xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤติธนาคารกระทบอย่างไรต่อคริปโต / ณพวีร์ พุกกะมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดการล้มลงของธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ธนาคาร Silvegate, ธนาคาร Silicon Valley,ธนาคาร Signature และล่าสุดกับ Credit Suise ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลกที่ต้องขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์

ผลกระทบจากปรากฎการณ์ดังกล่าวที่เข้าข่าย Financial Crisis ทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารทั่วโลกรวมถึงไทยร่วงลงอย่างหนักจากความกังวลว่าความเสียหายจะลามไปยังสถาบันการเงินอื่นๆด้วย ขณะที่ราคาทองคำกลับบวกสวนทางจากการที่นักลงทุนมองว่าจะเป็น Safe Haven

ขณะที่ตลาดคริปโตได้รับผลกระทบจากกรณีของธนาคาร Silvegate และธนาคาร Silicon Valley ไปก่อนหน้านี้จากการที่สองธนาคารมีการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตอยู่ค่อนข้างมากโดยเฉพาะกรณีของบริษัท Circle ผู้สร้างเหรียญ USDC ที่มีเงินฝากในธนาคาร Silvergate แต่ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขไปเรียบร้อยแล้วและราคาบิทคอยน์ก็ฟื้นตัวกลับมาได้และยังพุ่งแรงอีกกว่า 10% แตะระดับสูงสุดที่ 26,000 ดอลลาร์ คาดว่าหากมีธนาคารเฉพาะกิจอื่นๆมีปัญหาขึ้นอีก บริษัทคริปโตที่มีการทำธุรกรรมด้วยน่าจะมีทางแก้ไขปัญหาได้ทันจึงน่าจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรง

การที่ราคาทองคำและบิทคอยน์ปรับตัวขึ้นท่ามกลางวิกฤติสถาบันการเงินอาจมองได้ว่านักลงทุนมองสองสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นทางเลือกการลงทุนในภาวะวิกฤติ เนื่องจากตลาดหุ้นมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกระทบต่อวิกฤติสถาบันการเงินไม่ว่าจะอยู่ในเซกเตอร์ใดก็ตามทำให้ฟันด์โฟลว์ต้องมองหาสินทรัพย์ที่จะเข้าลงทุนแทน

รวมถึงบิทคอยน์ยังมีโอกาสจะได้รับผลบวกจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือ FED ต้องปรับนโยบายการเงินมาเป็นผ่อนคลายเพื่อป้องกันไม่ให้ความเสียหายจากสถาบันการเงินลุกลามไปมากกว่านี้ การที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจะส่งผลบวกต่อบิทคอยน์และตลาดคริปโตดังกล่าวแน่นอน

คำถามคือในระยะกลางถึงยาว บิทคอยน์และตลาดคริปโตจะได้รับผลบวกจาก Financial Crisis รอบนี้หรือไม่?? ถ้ามองในแง่ของฟันด์โฟลว์ก็มีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวขึ้นถ้าหาก FED มีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาแก้ไขปัญหาเหมือนกับในยุคปี 2009 ที่มีการทำ QE มาแก้ไขวิกฤติการเงิน สภาพคล่องส่วนที่เข้ามาน่าจะมีบางส่วนเข้าไปลงทุนในบิทคอยน์

ส่วนในแง่พื้นฐานระยะยาวมีความเป็นไปได้เช่นกันที่ความล้มเหลวจากระบบการเงินดั้งเดิมอาจทำให้ระบบการเงินใหม่ในรูปแบบ Decentralized ได้รับการยอมรับมากขึ้นก็เป็นได้จากตอนนี้ที่เริ่มมีการนำแนวคิดของ DeFi มาใช้งานร่วมกับระบบการเงินดั้งเดิมแล้วตลอดจนการนำบล็อกเชนเข้ามาใช้ให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น แต่การที่จะทำให้บิทคอยน์และคริปโตได้รับการยอมรับและเข้าถึงระดับ Mass Adoption ได้เหมือนกับระบบการเงินดั้งเดิมอาจจะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่

อย่างไรก็ตามในระยะสั้นยังต้องจับตาวิกฤติการเงินรอบนี้จะมี Blackswans ที่ไม่คาดคิดหรือไม่ถ้าหากความเสียหายลุกลามไปกว่าที่คิดอาจทำให้เกิดแรงเทขายอย่างหนักในทุกสินทรัพย์รวมถึงคริปโตได้เช่นกัน

บทความโดย : ณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS)

สงวนลิขสิทธ์บทความเฉพาะสื่อในเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ MGR online , iBit และ ที่ได้รับอนุญาติจากผู้เขียนซึ่งเป็นเจ้าของบทความเท่านั้น




กำลังโหลดความคิดเห็น