นักเก็งกำไรที่โดดเข้าไปเล่นหุ้นบริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO คงตื่นตระหนกตามๆ กัน เพราะราคาหุ้นที่ขยับขึ้นอยู่ดีๆ หลายวันติด กลับทรุดฮวบลงทะลุฟลอร์ในการซื้อขายเมื่อวันอังคารที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยไม่มีสาเหตุหรือสัญญาณเตือนภัยใดๆ
OTO ดำเนินธุรกิจให้บริการบริหารจัดการงานลูกค้าสัมพันธ์แบบเต็มรูปแบบ ให้บริการออกแบบพัฒนาและติดตั้งระบบศูนย์บริการข้อมูลแบบเบ็ดเสร็จให้แก่องค์กรภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นธุรกิจที่สาธารณชนทั่วไปมีความเข้าใจยาก
หุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาด MAI ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 โดย OTO จัดเป็นหุ้นขนาดเล็ก แต่เป็นหุ้นร้อน มักติดใน 10 อันดับหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด ส่วนราคาเคลื่อนไหวอยู่ระดับ 10 บาทเศษมานับจากต้นปีนี้ และเพิ่งสร้างจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 12 เดือน ที่ราคา 24.40 บาท
ระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันอังคารที่ 30 พฤษภาคม ก่อนจะถูกถล่มขายในวันเดียวกัน จนราคาดิ่งลงมาปิดที่ 16.50 บาท ลดลง 7.10 บาท หรือลดลง 30.08% มูลค่าซื้อขาย 622.36 ล้านบาท
ราคาหุ้น OTO ขยับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป 3 วันติดก่อนหน้า ท่ามกลางมูลค่าซื้อขายที่หนาแน่นขึ้น และถูกกระชากขึ้นอย่างร้อนแรงในวันที่ 30 พฤษภาคม จนสร้างจุดสูงสุดที่ 24.40 บาท หลังจากนั้นจึงถูกถล่มขายจนรูดทะลุฟลอร์ หรือหลุดลงจากพื้น 30%
การออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 50 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 1 บาท เสนอขายบุคคลในวงจำกัด 4 ราย ในราคาหุ้นละ 16 บาท ไม่ใช่ปัจจัยที่ฉุดให้หุ้นลง เพราะข่าวชิ้นนี้ถูกแจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งนักลงทุนรับรู้กันแล้ว
ราคาหุ้นที่ดิ่งทะลุฟลอร์ไม่มีใครรู้เบื้องหลังที่แน่ชัด นอกจากคาดเดากันว่า อาจเกิดจากฝีมือของนักลงทุนรายใหญ่หรือเจ้ามือ โดยลากนักลงทุนไปเชือด ไล่ราคาหุ้นขึ้นไป เมื่อนักเก็งกำไรตามแห่เข้าไปซื้อจึงฉวยจังหวะเทขายหุ้นทำกำไร
และกลายเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีพฤติกรรมโหดร้าย ลากหุ้นขึ้นไปเห็นๆ และทุบลงโดยไม่ต้องหวั่นเกรงกระแสโจมตีใดๆ
ก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด OTO มีผลประกอบการที่ดี จ่ายเงินปันผลในอัตราสูงหลายปีติดต่อ แต่หลังโควิดผลประกอบการผันผวน โดยปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 48.85 ล้านบาท
ปี 2564 พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 55.68 ล้านบาท ปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 116.22 ล้านบาท และไตรมาสแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 32.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 24.78 ล้านบาท
ผลประกอบการที่ไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนรายย่อยทยอยถอยห่างจาก OTO โดยจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยเมื่อปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น วันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 1,507 ราย ลดลงจากปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 22 มีนาคม 2565 ซึ่งมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย 3,914 ราย โดยมีนายบุญเอื้อ จิตรถนอม ถือห้นใหญ่อันดับ 1 สัดส่วน 24.43% ของทุนจดทะเบียน
ไตรมาสแรกปีนี้ OTO สร้างผลงานได้ดี มีกำไรเติบโตก้าวกระโดด และมีส่วนกระตุ้นให้หุ้นกลับมาซื้อขายอย่างคึกคัก
ปรากฏการณ์ลากขึ้นสู่ยอดดอย แล้วทุบร่วงทะลุดินนั้น ทำให้นักเก็งกำไรเริ่มขยาดหุ้นตัวนี้ ซึ่งมีพฤติกรรมเหมือนหุ้นปิงปอง เด้งขึ้นเด้งลงอย่างน่าหวาดเสียว ถ้าหนีออกไม่ทันเป็นอันต้องเจ็บหนัก
OTO ถูกลากกลับขึ้นมาใหม่ ยั่วกิเลสนักเก็งกำไรอีกครั้งในการซื้อขายวันพุธที่ 31 พฤษภาคม ราคาปิดที่ 17.40 บาท เพิ่มขึ้น 90 สตางค์ มูลค่าซื้อขายหนาแน่น 570.49 ล้านบาท และเป็นหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดอันดับ 1 ของตลาด MAI
แต่แมลงเม่าที่ไม่กลัวตาย ยังกล้าเสี่ยงกับ OTO อีกหรือ