xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดที่ 34.54 จับตาฟันด์โฟลว์ต่างชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (15 มี.ค.) ที่ระดับ 34.54 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.52 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.65 บาท/ดอลลาร์ โดยแนวโน้มค่าเงินบาทประเมินว่า แม้เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าในช่วงตลาดรับรู้รายงานอัตราเงิน CPI สหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าสุดเกือบแตะระดับ 34.65 บาทต่อดอลลาร์ ทว่า การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทลง ทำให้โดยรวมเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงไปมาก

อย่างไรก็ดี เรามองว่าในวันนี้ค่าเงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ต่อเนื่อง จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ซึ่งในสัปดาห์นี้ยังมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม เช่น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในฝั่งจีน รวมถึงผลการประชุมของ ECB นอกจากนี้ ควรจับตาแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะฟันด์โฟลว์ในฝั่งหุ้นว่านักลงทุนต่างชาติจะชะลอการขายหุ้นไทย หรือพลิกกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิได้หรือไม่ หลังจากที่วันก่อนหน้า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรง พร้อมแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเกือบ -5 พันล้านบาท ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยมากขึ้นอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในระยะนี้ หรืออาจช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้

ด้านผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างกลับมาทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนให้ดัชนี S&P500 พุ่งขึ้นแรง +1.65% หลังความกังวลต่อเสถียรภาพระบบธนาคารสหรัฐฯ เริ่มลดลง เนื่องจากยังไม่พบการปิดตัวเพิ่มเติมของธนาคารขนาดเล็ก-กลางในสหรัฐฯ จากปัญหาสภาพคล่อง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ชะลอลงสู่ระดับ 6.0% และ 5.5% ตามที่ตลาดคาด ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% แต่การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนแตะระดับ 5.25% ยังมีความเป็นไปได้อยู่

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาพุ่งขึ้นราว +1.53% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งหนุนให้หุ้นกลุ่มธนาคารรีบาวนด์ขึ้น (UBS +3.6% Intesa Sanpaolo +3.4%) นอกจากนี้ จากปัญหาด้านสภาพคล่องในระบบธนาคารสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นล่าสุด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเริ่มมองว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียง +0.25% ในสัปดาห์นี้ จากเดิมที่เคยประเมินว่า ECB จะเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% ซึ่งมุมมองดังกล่าวช่วยหนุนให้หุ้นเทคฯ หรือหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้นได้ (Adyen +3.8% Hermes +2.6% ASML +2.0%)

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกัน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ จะชะลอลง แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนภาคการบริการ สะท้อนว่าเฟดยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ (จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดให้โอกาส 69% ที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.25%) มุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.69% และมีโอกาสทยอยปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 3.70%-3.80% ได้ไม่ยาก หากตลาดไม่ได้กลับมาปิดรับความเสี่ยงรุนแรงจากความกังวลปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารสหรัฐฯ

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ก่อนที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเรามองว่า อาจมาจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่าแม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูง แต่แรงกดดันจากปัญหาด้านสภาพคล่องในระบบธนาคารสหรัฐฯ อาจทำให้เฟดไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยหรือเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเหมือนที่ตลาดเคยกังวลได้ ทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 103.6 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและการรีบาวนด์ขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) เผชิญแรงขายทำกำไรต่อเนื่องและย่อตัวลงสู่ระดับ 1,906 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรามองว่าโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้างในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกุมภาพันธ์ และจะรอติดตามรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index : PPI) เพื่อช่วยในการประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ หลังจากที่ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนกุมภาพันธ์ชะลอลงตามคาด แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดมาก

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ โดยตลาดมองว่า เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศ สะท้อนผ่านยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่จะขยายตัวกว่า +3.4%y/y และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) จะขยายตัวราว +2.6%y/y สอดคล้องกับรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่าจะมีธนาคารอื่นๆ โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก-กลางที่จะประกาศปิดตัวลงจากปัญหาสภาพคล่องอีกหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น