xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 35.21 แนวโน้มผันผวนในทางอ่อนค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (7 ธ.ค.) ที่ระดับ 35.21 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.16 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.35 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.07-35.24 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ และการรีบาวนด์ขึ้นของราคาทองคำ ในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ โดย ADP ที่ออกมาแย่กว่าคาด ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังเงินดอลลาร์ได้ทยอยแข็งค่าขึ้นตามความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินสหรัฐฯ ผันผวนและปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideway ในกรอบ โดยเงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้างตามจังหวะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดการเงินผันผวน ซึ่งบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง รวมถึงความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หากรายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของจีนออกมาแย่กว่าคาดอาจกระทบต่อฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในฝั่งตลาดหุ้นไทยได้ นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบใกล้โซนแนวรับสำคัญอาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยเข้าซื้อน้ำมันดิบในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง

อย่างไรก็ดี เรามองว่าการอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยเงินบาทอาจติดอยู่ในโซนแนวต้าน 35.30-35.40 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกบางส่วน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ทั้งนี้ เราคงประเมินว่าเงินบาทจะยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม ทำให้เงินบาทอาจยังมีโซนแนวรับแถว 35.10-35.15 บาทต่อดอลลาร์ในระยะสั้นนี้ (แนวรับสำคัญถัดไป 35 บาทต่อดอลลาร์)

ส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะอยู่ในฝั่งเอเชียเป็นหลัก โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการส่งออก (Exports) และยอดการนำเข้า (Imports) ของจีนในเดือนพฤศจิกายน เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤศจิกายน ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ -0.3% ไม่ต่างจากเดือนก่อนหน้า ท่ามกลางแนวโน้มการปรับตัวลดลงของราคาเนื้อสัตว์ ราคาพลังงาน และผลของระดับฐานราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้า

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงายยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) โดยผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตา ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ซึ่งจะสะท้อนถึงความยากลำบากในการหางานว่าจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น