จับตาเคส "แอชตัน อโศก" ไฟลามทุ่งกระทบเจ้าหนี้แบงก์ หลังพบคนซื้อห้องชุดหรูมีวงเงินกู้กับ 9 สถาบันการเงินราว 3,000 ล้านบาท วงในระบุ เสี่ยงตั้งสำรองหนี้ จัดชั้นลูกหนี้ หากไม่ผ่อนต่อ! ด้าน ANAN เตรียมออกเอกสารแจงการแก้ปัญา เวลา 9.30 น.ก่อน กทม.แถลง
หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด อ่านคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง โครงการ “แอชตัน อโศก” โครงการคอนโดมิเนียมหรู ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุน ระหว่างบริษัท อนันดา ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด ภายหลังจากมีปัญหาถูกร้องเรียนเรื่องทางเข้าออกโครงการไม่เป็นไปตามข้อกำหนดอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ รวมถึงการใช้ที่ดินของ รฟม. ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น
ได้กลายเป็น "เผือกร้อน" ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ที่มิใช่มีต่อบริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยในงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 ANAN มีสินทรัพย์รวม 43,893.51 ล้านบาท หนี้สินรวม 30,221.98 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น 12,455.63 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 3,291.34ล้านบาท
แต่เคสแอชตัน อโศก กำลังลุกลามไปหน่วยงานของรัฐ ทั้ง รฟม. กรุงเทพมหานคร และที่เกี่ยวข้องในการออกใบอนุญาตก่อสร้าง ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ รายอื่นที่มีโครงการอยู่ใกล้เคียงหรืออยู่บนที่ดินของรัฐ ต่างดาหน้าออกแถลงการณ์ชี้แจงโครงการคอนโดฯ ก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต่างจากเคสของแอชตัน อโศก
ทั้งนี้ ในวันนี้ (3 ส.ค.) ทางกรุงเทพมหานครจะมีการแถลงข่าวเวลา 10.00.น. ถึงแนวทางในการแก้ปัญหาของโครงการแอชตัน อโศก
และในวันเดียวกัน ทางลูกบ้านในโครงการคอนโดฯ หรู แอชตัน อโศก เตรียมที่จะแถลงข่าวอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ยังมีปมที่จะลุกลามไปถึงสถาบันการเงิน ที่ผู้ซื้อโครงการแอชตัน อโศก ได้ไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
โดยแหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ให้ความเห็นว่า ตามคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดนั้นหมายความว่า ห้องชุดที่เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินจะมีปัญหา ไม่มีราคา เหมือนเป็นคอนโดฯกระดาษ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ความเดือดร้อนของเจ้าของร่วมในด้านสินเชื่อที่มีมากกว่า 348 ครอบครัว มีการขอใช้สินเชื่อที่อยู่อาศัยจาก 9 สถาบันการเงิน มีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท
โดยมี 9 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรี ธนาคารยูโอบี ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (มีไม่กี่รายที่ขอสินเชื่อ) และธนาคารออมสิน
ปัจจุบัน ‘แอชตัน อโศก’ ได้ส่งมอบห้องชุดไปแล้ว 87% กว่า 5,639 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการรวม 6,481 ล้านบาท โดยมี 578 ครอบครัว 666 ยูนิตที่เข้ามาอยู่แล้ว ในจำนวนนี้ 438 ครอบครัวเป็นลูกค้าคนไทย และ 140 ครอบครัวเป็นชาวต่างชาติจาก 20%
ขณะเดียวกัน 488 ครอบครัว หรือ 84% ได้อยู่อาศัยมามากกว่า 2 ปี และ 90 ครอบครัว หรือ 16% อยู่อาศัยน้อยกว่า 2 ปี
"สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา แบงก์อาจจะต้องพิจารณาเรื่องหลักประกัน (ห้องชุด) ตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ลูกหนี้ที่ผ่อนกับสถาบันการเงินคงหยุดผ่อน แล้วแบงก์อาจพิจารณาจะตั้งเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ ถ้าเป็นแปลว่ามีสถานะเป็น NPL" แหล่งข่าวกล่าวและว่า
สิ่งที่ผู้ซื้อต้องทำ คือ เรียกร้องให้บริษัทอสังหาฯ รับผิดชอบ และฟ้องกรมที่ดินที่ให้มีการออกโฉนดได้
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวยังตั้งข้อสังเกตว่า เนื่อง จากโครงการแอชตัน อโศก เป็นโครงการร่วมทุน แล้วทางพันธมิตร (ญี่ปุ่น) จะยังมีส่วนรับผิดชอบ รับความเสียหายในการหาทางเข้าและออกหรือไม่
ล่าสุด บริษัท อนันดาฯ เตรียมออกเอกสารแจงการแก้ปัญา เวลา 9.30 น.ก่อนที่ทางกรุงเทพมหานครจะแถลง