ในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีหุ้นตัวใดร้อนแรงมากไปกว่าหุ้นบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ MPIC ซึ่งราคาถูกลากขึ้นชนเพดาน 30% เป็นว่าเล่น ก่อนจะปิดฉากด้วยการถล่มขาย จนแมลงเม่าเจ็บหนักตามๆ กัน
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา MPIC ปิดที่ราคา 1.51 บาท มูลค่าซื้อขายเพียง 0.95 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นทะยานขึ้นต่อเนื่อง โดยวันที่ 23 และ 24 พฤษภาคม ราคาพุ่งขึ้นทะลุเพดาน 30% 2 วันซ้อน ขณะที่มูลค่าซื้อขายหนาตากว่า 100 ล้านบาท
ล่าสุด วันที่ 30 พฤษภาคม ระหว่างชั่วโมงซื้อขายหุ้น MPIC พุ่งทะยานขึ้นไปที่ 3.12 บาท แต่ถูกทุบร่วงมาปิดที่ 2.58 บาท ลดลง 0.24 บาท หรือลดลง 8.51% มูลค่าการซื้อขาย 189.51 ล้านบาท
รวม 7 วันทำการ MPIC ปรับตัวขึ้น 1.07 บาท หรือเพิ่มขึ้น 70.86%
ข่าวที่ปลุกให้นักลงทุนแห่เก็งกำไร คือการตกลงซื้อขายหุ้น MPIC จำนวน 1,202.13 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 92.46% ของทุนจดทะเบียน วงเงินรวม 650 ล้านบาท ระหว่าง บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR ผู้ขายกับนายขันเงิน เนื้อนวล ผู้ซื้อ
ค่ำวันที่ 22 พฤษภาคม MPIC แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ถึงการซื้อขายหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่ราคาหุ้น MPIC ขยับตัวขึ้นไปรอล่วงหน้าก่อนแล้วในการซื้อขายวันที่ 22 พฤษภาคม โดยบรรดาอินไซเดอร์อาจทยอยเข้ามาเก็บหุ้นกักตุนดักรับข่าวดีล่วงหน้า
วันที่ 29 พฤษภาคม ตลาดหลักทรัพย์ได้สอบถาม MPIC ถึงพัฒนาการใดของบริษัทฯ ที่มีผลต่อราคาหุ้น ซึ่งได้รับการตอบกลับว่า บริษัทฯ ไม่มีพัฒนาการใดๆ แต่ราคาหุ้นยังวิ่งขึ้นอยู่
วันที่ 30 พฤษภาคม MPIC แจ้งถึงการจัดทำคำเสนอซื้อ หรือเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ของนายขันเงิน โดยจะรับซื้อหุ้นคืนจากนักลงทุนทั่วไปจำนวน 120.48 ล้านหุ้น หรือ 9.27% ของทุนจดทะเบียน ในราคาหุ้นละ 1.50 บาท
ราคาหุ้น MPIC ดูเหมือนจะเดินมาถึงปลายทางรอบการเก็งกำไรแล้ว เหลือไว้แต่ความเสียหายของนักลงทุนรายย่อยที่ตามแห่เก็งกำไรจนเพลิน และขายหุ้นออกไม่ทัน
การลากหุ้น MPIC ใน 6 วันทำการก่อนหน้า เหมือนกับได้รับไฟเขียว เพราะตลาดหลักทรัพย์ไม่มีมาตรการแทรกแซงการซื้อขายเพื่อดับความร้อนแรงของหุ้นตัวนี้แต่อย่างใด ซึ่งไม่รู้ว่าระบบเตือนภัยของตลาดหลักทรัพย์ขัดข้องหรือไม่
MPIC จึงทะยานขึ้นโดยไม่ถูกมาตรการกำกับซื้อขาย
2 ปีแล้วที่ MPIC มีปัญหาฟรีโฟลท หรือสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะที่ผลประกอบการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิค ทำให้ขาดทุนหลายปีติดต่อ
แม้ผลประกอบการปี 2565 จะกระเตื้องขึ้น แต่มีกำไรไม่มาก เช่นเดียวกับไตรมาสแรกปีนี้ที่มีกำไรสุทธิ 2.87 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4.97 ล้านบาท
ราคาหุ้น MPIC เคลื่อนไหวขึ้นลงในกรอบแคบมานับจากต้นปี และเพิ่งร้อนจัดเมื่อนายขันเงิน เข้ามาซื้อหุ้น กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถือหุ้นสัดส่วนกว่า 90%
ไม่มีใครรู้ว่าราคาหุ้น MPIC ที่วิ่งเตลิดเปิดเปิงตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา มี "ขาใหญ่" หรือเจ้ามืออยู่เบื้องหลังหรือไม่
แต่นายขันเงิน กลายเป็นผู้มั่นคั่งในพริบตา หุ้น MPIC ที่ซื้อมาจำนวน 1,202.13 ล้านหุ้น ในต้นทุน 0.54 สตางค์ ฟันกำไรไปเหนาะๆ กว่า 1,250 ล้านบาท
แต่นักลงทุนรายย่อยที่กระโดดเข้าใส่ MPIC ตามแห่กันเข้าไปเก็งกำไร นอนเจ็บกันเกลื่อน
งานนี้ MPIC ลากแมลงเม่าขึ้นไปเชือดอย่างโหด