นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด (CardX) ในกลุ่มธุรกิจเอสซีบี เอกซ์ (SCB) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินธุรกิจภายหลังรับโอนธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลจากธนาคารไทยพาณิชย์ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมกับธุรกิจบัตรเคริต และสินเชื่อบุคคลให้มากขึ้น รวมถึงการวางระบบเทคโนโลยีที่จะเข้ามีส่วนทั้งด้านการวิเคราะห์สินเชื่อ การบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ถึงกลางปีหน้า โดยบริษัทใช้เงินลงทุนในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีในวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าบัตรเครดิตอยู่ประมาณ 2 ล้านล้านบัตร มีพอร์ตสินเชื่อปัจจุบันมีประมาณ 1.2-1.3 แสนล้านบาท ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรครึ่งปีแรกเติบโต 7% และตั้งเป้าหมายอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนองผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) แตะระดับที่ 10-20% ภายในปี 2568-2569 จากปัจจุบันที่ยังเป็นตัวเลขหลักเดียว ซึ่งหากบริษัทมี ROE ระดับดังกล่าวกำไรของบริษัทน่าจะอยู่ที่ 6,000-8,000 ล้านบาท มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เฉพาะบริษัทที่ 2-3% และคาดการณ์เอ็นพีแอลปลายปีนี้ที่ 2.6-2.7%
"ขณะนี้เราอยู่ระหว่างการวางระบบด้านเทคโนโลยีให้สมบูรณ์ ซึ่งคงจะเป็นกลางปีหน้า หลังจากนั้นเชื่อว่าจะเริ่มเดินหน้าธุรกิจอย่างเต็มที่ ซึ่งน่ามีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะระบบเทคโนโลยีจะช่วยให้สกรีนลูกค้าได้ดีขึ้นมากขึ้น ขณะเดียวกัน จะช่วยการบริหารจัดการด้านต้นทุนได้ดีขึ้น มีโอากสที่จะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดจะส่งผลต่อผลการดำเนินงานบริษัทให้บรรลุตามเป้าหมายได้ในปีถัดไป ซึ่งเป้าหมายของเราไม่ได้เน้นที่พอร์ตสินเชื่อโตมากๆ แต่เน้นที่คุณภาพมากกว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่จะพยายามทำ ROE ให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้มากกว่า เพราะการเข้าตลาดนั้นมันต้องดูที่ปัจจัยหลายอย่าง ความต้องการใช้เงินทุน หรือหากเราทำผลตอบแทนที่ดี บริษัทแม่อาจจะไม่อยากกระจายหุ้นก็ได้ เป็นต้น ตอนนี้มุ่งที่จะสร้างระบบต่างๆ ภายในให้สมบูรณ์ก่อน ดังนั้น ขณะนี้ฐานลูกค้าหลักจึงยังเป็นกลุ่มรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อระบบพร้อมสามารถขยายฐานออกไปได้มากเพราะสามารถใช้ข้อมูลทางเลือกเข้ามาพิจารณาได้"
นายสารัชต์ กล่าวอีกว่า ในปีนี้และปีหน้าสภาวะโดยรวมของธุรกิจยังคงมีความท้าทายไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ หนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 90% และเกณฑ์ต่างๆ ของผู้กำกับดูแลที่จะต้องกลับเข้าสู่ระดับเดิม เช่น การปรับเพิ่มอัตราชำระขั้นต่ำจาก 5% มาเป็น 8% จากระดับก่อนโควิดที่ 10% ซึ่งตรงนี้จะมีผลกระทบต่อผู้ถือบัตรเครดิตอย่างแน่นอน เพราะเศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่ รัฐบาลใหม่ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตรงนี้เราต้องหาทางร้บมือด้านการสำรอง การติดตามลูกหนี้ เป็นต้น ขณะที่มาตรการแก้หนี้เรื้อรังนั้น บริษัทคาดการณ์มีผู้ถือบัตรที่เข้าข่ายมียอดดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นเกินกว่า 5 ปีประมาณ 8% ของพอร์ต หรือ 180,000 บัญชี แต่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือนนั้นมีน้อยไม่ถึง 5% ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมัครใจของลูกค้าในการเข้าโครงการ