ใครที่หลงเข้าไปจอง หรือหลงตามแห่เก็งกำไรหุ้นน้องใหม่ที่เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้น 3 ตัวล่าสุด ต้องเจ็บตัวตามกัน เพราะราคาหุ้นหลุดจองระดับหลายสิบเปอร์เซ็นต์
และบางตัวไม่เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ขายถอนทุนคืนแต่อย่างใด โดยราคาหุ้นต่ำกว่าจองทันทีที่เปิดการซื้อขายวันแรก
3 หุ้นน้องใหม่ล่าสุดประกอบด้วย บริษัท วินโดว์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ WINDOW ราคาจอง 2.30 บาท เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยปิดซื้อขายที่ 1.27 บาท ต่ำกว่าจอง 1.03 บาท หรือต่ำกว่าจอง 39.52% แต่เคาะซื้อขายสนั่นหวั่นไหว 1,569 ล้านบาท มากกว่ามาร์เกตแคปหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของบริษัทเสียอีก
บริษัท มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ MCA ซื้อขายในตลาด MAI วันที่ 26 ตุลาคม ราคาจอง 3.30 บาท แต่ปิดการซื้อขายวันแรกที่ 2.04 บาท ต่ำกว่าจอง 1.26 บาท หรือต่ำกว่าจอง 38.18% มูลค่าซื้อขาย 1,044 ล้านบาท สูงกว่ามาร์เกตแคปบริษัทกว่า 1 เท่าตัว
และหุ้น บริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ORN เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ วันที่ 30 ตุลาคม ราคาจอง 1.49 บาท แต่เปิดการซื้อขายที่ 1.29 บาท และขยับขึ้นไปสูงสุดที่ 1.33 บาท ก่อนมีแรงเทขาย จนราคารูดลงมาปิดที่ 1.09 บาท ต่ำกว่าจอง 40 สตางค์ หรือต่ำกว่าจอง 26.85% มูลค่าซื้อขาย 458 ล้านบาท
หุ้นน้องใหม่ทั้ง 3 บริษัทไม่มีใครรอดยืนเหนือจองได้ เพราะถูกถล่มขายแหลก ซึ่งคำถามว่า ใครเป็นคนถล่มขายหุ้นจนราคารูดลงแรง และการลงต่ำกว่าจองระดับ 40% นั้นไม่น่าจะเป็นภาวะปกติ แม้มีผลกระทบจากสงครามในตะวันออกกลางก็ตาม
เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นเดิมขนหุ้นออกมาขายหรือไม่ เพราะราคาหุ้นที่เสนอขายนักลงทุนทั่วไปเป็นราคาที่สูงมาก จึงถือโอกาสขายหุ้นทิ้ง โกยเงินก้อนโตใส่กระเป๋า
หุ้นใหม่ 3 ตัว กลายเป็นหุ้นตัวร้ายปล้นเงินนักลงทุนที่จองซื้อ แต่ตัวร้ายที่สุดคือ หุ้น MCA เพราะตั้งเข้าซื้อขายราคาปักหัวลงตลอด จนล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ราคาลงมาปิดที่ 1.57 บาท ต่ำกว่าจองแล้ว 1.73 บาท หรือต่ำกว่าจอง 52.42%
และน่าจะเป็นหุ้นน้องใหม่ที่ครองแชมป์ห่วยที่สุดประจำปี 2566 เพราะเข้ามาซื้อขาย 3 วัน ราคาปรับตัวลงทุกวัน ไม่เปิดโอกาสให้นักลงทุนที่จองซื้อขายถอนทุนเลย
ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาด MAI ไม่มีใครออกมาพูดถึง 3 หุ้นน้องใหม่แต่อย่างใด
ไม่มีรายงานถึงการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นใหม่ทั้ง 3 บริษัท แม้การซื้อขายจะเข้าข่ายไม่ปกติ เพราะแรงขายไหลทะลักเข้ามาอย่างผิดปกติ
และราคาหุ้นก็รูดมหาราชผิดวิสัยของหุ้นใหม่โดยทั่วไป โดยจะอ้างภาวะสงครามเป็นชนวนเหตุคงอ้างไม่ได้เต็มปาก
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เคยดำเนินมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มข้นสำหรับหุ้นน้องใหม่ที่มีการซื้อขายเข้าข่ายไม่ปกติ ทั้งมูลค่าซื้อขายและราคาหุ้นในวันแรก โดยเฉพาะหุ้นบริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL
วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา TPL เข้าซื้อขายในตลาด MAI ราคาจอง 3.30 บาท หรือราคาเดียวกับ MCA โดยเปิดที่ราคา 5.90 บาท และถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ราคา 7.15 บาท ก่อนอ่อนตัวลงมาปิดในภาคเช้าที่ 6.90 บาท
ระหว่างพักการซื้อขายภาคเช้า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกประกาศเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังการซื้อขายหุ้น TPL เพราะค่าพี/อี เรโช พุ่งขึ้นไป 138 เท่า นอกจากนั้น ยังตรวจสอบพบการซื้อขายกระจุกตัวในคนบางกลุ่ม ซึ่งมีมูลค่าซื้อขายประมาณ 70% ในราคาเปิด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดการซื้อขายในภาคบ่าย ยังมีแรงซื้อไล่ราคาหุ้น TPL ต่อ จนขึ้นไปสูงสุดที่ 7.25 บาท หลังจากนั้นถูกทุบขาย จนราคาลงมาปิดที่ 2.22 บาท ต่ำกว่าจอง 1.08 บาท
นักลงทุนรายย่อยที่ตามแห่เก็งกำไรหุ้น TPL ในวันแรก และขายออกไม่ทันบาดเจ็บสาหัสตามๆ กัน จนวันนี้ยังไม่ฟื้น
ไม่มีรายงานความคืบหน้าใดๆ ในการตรวจสอบขยายผลกลุ่มคนที่มีการซื้อขายกระจุกตัวในหุ้น TPL วันแรก
TPL เป็นบรรทัดฐานใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการตรวจสอบและประกาศเตือนนักลงทุน สำหรับหุ้นใหม่ที่มีการซื้อขายไม่ปกติตั้งแต่วันแรกที่เข้าซื้อขาย
แต่บรรทัดฐานที่ดีทำไมไม่ถูกใช้กับ 3 หุ้นน้องใหม่ล่าสุด หุ้น WINDOW หุ้น MCA และหุ้น ORN
ผู้บริหาร TPL น่าจะพิจารณามาตรา 157 เล่นงานผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาด MAI ในฐานะละเว้นหรือเลือกปฏิบัติกับหุ้นใหม่โดยไม่เท่าเทียม
หุ้น WINDOW หุ้น MCA และหุ้น ORN ถูกทุบขายอย่างไม่ปกติ ราคาดิ่งลงเหวอย่างผิดปกติ นักลงทุนที่จองซ้อหุ้นไว้หรือตามแห่เก็งกำไรเจ๊งวายวอด แต่กลับไม่มีรายงานการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นน้องใหม่ทั้ง 3 บริษัท
ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้บริหารตลาด MAI ยึดมั่นนโยบายรับหุ้นใหม่ในเชิงปริมาณมายาวนาน ปล่อยหุ้นเน่าเข้ามาปล้นเงินนักลงทุนในตลาดหุ้นนับครั้งไม่ถ้วน
หุ้นน้องใหม่ 3 ตัวล่าสุด กำลังประจานความล้มเหลวของนโยบายรับหุ้นใหม่ในเชิงปริมาณ
ความย่อยยับ ขาดทุนป่นปี้จากหุ้นใหม่เน่าๆ ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้บริหารตลาด MAI เคยสำนึกบ้างไหม