทู้ถามไปยัง รมว.คมนาคมว่า ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เรือข้ามฟากต้องหยุดให้บริการ เนื่องจากสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาตื้นเขิน

เขาเสนอทางเลือก 3 แนวทาง คือ ตั้งงบประมาณขุดลอกสันดอนทุกปี สร้างเขื่อนดินถาวรหรือสร้างท่าเรือสำรองใหม่บริเวณขอบนอกเกาะที่น้ำลงไม่ถึง และ “เพิ่มเส้นทางรถเมล์” ข้ามสะพานกาญจนาภิเษก

เรื่องเพิ่มเส้นทางรถเมล์ เป็นที่ถกเถียงว่าเป็นไปได้หรือไม่ เพราะไม่มีใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก และแม้จะเป็นเส้นทางหมวด 1 แต่ไม่ผ่านกรุงเทพมหานคร ซึ่งควรจะเป็นเส้นทางหมวด 4 ของสมุทรปราการมากกว่า

แต่ในที่สุด มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ตอบกระทู้ในสภาฯ ว่า มีแผนให้ ขสมก. ตัดช่วงรถเมล์สาย 20 ที่ทางด่วนพิเศษหมายเลข 9 สิ้นสุดที่ตลาดปากน้ำ ระยะทาง 17 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 30 นาที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

กระทั่ง ขสมก. เปิดการเดินรถไปเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยใช้รถโดยสารปรับอากาศเอ็นจีวี สีฟ้า จำนวน 6 คัน ค่าโดยสารตามระยะทาง 15-27 บาท ออกจากท่าพระสมุทรเจดีย์เวลา 05.00 น. เที่ยวสุดท้าย 21.00 น.

แม้จะแพงกว่าเรือข้ามฟาก แต่ก็ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง และคนพระสมุทรเจดีย์สามารถลงที่ป้ายซอยอุดมเดช เพื่อไปต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีช้างเอราวัณ ไปยังใจกลางกรุงเทพฯ ได้

ภาพจากเฟซบุ๊ก บุญเลิศ แสงพันธุ์
แม้เส้นทางเดินรถสาย 20 เสริม พระสมุทรเจดีย์-ปากน้ำ (ทางด่วน) จะเป็นเส้นทางเดินรถชั่วคราว เพราะไม่มีใบอนุญาตถาวรจากกรมการขนส่งทางบก และไม่รู้ว่าจะเดินรถนานแค่ไหน แต่เป็นความโชคดีของคนพระสมุทรเจดีย์

พอๆ กับคนที่อยู่วัดคู่สร้าง ถนนประชาอุทิศ ที่มีรถโดยสารประจำทางสายใหม่ 4-7E หรือสาย 21E วัดคู่สร้าง-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ทางด่วน) ที่ขึ้นทางด่วนด่านสุขสวัสดิ์ ลงด่านสาทร เปิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เอง

การเพิ่มและขยายเส้นทางเดินรถ เป็นผลพวงจากการที่ ขสมก. ต้องยุติการเดินรถ 5 เส้นทาง เพื่อเปิดทางให้เอกชนเดินรถ ตามนโยบาย 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ ของกรมการขนส่งทางบก ทำให้ ขสมก. มีรถเหลือนำมาให้บริการ

รถโดยสารจากเส้นทางที่ยกเลิก ถูกนำมาเพิ่มในเส้นทางเดิม และเส้นทางใหม่ ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้ประชาชน ในขณะที่เส้นทางเดินรถเดิมที่ยกให้เอกชน ปรากฏว่ารถน้อย ขาดระยะ คนยืนรอล้นป้าย ได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า

ขณะที่กรมการขนส่งทางบก เจ้าโปรเจกต์ปฏิรูปรถเมล์ ยังคงลอยตัวเหนือปัญหาเหมือนเดิม ...

ถึงได้บอกไปแล้วว่า รถเมล์ปฏิรูปเจ๊ง กรมขนส่งฯ ล้มเหลวสองครั้ง ครั้งแล้วกับครั้งเล่า
กำลังโหลดความคิดเห็น