นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (21 ก.ย.) ที่ระดับ 36.25 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.07 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.15-36.50 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนหนัก (แกว่งตัวในช่วง 35.86-36.23 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวนด์ขึ้นทดสอบโซนแนวต้านสำคัญของราคาทองคำ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม FOMC ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จากการที่เฟดยังคงส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 1 ครั้ง และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าไปได้มากกว่าที่เราเคยประเมินไว้ และเงินบาทอาจอยู่ในโซนอ่อนค่าได้นานกว่าคาด (Weaker for Longer) ตามทิศทางเงินดอลลาร์ที่ยังคงได้แรงหนุนจากแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้นกว่าคาดของเฟด นอกจากนี้ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมเสี่ยงที่จะยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) และนักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยในระยะสั้นนี้
อนึ่ง เรามองว่าควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE (ในช่วงเวลาราว 18.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจตอบรับการขึ้นดอกเบี้ยของ BOE ที่สวนทางกับคาดการณ์ของตลาดในเชิงลบได้ โดยตลาดอาจตีความว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ BOE อาจยิ่งกดดันให้เศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวลงมากขึ้น ส่งผลให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) เสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงต่อ ซึ่งภาพดังกล่าวได้เกิดขึ้นหลังการประชุม ECB ล่าสุด ที่เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง แม้ว่า ECB จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม
นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทะลุทุกโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ ทำให้เรามองว่ามีโอกาสที่เงินบาทอาจอ่อนค่าต่อทดสอบโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราประเมินว่า ในโซนดังกล่าวไปจนถึงช่วง 37 บาทต่อดอลลาร์ ในเชิง Valuation ค่าเงินบาทถือว่า “Undervalued” หรือถูกพอสมควร ทำให้มีโอกาสที่เงินบาทอาจเริ่มแกว่งตัว sideways หรือพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หากปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่โซนแนวรับในช่วงนี้อาจสูงถึง 36.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าเงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน โดยจะมีโซน 35.80 บาทต่อดอลลาร์เป็นแนวรับถัดไป
แม้ว่าเฟดอาจมีสมมติฐาน “No Landing” ต่อภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะสะท้อนผ่านการปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้ และปีหน้าขึ้น แต่บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับถูกกดดันจากท่าทีของเฟดที่ยังคงส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ (แม้จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมครั้งนี้) และท่าทีของเฟดที่อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น (Higher for Longer) โดยภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.40% กดดันให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลงแรง Nvidia -2.9% Microsoft -2.4%) ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.53% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.94%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.91% หนุนโดยการปรับตัวลงของบอนด์ยิลด์ฝั่งยุโรป (ก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุม FOMC) ตามรายงานอัตราเงินเฟ้ออังกฤษที่ชะลอลงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันพฤหัสฯ นี้ อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ก่อนจะรับรู้ผลการประชุม FOMC (หลังตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการแล้ว)
ในฝั่งตลาดบอนด์ Dot Plot ใหม่ของเฟดที่สะท้อนแนวโน้มว่าเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด (เดิมเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงราว -100bps ใน Dot Plot ก่อนหน้า แต่ Dot Plot ใหม่ ชี้ว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงเพียง -50bps) และมุมมองของเฟดที่อาจมีสมมติฐาน “No Landing” ต่อภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้หนุนให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.40% (สอดคล้องกับมุมมองที่เราได้คาดการณ์ก่อนหน้า!) ทั้งนี้ เรามองว่าบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideway ในระดับสูง ไปจนกว่าตลาดจะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจไม่ได้สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจที่ “สดใส” อย่างที่เฟดคาดการณ์ไว้ เรามองว่า บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวลดลงได้พอสมควร เช่น อาจลงมาทดสอบระดับ 4.00% ได้อีกครั้ง ทั้งนี้ ในระยะสั้นอาจมีความเสี่ยงจากทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ ทั้ง BOE และ BOJ ที่อาจส่งผลให้บอนด์ยิลด์ระยะยาวยังเคลื่อนไหวผันผวนได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงแรง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 105.5 จุด (กรอบ 104.6-105.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน 1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจยังคงเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับวันนี้ หลังจากที่ผู้เล่นในตลาดได้รับรู้ผลการประชุม FOMC ในช่วงเช้าตรู่ไปแล้ว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะกลับมาให้ความสนใจต่อผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) หลังจากที่ล่าสุด รายงานอัตราเงินเฟ้ออังกฤษที่ชะลอลงกว่าคาด สู่ระดับ 6.7% (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงสู่ระดับ 6.2%) ทำให้ตลาดเริ่มประเมินว่า BOE อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25% อย่างไรก็ดี เราคงมองว่าอัตราเงินเฟ้ออังกฤษยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งแรงกดดันเงินเฟ้อจากค่าจ้างยังมีอยู่ (wage growth ล่าสุดยังคงสูงกว่า +8.5%y/y) ทำให้ BOE อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +25bps สู่ระดับ 5.50% ทั้งนี้ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ การส่งสัญญาณของ BOE ว่าพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือไม่ และ BOE มีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างไร
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ซึ่งอาจส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดได้