xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดที่ 34.41 ทรงตัวรอผลประชุมเฟด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 มี.ค.) ที่ระดับ 34.41 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.25-34.50 บาท/ดอลลาร์ แนวโน้มค่าเงินบาทในวันนี้ เราประเมินว่าบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยง อาจช่วยหนุนให้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าสู่สินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยได้บ้าง หลังเป็นฝั่งขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจช่วยให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

อย่างไรก็ดี หากราคาทองคำมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามการปรับลดสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาด อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (แต่ต้องเห็นราคาทองคำปรับตัวลงแถวโซนแนวรับ เช่น 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์) ทั้งนี้ เรามองว่าการแข็งค่าของเงินบาทก็อาจไม่ได้ชัดเจนมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอดูผลการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้าก่อน นอกจากนี้ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับ 34.25-34.30 บาทต่อดอลลาร์ อาจมีแรงซื้อจากผู้นำเข้ากลับมาได้บ้าง

ด้านบรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ เริ่มกลับมาสู่ภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) โดยดัชนี S&P500 พุ่งขึ้น +1.76% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความวิตกต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ และธนาคารยุโรป จากการที่บรรดาธนาคารใหญ่ในฝั่งสหรัฐฯ ต่างร่วมมืออัดฉีดสภาพคล่องให้ธนาคาร First Republic Bank ซึ่งเป็นธนาคารขนาดกลางของสหรัฐฯ ที่กำลังเผชิญปัญหาด้านสภาพคล่อง ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้หุ้นกลุ่มธนาคารรีบาวนด์ขึ้น (JPM +1.9% BofA +1.7%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ ขนาดใหญ่ (Nvidia +5.4% Microsoft +4.1%) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดคงมุมมองว่าเฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปได้ไม่เกิน 5.25% (ตาม Dot Plot เดือนธันวาคมที่ผ่านมา) และเฟดมีโอกาสจะกลับมาลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ภายในปีนี้

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวนด์ขึ้นกว่า +1.19% หลังผู้เล่นในตลาดคลายความวิตกกังวลต่อปัญหาธนาคาร Credit Suisse จากการที่ทางการสวิสฯ พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง นอกจากนี้ แม้ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.50% (ตามที่เราคาดการณ์ไว้) แต่ทาง ECB ได้เน้นย้ำว่าธนาคารยุโรปมีฐานะการเงินที่ดี และทาง ECB พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องหากจำเป็น ซึ่งมุมมองดังกล่าวของทาง ECB มีส่วนช่วยลดความวิตกกังวลของผู้เล่นในตลาด

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ บอนด์ยิลด์ 10 ปี ต่างเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างไม่มั่นใจว่า ECB จะสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ จากความผันผวนในตลาดช่วงที่ผ่านมาจากประเด็นความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคาร อย่างไรก็ดี การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย +0.50% ของ ECB พร้อมกับเน้นย้ำความเชื่อมั่นในระบบธนาคารยุโรป รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี ต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.58%

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยเฉพาะในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมของ ECB และถ้อยแถลงของประธาน ECB หลังการประชุม แต่โดยรวม ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.4 จุด และมีโอกาสที่เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดการถือครองทองคำ กอปรกับผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับมุมมองว่า บรรดาธนาคารกลางหลักอาจสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ได้ ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้านโซน 1,935 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลงสู่ระดับ 1,925 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) โดยตลาดคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมีนาคม อาจทรงตัวที่ระดับ 67 จุด ซึ่งอาจยังคงช่วยหนุนแนวโน้มการบริโภคในฝั่งสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานข้อมูลคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดังกล่าว โดยหากคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะสั้น และระยะปานกลางชะลอลงต่อเนื่อง อาจชี้ว่า เฟดมีแรงกดดันที่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย “ลดลง” โดยเฉพาะในจังหวะที่ตลาดการเงินสหรัฐฯ เผชิญความปั่นป่วนจากความกังวลปัญหาของระบบธนาคาร ซึ่งเราประเมินว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยเพียง +0.25% ในการประชุมเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้

นอกจากการประชุมของธนาคารกลางดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ และยุโรปต่อเนื่อง ซึ่งความกังวลต่อปัญหาระบบธนาคารอาจกดดันบรรยากาศการลงทุนในระยะสั้นนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น