ฉะเชิงเทรา - ชาวแปดริ้วบางส่วนส่งเสียงสะท้อนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท พรรคเพื่อไทย ชี้นักการเมืองพูดแล้วต้องทำให้ได้ บางรายบอกแค่ไฟไหม้ฟาง ย้ำชาวบ้านปัจจุบันไม่โง่แค่กดมือถือเข้าโลกออนไลน์ก็รู้ใครพูดอะไรแล้วไม่ทำ ยันต้องการให้พัฒนาอาชีพ ยั่งยืนกว่าแจกเงิน
จากกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ได้ปราศรัยชูนโยบายแจกเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยมีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงต่อต้าน
จนทำให้ล่าสุด กกต.ได้แจ้งให้ทางพรรคดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับการระบุวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินเพื่อให้ กกต.ได้รับทราบอย่างถูกต้องนั้น
วันนี้ (8 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ได้สำรวจความคิดเห็นของชาวบ้านต่อนโยบายดังกล่าวของพรรคเพื่อไทย ก่อนถึงวันกาบัตรลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566 พบว่า ประชาส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเพียงนโยบายประชานิยม ขณะที่ประชาชนบางรายสับเละแนวคิดดังกล่าว
โดย น.ส.อุลัยวัลย์ เคนหวาน อายุ 45 ปี ชาว ต.ลาดขวาง อ.บ้านโพธิ์ ให้ความเห็นว่า การที่พรรคการเมืองใช้นโยบายหาเสียงในรูปแบบประชานิยมเพื่อเรียกคะแนน โดยเฉพาะกรณีการแจกเงินดิจิทัล แม้ตนเองจะพอรู้เรื่องเกี่ยวกับระบบเงินดิจิทัลมาบ้าง แต่ยังไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับนนโยบายที่พรรคการเมืองเสนอว่าสุดท้ายแล้วจะทำได้จริงหรือไม่
“นักการเมืองควรจะคิดนโยบายต่อยอดการพัฒนาอาชีพให้ประชาชนเพื่อทำให้มีรายได้มากขึ้น และมีความมั่นคงในชีวิตมากกว่าการแจกเงิน เพราะไม่ว่าเงินจะมาในระบบใดสุดท้ายก็เป็นการใช้แล้วหมด แต่สิ่งที่พรรคการเมืองควรกำหนดเป็นนโยบายคือการยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนซึ่งเป็นผลงานจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้คนในชุมชนมากกว่าการแจกเงิน” น.ส.อุลัยวัลย์ กล่าว
เช่นเดียวกับ นายสมชาย อายุ 65 ปี อาชีพค้าขาย บอกว่าประเด็นที่นักการเมืองนำมาเสนอเป็นนโยบายหาเสียงกับประชาชนที่จะต้องทำให้ได้จริง ไม่เช่นนั้นจะไม่ต่างกับนักการเมืองยุคที่ผ่านมา เพราะสำหรับตนเองแล้วมองว่ายังไม่มีเลยที่ทำได้ตามที่พูด
“ฉะนั้นขอพูดตรงๆ ว่าใครหาเสียงอะไรไว้ต้องทำให้ได้ เพราะบางพรรคหาเสียงไว้แล้วกลับทำเฉย ส่วนเรื่องเงินดิจิทัลที่มีบางพรรคการเมืองกำลังใช้หาเสียงอยู่นั้น คนที่รับรู้เรื่องเหล่านี้ได้โดยตรงคือ กลุ่มวัยรุ่น ส่วนคนรุ่นพ่อแม่จะใช้ลำบากแล้ว จึงอยากให้นักการเมืองรู้ไว้ว่าเดี๋ยวนี้ประชาชนไม่โง่และจดจำได้ดีว่าใครพูดอะไรไว้ สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานที่ประชาชนจะใช้ตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งนี้”
นายสมชาย ยังบอกอีกว่า ในวันนี้หากนักการเมืองไม่ปรับตัวก็อยู่ลำบากเพราะโลกโซเชียลแค่กดเข้าไปดูก็รู้หมดแล้วว่าใครพูดอะไรไว้และหากต้องการเป็นนักการเมืองที่ดีพูดอะไรไว้ต้องจำให้ได้ด้วยเช่นกัน
ด้าน นายยอด อายุ 63 ปี ชาว อ.บางคล้า บอกว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ขอให้นักการเมืองและกลุ่มผู้สนับสนุนรักษากติกา เพราะเมื่อได้รับเลือกเข้าไปทำหน้าที่แล้วผู้ชนะการเลือกตั้งจะได้เป็นฝ่ายบริหารประเทศ และอยากให้อยู่ครบวาระ 4 ปี โดยไม่มีการออกมาชุมนุมประท้วงจนก่อให้เกิดความวุ่นวายและทำลายความเชื่อมั่นของประเทศ