xs
xsm
sm
md
lg

แจกเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ / นเรศ เหล่าพรรณราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เร็วๆนี้ได้เกิดนโยบายการแจกเงินดิจิทัลมูลค่า 10,000 บาทจากพรรคการเมืองหนึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนานาว่าทำได้จริงแค่ไหนและจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามที่พูดหรือไม่

ทั้งนี้การแจกเงินดิจิทัลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศจีนช่วงกลางปี 2022 โดยมีการแจกเงินหยวนดิจิทัลให้กับประชาชนผ่านแอปวอลเล็ตที่ชื่อว่า e-CNY เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้จับจ่ายซื้อของต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวจากไวรัสโควิด

สาเหตุที่มีการแจกเป็นเงินหยวนดิจิทัลเพราะต้องการให้ถึงมือประชาชนได้โดยตรงและรวดเร็วรวมถึงตรงวัตถุประสงค์เพราะไม่สามารถที่จะถอนเงินออกไปใช้อย่างอื่นที่ไม่ตรงกับเป้าหมายได้ ขณะที่สหรัฐฯในช่วงที่มีการแจกเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงวิกฤติโควิดยังแจกเป็นเช็คอยู่เลยและผลคือประชาชนบางส่วนไม่ได้นำมาใช้ซื้อของตามนโยบายแต่เอามาลงทุนในตลาดหุ้นหรือเทรดคริปโต

นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาจากประเทศเกาหลีใต้ในช่วงหลังเกิดวิกฤติการเงินปี 1998 รัฐบาลได้ออกนโยบายให้สามารถใช้บัตรเครดิตในการซื้อของผ่านร้านค้าต่างๆโดยไม่มีจำนวนขั้นต่ำซึ่งในช่วงเวลานั้นร้านค้าทั่วไปมักจะต้องกำหนดวงเงินในการใช้บัตรเครดิต

แต่ในเกาหลีใต้ตั้งแต่ 20 กว่าปีที่แล้วก็สามารถซื้อของหลักสิบบาทได้ด้วยบัตรเครดิต เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เพราะถ้าทำให้ประชาชนใช้เงินได้เร็วและคล่องตัวก็จะเกิดการกระตุ้นการใช้จ่ายขึ้นได้

กรณีศึกษาของการแจกเงินดิจิทัลของพรรคการเมืองหนึ่งกับการแจกหยวนดิจิทัลจึงมีความใกล้เคียงกันคือต้องส่งเงินถึงมือประชาชนโดยตรงให้เร็วที่สุดและกำหนดเงื่อนไขในการใช้เงินให้ถูกกับนโยบาย

แต่ในเคสของประเทศไทยต่างจากประเทศจีนตรงที่อัตราการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ยังมีน้อยกว่าจีนค่อนข้างมากซึ่งจีนนั้นเข้าใกล้กับคำว่าสังคมไร้เงินสดเป็นอย่างมาก แต่ไทยเองก็ถือว่าเกิด Mass Adoption ที่ค่อนข้างเร็วในช่วงหลายปีหลังนี้

สรุปคือการทำให้เกิดการไหลเวียนของเงิน (Money Velocity) มีความรวดเร็วมากขึ้นโดยใช้เงินดิจิทัลในทางทฤษฎี ถือว่ามีส่วนช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการใช้และกลุ่มเป้าหมายด้วยว่าใส่เงินลงไปตรงจุดหรือไม่

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนถ้าหากการแจกเงินดิจิทัลมีความแพร่หลายออกไปจนประชาชนคุ้นชินกับการไม่ใช้เงินสดคือประเทศไทยจะลดต้นทุนในการผลิตเหรียญและธนบัตรลงได้ซึ่งปีๆหนึ่ง ประเทศไทยมีต้นทุนในการผลิตเงินที่เป็น Physical กว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปใช้พัฒนาอย่างอื่นได้อย่างมาก

สิ่งหนึ่งที่จะต้องพูดถึงด้วยคือนโยบายจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งดูแลโครงการอินทนนท์หรือเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ซึ่งนโยบายของพรรคการเมืองดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับรูปแบบ CBDC For Retail หรือเงินดิจิทัลของรายย่อยทั่วไป จากที่ผ่านมามีการใช้งานในระดับธนาคารกลางด้วยกันและระดับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ไปแล้ว แต่ส่วนของรายย่อยยังไม่ได้เกิดการทดลองใช้งานแต่อย่างไร

หลายๆประเทศที่มีการใช้งาน CBDC ก็ยังอยู่ในขอบเขตของระดับ Wholesale หรือใช้งานระหว่างผู้เล่นรายใหญ่เช่นสถาบันการเงินด้วยกันแต่ก็ยังไม่เกิดการทดลองใช้ในระดับรายย่อยทั่วไปเช่นกัน ปัจจัยเรื่องของข้อกฎหมายจึงเป็นหนึ่งในตัวแปรที่จะบอกได้ว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลจะเป็นจริงได้หรือไม่ นอกเหนือไปจากปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีที่เวลานี้มีความพร้อมในระดับหนึ่งแล้ว

นเรศ เหล่าพรรณราย ซีอีโอ Ricco Wealth,เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

สงวนลิขสิทธ์บทความเฉพาะสื่อในเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ MGR online , iBit และ ที่ได้รับอนุญาติจากผู้เขียนซึ่งเป็นเจ้าของบทความเท่านั้น

เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกพรรคเพื่อไทย

แจกเงินดิจิทัล 10000 บาทได้ทุกคน ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายภายในรัศมี 4 กิโลเมตรจากพิกัตบ้านเลขที่ หนึ่งในนโยบายหาเสียงพรรคเพื่อไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น