xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยเดือนมีนาฯผันผวน ลุ้นผลเฟด-เลือกตั้งหนุนดัชนีคึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นไทยครึ่งแรกเดือนมีนาคมอาจ ถูกกดดันจากกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลออกจนกว่า ความชัดเจนผลการประชุม FED เดือน มี.ค. และเลือกตั้ง น่าจะช่วยกระตุ้นตลาดมีโอกาสฟื้นตัวช่วงครึ่งเดือนหลังต่อเนื่องไปอีก 1-2 เดือนข้างหน้า เชื่อตลาดหุ้นผ่านจุดเลวร้ายมาแล้ว ลุ้นติดตาม fund flow ของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ หลัง SET เดือน ก.พ.ปรับตัวลงราว 2.63% และตลาดเริ่มกลับมาให้น้ำหนักเพิ่ม ขณะมีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% จาการบริโภคที่ฟื้นตัว โบรกฯให้แนวรับลึกถึง 1,580 จุด หวั่นปัจจัยภายในฉุด

ปีนี้เป็นอีกปีที่คาดเดาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ยาก เพราะไตรมาสสุดท้ายปี 65 โบรกเกอร์ประเมินไว้ว่า ดัชนีปีนี้จะพุ่งไปแตะระดับ 1,800 จุด แต่ทว่าไม่เป็นไปตามที่ประเมินไว้เนื่องจากเมื่อตอนใกล้จะสิ้นปีก่อน พบว่าทรุดลงไปเหลือ 1,650 จุด เพราะตลาดหุ้นเงียบเหงา นักลงทุนต่างชาติชะลอการซื้อขาย ขณะที่ช่วงนั้นดัชนีฯขึ้นลงในกรอบที่แคบมาก เพราะมีข่าวร้ายที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงอยู่ ไม่ว่าความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด หรือสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งเป็นชนวนเหตุของเงินเฟ้อทั่วโลก ยังไม่มีทีท่าจะสงบจบลงง่ายๆ

อย่างไรก็ดี ต้นปี 66 ตลาดหุ้นทะยานสู่ขาขึ้นเต็มตัว ดัชนีฯกำลังตีฝ่า 1,700 จุด ได้ ท่ามกลางปัจจัยบวกรอบด้าน ทั้งจากภายนอกและภายในปรากฎการณ์แจนยัวรี่เอฟเฟคที่นักลงทุนรอคอยเกิดขึ้น เพราะบรรยากาศการซื้อขายหุ้นคึกคักต่อเนื่อง ผลดีจากธุรกิจการท่องเที่ยว ฟื้นตัวแรงและเร็ว หลังจากจีนเปิดประเทศ ทำให้มั่นใจว่านักท่องเที่ยวจีนจะหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย จนต้องขยับเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาประเทศไทยปีนี้เพิ่มเป็น 25 ล้านคน จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้เพียง 18 ล้านคน ส่งผลให้หุ้นกลุ่มเปิดเมืองหรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้รับเสียงเชียร์จากนักวิเคราะห์ทุกสำนัก แนะนำนักทุนให้ซื้อหรือถือต่อไป

นอกจากนี้อย่างไรก็ดี เมื่อผลประกอบการหุ้นกลุ่มธนาคารไตรมาสที่ 4 ประกาศออกมาน่าผิดหวัง ทำให้ดัชนีหุ้นทรุดลงอีก เรียกได้ว่าปีนี้ ดัชนีตลาดหุ้นยังคงผันผวนไปตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้น และโบรกเกอร์แต่ละสำนักมองไม่ต่างกันนัก ที่สำคัญเชื่อว่านักลงทุนจะชะลอลงทุนเพื่อรอดูการจัดตั้งรัฐบาลและนโยบายที่จะออกมา หลังจากนั้นจะค่อยกลับมาลงทุนเมื่อปัจจัยทางการเมืองมีความชัดเจน และนโยบายมีผลบวกอย่างชัดเจนต่อเศรษฐกิจไทย ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยเกิดความผันผวนได้ในระยะสั้น ขณะที่ช่วงนี้การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติแต่ละวันพบว่าส่วนมากเทชายหุ้นต่อเนื่อง และโบรกเกอร์จากหลายสำนักประเมินปัจจัยบวกลบที่มีผลต่อการลงทุนในเดือนมีนาคมมอง ที่จะส่งผลต่อดัชนีหุ้นไว้ไม่ต่างกันนัก

บล.ทรีนีตี้ ประเมินแนวรับ SET ลึกถึง 1,580 จุด

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เผยว่า ทิศทางการลงทุนเดือน มี.ค.66ปัจจัยภายนอกไม่ได้น่ากังวลเท่ากับปัจจัยภายใน หากมีแนวโน้มเชิงลบต่อมีโอกาสกดดันหรือจำกัด Upside ของตลาดหุ้นไทยได้ ประเมินกรอบแนวรับแรกบริเวณ 1,580-1,600 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเท่าดัชนีกรณีฐาน อิง Forward PE 13.6x และประมาณการ EPS ปี 2567 ที่ 116 บาท ส่วนแนวรับสำคัญที่ไม่น่าหลุดมองที่ระดับ 1,560 จุด ในทางกลับกัน ประเมินแนวต้านแรกของดัชนีที่ระดับ 1,660 จุดและในกรณีดีสุดที่ไปถึงได้มองที่ 1,690 จุด ซึ่งเป็นระดับที่แนะนำให้มีการขายทำกำไรมาก่อนหน้านี้ ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำถือครองหุ้นในส่วนที่เหลือครึ่งหนึ่งของพอร์ตต่อ โดยรอตั้งรับหาจังหวะการเข้าซื้อใหม่ที่บริเวณแนวรับที่ให้ไว้

สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตามเดือนนี้คือรายงานตัวเลข PMI ภาคการผลิตของประเทศสำคัญประจำเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งล่าสุดจีนประกาศออกมาแล้วสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดอย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีที่มาจากการเปิดประเทศในช่วงต้นปี ขณะตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯในวันที่ 10 มีนาคม ซึ่งถ้าหากออกมาเพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียงเดิม 5 แสนตำแหน่งอีก มองจะยิ่งทำให้นักลงทุนเพิ่มความกังวลต่อแผนการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงถัดไปได้ แต่เรามองว่ายังมีโอกาสน้อย

สำหรับการประชุม FOMC ในวันที่ 21-22 มี.ค. ประเมินหากเฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และปรับขึ้นค่ากลาง Terminal rate ปีนี้เป็น 5.25-5.50% จะไม่ได้เป็นสิ่งที่ Surprise ตลาดแต่อย่างใด ในทางกลับกัน หากเฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในคราวเดียว 0.50% หรือตัดสินใจเพิ่มค่ากลาง Terminal rate ขึ้นเป็น 5.50-5.75% หรือมากกว่า จะถือเป็น Negative surprise ที่สำคัญ

นายณัฐชาตกล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาท ดูเหมือนจะยังไม่สามารถหาจุดเปลี่ยนที่สำคัญในรอบนี้ได้ หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ม.ค.66 ขาดดุลที่ระดับ 2 พันล้านเหรียญฯ แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยแม้ว่าดุลบริการจะเกินดุลได้จากรายรับภาคท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่สามารถชดเชยดุลการค้าที่กลับมาขาดดุลอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยพัฒนาการทางด้านการเมืองของไทย ไม่ว่าจะเป็น การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็นการแบ่งเขตเลือกตั้งในวันที่ 3 มี.ค.และการประกาศยุบสภาของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงระหว่างเดือน ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยในวันที่ 29 มี.ค. ประเมินว่า ณ ขณะนี้ตลาดยังไม่ได้รับรู้ต่อการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมดังกล่าวมากนัก ดังนั้น หาก กนง.ตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ อาจเป็นปัจจัยเชิงลบต่อตลาดหุ้นผ่านปรากฏการณ์ PE Contraction

สำหรับกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจประจำเดือนนี้ คือหุ้นใน กลุ่มธนาคารที่ลงมาแรงจน Valuation เริ่มน่าสนใจ และยังอาจมีการเก็งกำไรบนปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ช่วงปลายเดือน ได้แก่ KBANK, SCB ตามด้วยกลุ่มท่องเที่ยวที่ยังคงเห็นแรงส่งต่อเนื่อง ได้แก่ MINT, CENTEL, ERW, VRANDA, DUSIT และกลุ่ม Domestic ที่เห็นการปรับประมาณการขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ราคายังไม่สะท้อน เช่น กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (AMATA, AP, AWC, CPN, SPALI) กลุ่มการแพทย์ (BH) และกลุ่มค้าปลีก (CRC, MAKRO, MEGA) สุดท้าย หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง ซึ่งอาจมีกระแสเก็งกำไรเกิดขึ้น หากมีการยุบสภาในเดือนนี้ อาทิ SC, SIRI, PR9, STEC, STPI, PTG

บล.ทิสโก้ มองตลาดหุ้นไทยบวกรับเลือกตั้ง

บล.ทิสโก้ ออกบทวิเคราะห์เดือนมี ค.66 ระบุว่า ตลาดหุ้นไทยมักตอบสนองเชิงบวกในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ตาม สถิติตลาดหุ้นไทยในช่วง 3 เดือน, 2 เดือน และ 1 เดือน ก่อนเลือกตั้ง มักปรับตัวขึ้น โดยให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย +5.6%, +2.5% และ +2.3% และมีระดับความเชื่อมั่นเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70% นอกจากนี้ จากการศึกษาลงในรายละเอียดของผลตอบแทนแต่ละ กลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า กลุ่มที่มักให้ผลตอบแทนเป็นบวกเสมอ ควบคู่กับมีโอกาส Outperform ตลาดเกินครึ่ง คือ FOOD, FIN, ENERG และ COMM ดังนั้นนักลงทุนระยะสั้นควรให้ความสนใจใน หุ้นกลุ่มเหล่านี้

โดย มองแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งเดือนแรก ยังถูกกดดันจากกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลออกจนกว่าจะมี ความชัดเจนของ Dot Plot ในการประชุม FED เดือน มี.ค. และการ เลือกตั้ง ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นตลาดมีโอกาสฟื้นตัวในช่วงครึ่งเดือน หลังต่อเนื่องไปอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ส่วนด้านแนวรับ และแนวต้านสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่ 1,620, 1,610, 1,600 และ 1,650, 1,670 ตามลำดับ 

ประเด็นหุ้นที่น่าสนใจในเดือน มี.ค. บล.ทิสโก้ชอบหุ้นคุณภาพดีขนาด ใหญ่ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งและแนวโน้มการ ท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง ผสานกับหุ้นเชิงรับพื้นฐานธุรกิจ ที่มีความไม่แน่นอนสูง สำหรับหุ้นเด่น (Top Picks) เดือนมีนาคม 66 คือ ADVANC, AEONTS, AUCT, BDMS, CPALL, HMPRO, ICHI และ MINT

บล.เอเซีย พลัส เชื่อ Fund Flow ชะลอออก

บล.เอเซีย พลัส ออกบทวิเคราะห์กลยุทธ์ลงทุนระบุว่า เดือน มี.ค. 66 ปัจจัยภายนอกที่นักลงทุนยังให้น้ำหนัก คือ ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ (เดือน ก.พ. 66) ที่จะประกาศในวันที่ 14 มี.ค. 66 รวมถึงแนวทางการรับมือเงินเฟ้อของ Fed หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีกว่าคาด และยังมีความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวแปรในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินในการประชุม ณ วันที่ 29 มี.ค.66

ปัจจุบันตลาดคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้อีก 0.25% มาอยู่ที่ 5% ส่วนภาพรวมตลาดหุ้นไทยเดือนมี.ค.ยังคงเผชิญกับ 3 กับดัก คือประการแรกเศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าที่คาดโดย GDP Growth งวดไตรมาส 4 ปี 65 ของไทยขยายตัวเพียง 1.4% เทียบปีก่อน ซึ่งเติบโตค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ฟิลิปปินส์ เพิ่้มขึ้น 7.6% จากปีก่อน , อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 5.3% จากปีก่อน และ GDP ไทยยังหดตัว 1.5% จากไตรมาสก่อน ส่งผลให้มูลค่า GDP ไทยพลิกกลับมาต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งหากติดลบอีก 1 ไตรมาสจะเข้าสู่ภาวะ Technical Recession

ประการที่สอง ตลาดหุ้นไทย รายงานงบไตรมาส 4 ปี 65 ออกมา 538 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน Market Cap. 92% ลดลง 35% เทียบไตรมาสก่อน และ 45% เทียบปีก่อน และเป็นการลดลงแรงจาก 13 Sector โดยเฉพาะ Sector ที่ขาดทุน คือ PETRO, STEEL, ICT, CONS อีกทั้งกำไรยังต่ำกว่าที่ Bloomberg Consensus คาดถึง 40% นำไปสู่การปรับลดประมาณการกำไรปี 2566 ลงต่อเนื่องในช่วงเดือนนี้

ล่าสุด ฝ่ายวิจัย ASPS ปรับลดประมาณการกำไรปี 66 ลงจาก 1.27 ล้านล้านบาท เป็น 1.12 ล้านล้านบาท และ EPS66F ลดลงจาก 99.2 บาท/หุ้น เหลือ 91.8 บาท/หุ้น เมื่อคูณกับ P/E 17.54 เท่า (ที่คำนวณจาก MEYG 4.2% ภายใต้ดอกเบี้ยนโยบาย 1.5%) ได้ดัชนีเป้าหมายอยู่ที่ 1,610 จุด ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา ถือเป็นเชื้อไฟทำให้ต่างชาติพลิกกลับมาขาย สุทธิหุ้นไทยหนักในเดือน ก.พ. 66 ถึง 1.2 พันล้านเหรียญ หรือ 4.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาค และยังเป็นเดือนที่ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 หรือช่วงเกิดโควิด-19 แรกๆ อย่างไรก็ตามในเดือน มี.ค. 66 เชื่อว่า Fund Flow มีโอกาสชะลอการไหลออก หากมีประเด็นบวกเข้ามาเสริม เช่น ความมีเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง , กนง.ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย หรือเลื่อนกำหนดเวลาขึ้นดอกเบี้ย ในวันที่ 29 มี.ค. 66 ออกไป รวมถึง Downside ของ SET Index ตามประมาณการใหม่มีจำกัด

สำหรับ กลยุทธ์การลงทุนเดือน มี.ค. ภายใต้ Valuation ตลาดหุ้นไทย ที่เริ่มตึงมากขึ้น รวมถึง Fund Flow ชะลอการไหลเข้า การเลือกหุ้นลงทุนจำเป็นจะต้องพิถีพิถันมากขึ้น แนะนำสะสมหุ้นกำไรงวดไตรมาส 4 ปี 65 ผ่านจุดเลวร้าย (Bottom Out) และฟื้นตัวต่อในช่วงไตรมาสแรกปี 66  อย่าง IVL, BGRIM, BLA, JMT รวมถึงหุ้นอิงการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศ ที่มีกำไรฟื้นตัวต่อเนื่อง CRC, CBG, AP

บล.อาร์เอชบี คาดดัชนีแกว่ง รับประชุมเฟด

บล.อาร์เอชบี มอง ตลาดหุ้นไทยปรับลงสอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาค จากปัจจัยเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน ม.ค. ออกมาสูงกว่าคาด ทั้งในส่วนของ CPI, PPI และ PCE มีแรงกดดันทางด้านผู้ผลิต cost push มากขึ้น หลังมีสัญญาณจากดัชนีPPI ที่ปรับขึ้นมากกว่าตลาดคาดที่สุด  ทำให้มีความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อาจจะต้องใช้เวลาพิจารณาอีก 2-3 เดือน เพื่อรอดูสัญญาณที่ชัดเจนอีกครั้งว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะกลับมาอ่อนตัวลงต่ำกว่าคาดหรือไม่ ทำให้เชื่อว่าเฟดน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% อีก 3 ครั้งในการประชุมเดือน มี.ค. พ.ค. และมิ.ย. พร้อมติดตาม fund flow ของนักลงทุนต่างชาติสำหรับเดือน มี.ค.ว่าจะไหลกลับหรือไม่ หลังค่าเงินบาทอ่อนค่าเหนือระดับ 35 บาท/ดอลลาร์ คาดว่าจะแกว่งในกรอบระหว่าง 35.60-34.70 บาท/ดอลลาร์หรืออ่อนค่าจากเดือน ม.ค.ราว 4% ขณะที่ SET เดือน ก.พ.ปรับตัวลงราว 2.63% และตลาดเริ่มกลับมาให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นสำหรับโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. นี้ เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจในเดือน ม.ค. มีสัญญาณฟื้นตัวจากการบริโภค

ขณะที่มี แรงกดดันจากฝั่งต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการ ทำให้มีความเสี่ยงที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นและคงอัตราดอกเบี้ยนานขึ้น มองเป็นลบต่อหุ้นกลุ่มการเงิน และให้จับสัญญาณดอกเบี้ยสำหรับการประชุมเฟดในเดือนมี.ค. มองดัชนีแกว่ง sideway down มีแนวรับสำคัญอยู่แถว ๆ 1,617 จุด เป็นจุดเข้าซื้อเพื่อหวังผลดีดกลับได้ ในขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่ามีแนวโน้มแกว่งระหว่าง 35.60-34.70 บาท/ดอลลาร์ในช่วง 1 เดือน เป็นบวกต่อกลุ่มส่งออก ITC และกลุ่มท่องเที่ยว แนวโน้มผลประกอบการจะฟื้นตัวต่อเนื่องในกลุ่มโรงแรม โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกปี 66 แนะนำซื้อ AWC,CENTEL, ERW, MINT, VRANDA, BEYOND ส่วนหุ้นอื่น ๆ ที่มีผลประกอบการดีที่น่าซื้อ GULF, EA, SNNP, ADVANC, COM7

บล.เคจีไอมองตลาดหุ้นผันผวน เงินทุนไหลเข้า 

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) พอร์ตหุ้นแนะนำมีนาคม 2565 ยังคงเน้นหุ้นเชื่อมโยงฟันด์โฟลว์ และมีมุมมองเดือนมีนาคมยังคงผันผวนอย่างหนัก แต่กระแสเงินทุนไหลเข้าจะแข็งแกร่ง หนุนดัชนี SET จะแกว่งตัวในเดือนมีนาคม และจะผันผวนอย่างหนักจากการที่นักลงทุนประเมินสถานการณ์ใหญ่อย่างวิฤตรัสเซีย-ยูเครน และการตัดสินใจของ FOMC อย่างไรก็ตาม มองว่าตลาดการเงินคาดหวังผลลบจากกรณีดังกล่าวไปมากแล้ว ดังนั้น risk-reward ของการลงทุนในหุ้นน่าเข้าลงทุนโดยนักลงทุนตอบรับการที่ Putin เตรียมกองกำลังนิวเคลียร์และมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียไปแล้ว และกรณีของ Fed ตลาดได้สะท้อนความคาดหมายว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 6 คร้ังในปีนี้รวม 150bps ไปแล้ว ซึ่งท้ายที่สุดตลาดหุ้น ASEAN และตลาดหุ้นไทยดูเหมือนจะเป็น sweet spot ที่น่าเข้าลงทุนในขณะนี้ เพราะมีฐานการบริโภคที่ใหญ่ มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์รัสเซียยูเครน และ GDP มีแนวโนมจะเร่งตัวขึ้นปีนี้ ดังนั้น จึงคาดว่าจะมีกระแสเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น