นายภากร ปิตธวัชชัย กำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนแรก ที่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งการด่วนให้แก้ปัญหาของตลาดหุ้น
ตั้งแต่ก่อตั้งมา 31 ปี ก.ล.ต.ไม่เคยแสดงท่าทีแข็งกร้าวกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าตลาดหุ้นจะเกิดวิกฤตหนักเพียงใด ทั้งที่มีอำนาจในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ฯ
ปัญหา SHORT SELL หรือการยืมหุ้นมาขาย ปัญหา NAKED SHORT หรือการขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือ และปัญหาโปรแกรมเทรด หรือ ROBOT ได้ก่อชนวนการลุกฮือของนักลงทุน โดยนักลงทุนแสดงพลังประท้วง หยุดซื้อขายหุ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
แม้ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์จะยืนยันว่าการ SHORT SELL ยังเป็นไปอย่างปกติ ไม่ใช่ตัวการทุบหุ้น และประกาศเสียงแข็งว่า ไม่มีการทำ NAKED SHORT ขณะที่ ROBOT ช่วยสร้างมูลค่าซื้อขายหุ้น
แต่คำชี้แจงของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ไม่อาจกลบเสียงเรียกร้องของนักลงทุนได้
ความพยายามของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะนักลงทุนไม่เชื่อถือคำชี้แจงของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์
กระแสเรียกร้องให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ห้าม SHORT SELL เลิก ROBOT หรือโปรแกรมเทรด เพื่อตัดตอนปัญหา NAKED SHORT ดังสนั่นตลาดหุ้นมาตลอด 2 สัปดาห์ และพัฒนาการไปสู่การต่อต้านตลาดหลักทรัพย์ โจมตี ก.ล.ต. รวมทั้งกดดันรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ให้ลงมาแก้ปัญหา
ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ จำเป็นต้องแสดงบทบาท เพื่อหยุดกระแสเรียกร้องของนักลงทุนก่อนจะลุกลามบานปลายไปกันใหญ่
หนังสือด่วนของ ก.ล.ต.จึงถูกส่งตรงไปยังตลาดหลักทรัพย์เมื่อต้นสัปดาห์ สั่งให้สะสางปัญหา SHORT SELL และ NAKED SHORT และ ROBOT
ก.ล.ต.ไม่เคยออกหนังสือด่วนสั่งการให้ตลาดหลักทรัพย์แก้ปัญหาใดๆ แม้ในยุคของ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. คนก่อน ที่มีรูปแบบการบริหารงานที่ดุดัน แต่ไม่เคยแสดงท่าทีดุดันอย่างเปิดเผยกับผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์
ทั้ง 2 องค์กร ระหว่าง ก.ล.ต. กับตลาดหลักทรัพย์ มีลักษณะต่างคนต่างอยู่ ไม่ก้าวก่ายกัน จนดูเหมือนตลาดหลักทรัพย์เป็นองค์กรอิสระ
แต่ความอิสระของตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังปิดฉากลง เพราะกระแสการประท้วงของนักลงทุน ซึ่งดังไปถึงนายเศรษฐา จนต้องสั่งการด่วนจากต่างประเทศให้แก้ปัญหาในตลาดหุ้น
คำสั่ง ก.ล.ต. พุ่งตรงสู่ข้อเรียกร้องของนักลงทุน เกี่ยวกับ SHORT SELL และ NAKED SHORT และโปรแกรมการซื้อขายที่มีความเร็วสูง
ก.ล.ต.ได้ให้อำนาจกับคณะกรรมการดลาดหลักทรัพย์ฯ ในการกำหนดราคาการทำชอร์ตเซล ซึ่งปัจจุบันกำหนดใช้ราคาเท่ากับราคาตลาดครั้งสุดท้ายหรือไม่ต่ำกว่าราคาตลาด แต่คณะกรรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดราคาทำ SHORT SELL ด้วยราคาสูงกว่าราคาครั้งสุดท้ายได้ เพื่อไม่ให้เกิดการทุบราคาหุ้น
ตลาดหลักทรัพย์ควรเพิ่มกลไกตรวจสอบธุรกรรมโปรแกรมเทรด เพราะมีความเสี่ยงสูง โดยสัดส่วนปริมาณและมูลค่าการซื้อขายสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องระบุตัวผู้ทำธุรกรรม
เพราะปัจจุบันเห็นเพียงคำสั่งมาจากผู้ดูรับฝากสินทรัพย์ หรือคัสโตเดียนเท่านั้น ซึ่งต้องเจาะว่าลูกค้าของคัสโตเดียนเป็นใคร เพื่อป้องกันการทำ NAKED SHORT เพราะเมื่อรู้ว่าใครคือผู้ส่งคำสั่ง จะได้รู้ว่ามีหุ้นอยู่ในมือหรือไม่
นอกจากนั้น ต้องควบคุมต้นทุนซื้อขายของโปรแกรมเทรด ซึ่งหากหากโปรแกรมเทรดเป็นนักลงทุนบุคคล ความเสี่ยงสูง ต้นทุนการซื้อขายควรสูงกว่ากลุ่มสถาบัน
รวมทั้งทบทวนการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดให้เกิดความเป็นธรรมกับนักลงทุน โดยตรวจสอบว่า มีนักลงทุนรายย่อยต่างชาติที่สวมรอยเป็นนักลงทุนสถาบันหรือไม่ โดยเข้ามาซื้อขายผ่านคัสโตเดียน ซึ่งจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ
เพราะโปรแกรมเทรดเป็นธุรกรรมที่ต้นทุนต่ำ และสามารถทำกำไรในช่วงราคาแคบๆ ซึ่งต้องเพิ่มกลไกตรวจสอบ โดย ก.ล.ต.จะตรวจสอบระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบมีสามารถตรวจจับธุรกรรม Naked Short ได้จริงหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบการทำงานของโบรกเกอร์เกี่ยวกับธุรกรรม Naked Short ด้วย
คำสั่งให้เข้มงวดในการตรวจสอบโปรแกรมเทรด หรือ ROBOT สะท้อนให้เห็นชัดว่า ระบบของตลาดหลักทรัพย์ยังไม่สามารถตรวจสอบคนที่สั่งซื้อสั่งขายหุ้นผ่าน ROBOT ได้ว่าเป็นใคร มีหุ้นอยู่ในมือหรือไม่
คำถามคือ ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ออกมายืนกรานว่า ไม่มีรายการ NAKED SHORT ได้อย่างไร
นายภากร มาเถียงนักลงทุนข้างๆ คูๆ ได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่รู้ว่าต่างชาติที่สั่งซื้อขายหุ้นเป็นใคร
นายภากร ตกอยู่ในฐานะกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ที่ล้มละลายในความเชื่อถือแล้ว และชะตากรรมในตำแหน่งคงน่าเป็นห่วง
แต่ปรากฏการณ์ในเชิงสร้างสรรค์ที่น่าสนใจกว่าคือ การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของ ก.ล.ต. สั่งการด่วนให้ตลาดหลักทรัพย์แก้ปัญหาข้อเรียกร้องของนักลงทุน สะสางการซื้อขายของ ROBOT ให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่ปล่อยให้ต่างชาติเล่นขี้โกงนักลงทุนในประเทศ
ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ประนีประนอมกันมาตลอด ทำงานกันสบายๆ ไม่มีใครต้องกดดันใคร แต่ประชาชนผู้ลงทุนต้องย่อยยับมายาวนานหลายสิบปี
วันนี้ ก.ล.ต.ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ควรต้องทำมาตั้งแต่ 31 ปีก่อนแล้ว โดยสั่งให้ตลาดหลักทรัพย์ปรับปรุงระบบการตรวจสอบให้เข้มข้น ถึงลูกถึงคน ถึงนักลงทุนต่างชาติทุกราย ตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป
ยุคการเปลี่ยนแปลงสู่การทำงานที่เข้มงวด กวดขันธุรกรรมต่างๆ ในตลาดหุ้น ซึ่งสร้างหายนะให้นักลงทุนได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
หลังนักลงทุนนับแสนนับล้านคนต้องเซ่นสังเวยการกำกับดูแลตลาดหุ้นที่ล้มเหลว ทั้ง ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์
(พรุ่งนี้อ่าน ตลาดหลักทรัพย์...องค์กรอันอิ่มหนำสำราญ)