“สนธิ” บุกยื่นหนังสือร้องอธิบดีสรรพากรเอาผิด "ชูวิทย์" หมกเม็ดเลี่ยงภาษีซื้อขายที่ดินให้คนในครอบครัว ทำ "นิติกรรมอำพราง" เลี่ยงภาษีบริษัทที่ต้องจ่าย ทำรัฐเสียรายได้รวมค่าปรับตั้งแต่ปี 63 เกือบพันล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้เดินทางเข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ให้ตรวจสอบการเสียภาษีอากร กรณีการซื้อขายที่ดินบริเวณหลังโรงแรมเดอะเดวิส บางกอก
นายสนธิ กล่าวด้วยว่า ที่มายื่นเรื่องเพราะมีคนร้องเรียนมาว่าคุณชูวิทย์ ขายที่เลี่ยงภาษีให้ตระกูลตัวเอง โดยเป็นการขายจากบริษัทของตัวเองไปให้ลูกๆ และลูกๆ นำไปขายต่อให้อีกบริษัทที่เป็นของตัวเองเช่นกัน โดยคิดราคาที่ดินในการโอนทอดแรกแก่ลูกวาละ 2 แสนบาท และนำไปโอนต่ออีกทอดหนึ่งที่เป็นบริษัทของครอบครัวเหมือนกัน
“บริษัทที่โอนมาเป็นของตัวเองแบ่งที่เป็น 4 แปลง โอนให้ลูก 4 คน หลังจากนั้นโอนต่อให้อีกบริษัทที่ลูกๆ เป็นเจ้าของ คนที่ส่งมาบอกว่าเป็นนิติกรรมอำพราง โอนครั้งแรกเสียภาษีแค่ 11 ล้าบาท แต่ถ้าเป็นนิติกรรมปกติคุณชูวิทย์ ต้องเสียภาษี 359 ล้านบาท ถ้าผิดจริงต้องโดนอีกเท่าตัว และรวมหมดตระกูลคุณชูวิทย์ต้องเสีย 900 กว่าล้าน ผมขี้เกียจทะเลาะกับคุณชูวิทย์ เขามั่นใจว่าเขาไม่ผิด เขาทำงานมาเขาเป็นนักบัญชี แต่ความจริงมีหนึ่งเดียว คนที่ชี้ขาดเรื่องนี้ได้น่าจะเป็นสรรพากร ผมจึงนำหลักฐานมาให้ และถ้าเป็นนิติกรรมอำพรางคุณชูวิทย์ ต้องเสียภาษี ถ้าไม่ใช่ก็จบไป ยุติธรรมมาก ไม่ต้องเถียงกัน นั่นคือสิ่งที่ผมมาวันนี้” นายสนธิ กล่าว
ทั้งนี้ ในหนังสือร้องเรียนมีการระบุว่า มีการสมรู้ร่วมคิดกันทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอากรอันถึงชำระ อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2481 มาตรา 37 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
สำหรับข้อมูลที่เข้าร้องเรียนในครั้งนี้มีรายละเอียดบางส่วนระบุดังนี้
ข้าพเจ้า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ตรวจพบหลักฐานการทำนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและการชำระภาษีที่เกิดจากการซื้อขายที่ดินที่ผิดปกติและอาจมีการจงใจหลีกเสี่ยงการชำระภาษี กรณีการซื้อขายที่ดินบริเวณหลังโรงแรมเดวิส บางกอก โฉนดที่ดินเลขที่ 1778, 1779, 3538, 3539 ระหว่างบริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ผู้ขาย กับนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ นายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูล กมลวิศิษฏ์ ผู้ซื้อ และการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1778, 1779, 3538, 3539 ระหว่างนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ นายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อ
ตระกูล กมลวิศิษฏ์ ผู้ขาย กับบริษัท เดวิส ไรมอน แลนด์ ทเวนตี้โฟร์ จำกัด หรือบริษัท เดวิส 24 จำกัด ในปัจจุบัน เหตุเกิดระหว่างวันที่ 23 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2562 ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง โดยมีรายละเอียดดังนี้
ช่วงปี 2542 บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัวนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้ครอบครองที่ดินบริเวณหลังโรงแรมเดวิส บางกอก จำนวน 2 แปลง เนื้อที่แปลงละ 278.5 ตารางวารวม 557 ตารางวา (ปัจจุบันเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 1778, 1779, 3538, 3539) ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1-4
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 เวลา 09.00 น. บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ได้ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2562 มีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมี น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูล กมลวิศิษฏ์ เข้าร่วมประชุมด้วย นายชูวิทย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทแต่เพียงผู้เดียว อนุมัติให้บริษัทฯ ขายที่ดิน โฉนดเลขที่ 1778, 1779 ให้ผู้ถือหุ้นได้แก่ นายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ และนายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์
และในวันเดียวกัน คือวันที่ 23 กันยายน 2562 เวลา 11.00 น. บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ได้ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2562 มีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมีนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ และนายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ เข้าร่วมประชุมด้วย นายชูวิทย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทแต่เพียงผู้เดียว อนุมัติให้บริษัทฯ ขายที่ดิน โฉนดเลขที่ 3538, 3539 ให้ผู้ถือหุ้นได้แก่ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และ นายต่อตระกูล กมลวิศิษฏ์ รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 5-8
ภายหลังจากที่ทำสัญญาซื้อขายกับผู้ซื้อรายเก่า เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 อีก 3 วันถัดมา คือวันที่ 27 กันยายน 2562 บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายให้ลูกของนายชูวิทย์ 4 คน ได้แก่ นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล คนละ 1 แปลง ระบุราคาซื้อขายที่แปลงละ 27.86 ล้านบาท รวม 4 แปลง เป็นราคา 111.4 ล้านบาท คิดเป็นตารางวาละ 200,000 บาท รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 9-12
และในวันเดียวกันนั้น นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล ลูกนายชูวิทย์ทั้ง 4 คน โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายต่อให้บริษัท เดวิส ไรมอน แลนด์ ทเวนตี้ โฟร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตั้งไว้รอการร่วมทุนระหว่างครอบครัวกมลวิศิษฏ์ กับบริษัทไรมอน แลนด์ (มหาชน) จำกัด ระบุราคาขายที่แปลงละ 502,388,500 บาท รวม 4 แปลง ราคา 2,009,554,000 ล้านบาท คิดเป็นราคาตารางวาละ 3.6 ล้านบาทเศษ รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 14-17 ซึ่งบริษัท เดวิส ไรมอน แลนด์ ทเวนตี้ โฟร์ จำกัดมีนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ นายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูลกมลวิศิษฏ์ เป็นผู้ถือหุ้น รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 18-19 การซื้อขายที่ดินดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามูลค่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินเป็นการโอนที่ดิน 2 ทอดในวันเดียวกันแต่กลับซื้อขายในราคาที่ต่างกันถึง 18 เท่าตัว โดยการโอนที่ดินทอดแรกจาก "บริษัทกงสี" ให้ "ทายาท" ในราคา "ต่ำเป็นพิเศษ" ซึ่งในวงการอสังหาฯ รู้ดีว่าเป็น "นิติกรรมอำพราง" เพื่อเลี่ยงภาษีเงินได้ของบริษัทจำกัด ในที่นี้คือ บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด บริษัทกงสีของตระกูลกมลวิศิษฏ์ ซึ่งตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากร ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ทวิ(4) ที่เกี่ยวกับ "ภาษีเงินได้นิติบุคคล" สาระสำคัญความว่า "บริษัทจำกัดจะต้องโอนขายทรัพย์สินในราคาไม่ต่ำกว่าราคาตลาด มิฉะนั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน "ตามราคาตลาดในวันที่โอน" ได้ตาม "ข้อเท็จจริง" จึงถือว่าราคา 2,009 พันล้านบาทเศษ เป็น "ราคาตลาดในวันโอน" ทำให้บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ต้องถูกประเมินให้มีกำไรในทางภาษีราว 1,900 ล้านบาท (หักจากราคาที่ขายให้กับนายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล ลูกๆ นายชูวิทย์ 111.4 ล้านบาท) และต้องเสียภาษีเงินได้ 380 ล้านบาท หรือ (1,900x20%) ซึ่งไม่สามารถยึดราคาขายให้แก่นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล ลูกๆ ของ นายชูวิทย์ 4 คน เพื่อชำระภาษีเพียง 11.4 ล้านบาทเศษได้ ร้ายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 20
ซึ่งหากคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ต้องชำระตาม "ข้อเท็จจริง" คือ ภาษีเงินได้ 380 ล้านบาท บวกด้วยเบี้ยปรับ 1 เท่าตัว หรือ 380 ล้านบาท และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (ตั้งแต่ มิถุนายน 2563-กรกฎาคม 2566) หรือราว 205 ล้านบาท รวมภาษีที่นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล ลูกทั้ง 4 คนของชูวิทย์ ต้องจ่ายรวมประมาณ 965 ล้านบาท หัก 11.4 ล้านบาทที่ได้ชำระไปแล้ว เท่ากับว่าการโอนที่ดินกรณีดังกล่าวอาจมีการหลบเลี่ยงภาษีอย่างชัดเจน และทำให้รัฐเสียรายได้เข้าแผ่นดินถึง 954 ล้านบาท รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 21