xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์กสิกรไทยส่องมาตรการรับมือแบงก์ล้มในสหรัฐฯ จับตานโยบายดอกเบี้ยเฟด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยมาตรการที่ทางการสหรัฐฯ ใช้รับมือกับปัญหาแบงก์ในสหรัฐฯ ทั้ง 2 มาตรการ อันได้แก่ Bank Term Lending Program (BTLP) การปล่อยกู้ตามวงเงินตราสารที่นำมาค้ำรประกันเพื่อลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้แบงก์ และการให้การคุ้มครองผู้ฝากเงินในแบงก์ที่ปิดตัวลงทั้ง Silicon Valley Bank และ Signature Bank แบบครอบคลุมนั้น ไม่เรียกว่าเป็นการ Bailout แบงก์ที่ประสบปัญหา เพราะไม่ได้มีการอัดฉีดเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงกิจการ จึงไม่ได้เป็นภาระโดยตรงต่อประชาชนผู้เสียภาษี (Taxpayer) โดยในส่วนของมาตรการ BTLP เมื่อครบกำหนดตามอายุสัญญาเงินกู้ แบงก์ที่ขอยืมสภาพคล่องจะต้องนำเงินมาคืนให้เฟด ขณะที่มาตรการคุ้มครองผู้ฝากเงินใน 2 แบงก์ที่ปิดกิจการจะเป็นการนำเงินมาจากตัวแบงก์ที่ปิดกิจการ และกองทุนประกันเงินฝาก

อย่างไรก็ดี มองว่าจุดอ่อนของมาตรการ BTLP น่าจะอยู่ที่แบงก์ที่เผชิญแรงกดดันจากการไหลออกของเงินฝากนั้นจะถือครองสินทรัพย์คุณภาพสูงในปริมาณที่มากพอที่จะนำไปค้ำประกันเพื่อขอกู้เงินเสริมสภาพคล่องและนำมาจ่ายคืนเงินฝากที่ถูกไถ่ถอนได้เพียงพอหรือไม่ ขณะที่มาตรการช่วยผู้ฝากเงินนั้น ผู้รับภาระจะเป็นแบงก์ที่ยังเปิดทำการอยู่ ซึ่งต้องมีหน้าที่นำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ซึ่งน่าจะอยู่ในรูปของค่าธรรมเนียมในระยะถัดไปตามข้อกฎหมายที่กำหนด

โดยสรุป แม้มาตรการ BTLP จะช่วยเข้าประคองสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่แรงกดดันที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องในหุ้นแบงก์สหรัฐฯ บางแห่งเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ความเชื่อมั่นยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ในระยะเวลาอันสั้น และยังมีความเป็นไปได้ว่า แบงก์อื่นๆ ซึ่งมีความเปราะบางอาจจะต้องรับมือหรือเผชิญความเสี่ยงจากการเร่งถอนเงินฝาก ขณะที่ผู้ฝากเงินบางส่วนอาจจะโยกเงินไปแบงก์ที่ถูกมองว่ามีสถานะเป็น Too Big to Fail ภายใต้สภาวะปั่นป่วนในภาคธนาคารของสหรัฐฯ ในรอบนี้

นอกจากนี้ ประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นตามมา อันเป็นผลกระทบจากสถานการณ์แบงก์ล้มในสหรัฐฯ คือ การประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เพราะยิ่งสถานการณ์ฝุ่นตลบในภาคธนาคารลากยาวจะยิ่งทำให้เกิดความกังวลว่า ปัญหาแบงก์สหรัฐฯ ในรอบนี้อาจลงลึกจนมีผลกระทบต่อเนื่องมาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และคงต้องยอมรับว่า เฟดกำลังถูกตลาดกดดันอีกครั้งให้ต้องนำเรื่องความปั่นป่วนจากปัญหาในภาคธนาคาร มาชั่งน้ำหนักพร้อมๆ กับการดูแลปัญหาเงินเฟ้อในการประเมินทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า เพราะไม่ว่าจะยังไง ความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นแล้วอย่างมีนัยสำคัญ และเพื่อรับมือกับโจทย์นี้ เฟดจะต้องตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เพราะหากผิดพลาดไปอาจก่อให้เกิดผลกระทบ (หรืออาจกลายเป็นวิกฤต) ในวงกว้างกว่านี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น