xs
xsm
sm
md
lg

ทรีนีตี้มอง SET มี.ค.ลึกถึง 1,580 จุด ห่วงปัจจัยภายในแย่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บล.ทรีนีตี้ มองปัจจัยในประเทศมีน้ำหนักต่อการลงทุนหุ้นเดือน มี.ค.มากกว่าปัจจัยต่างประเทศ ทั้งการปรับลดประมาณการกำไรและประมาณการเศรษฐกิจ ความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง มติ กนง.ปลายเดือน ให้กรอบแนวรับแรก 1,580-1,600 จุด ส่วนแนวต้านแรกมอง 1,660 จุด แนะลงทุนกลุ่มธนาคารอิงการขึ้นดอกเบี้ย หุ้นท่องเที่ยว และหุ้น Domestic ที่เห็นการปรับประมาณการขึ้น ส่วนหุ้นเชื่อมโยงการเลือกตั้ง แนะหาจังหวะเก็งกำไรหากมีการยุบสภาในเดือนนี้

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนเดือน มี.ค.66 ปัจจัยภายนอกไม่ได้น่ากังวลเท่ากับปัจจัยภายใน หากมีแนวโน้มเชิงลบต่อมีโอกาสกดดัน หรือจำกัด Upside ของตลาดหุ้นไทยได้

ประเมินกรอบแนวรับแรกที่น่าสนใจของ SET Index ได้แก่บริเวณ 1,580-1,600 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเท่าดัชนีกรณีฐาน อิง Forward PE 13.6x และประมาณการ EPS ปี 2567 ที่ 116 บาท ส่วนแนวรับสำคัญที่ไม่น่าหลุดมองที่ระดับ 1,560 จุด ในทางกลับกัน ประเมินแนวต้านแรกของดัชนีที่ระดับ 1,660 จุดและในกรณีดีสุดที่ไปถึงได้มองที่ 1,690 จุด ซึ่งเป็นระดับที่เราแนะนำให้มีการขายทำกำไรมาก่อนหน้านี้ ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำถือครองหุ้นในส่วนที่เหลือครึ่งหนึ่งของพอร์ตต่อ โดยรอตั้งรับหาจังหวะการเข้าซื้อใหม่ที่บริเวณแนวรับที่ให้ไว้

สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตามในเดือนนี้ ได้แก่ รายงานตัวเลข PMI ภาคการผลิตของประเทศสำคัญประจำเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งล่าสุดจีนประกาศออกมาแล้วสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดอย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีที่มาจากการเปิดประเทศในช่วงต้นปี

ถัดมา รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในวันที่ 10 มีนาคม ซึ่งถ้าหากออกมาเพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียงเดิม 5 แสนตำแหน่งอีก มองจะยิ่งทำให้นักลงทุนเพิ่มความกังวลต่อแผนการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในช่วงถัดไปได้ แต่เรามองว่ายังมีโอกาสน้อย

สำหรับการประชุม FOMC ในวันที่ 21-22 มี.ค. ประเมินหากเฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และปรับขึ้นค่ากลาง Terminal rate ปีนี้เป็น 5.25-5.50% จะไม่ได้เป็นสิ่งที่ Surprise ตลาดแต่อย่างใด ในทางกลับกัน หากเฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในคราวเดียว 0.50% หรือตัดสินใจเพิ่มค่ากลาง Terminal rate ขึ้นเป็น 5.50-5.75% หรือมากกว่าจะถือเป็น Negative surprise ที่สำคัญ

นายณัฐชาต กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาท ดูเหมือนจะยังไม่สามารถหาจุดเปลี่ยนที่สำคัญในรอบนี้ได้ หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ม.ค.66 ขาดดุลที่ระดับ 2 พันล้านเหรียญ แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยแม้ว่าดุลบริการจะเกินดุลได้จากรายรับภาคท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถชดเชยดุลการค้าที่กลับมาขาดดุลอีกครั้ง

ถัดมา ยังมีปัจจัยพัฒนาการทางด้านการเมืองของไทย ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็นการแบ่งเขตเลือกตั้งในวันที่ 3 มี.ค. และการประกาศยุบสภาของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงระหว่างเดือน ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยในวันที่ 29 มี.ค. ประเมินว่า ณ ขณะนี้ตลาดยังไม่ได้รับรู้ต่อการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมดังกล่าวมากนัก ดังนั้น หาก กนง.ตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ อาจเป็นปัจจัยเชิงลบต่อตลาดหุ้นผ่านปรากฏการณ์ PE Contraction

สำหรับกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจประจำเดือนนี้ ได้แก่

1.หุ้นในกลุ่มธนาคารที่ลงมาแรงจน Valuation เริ่มน่าสนใจ และยังอาจมีการเก็งกำไรบนปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ในช่วงปลายเดือน ได้แก่ KBANK, SCB

2.กลุ่มท่องเที่ยวที่ยังคงเห็นแรงส่งต่อเนื่อง ได้แก่ MINT, CENTEL, ERW, VRANDA, DUSIT

3.กลุ่ม Domestic ที่เห็นการปรับประมาณการขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ราคายังไม่สะท้อน เช่น กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (AMATA, AP, AWC, CPN, SPALI) กลุ่มการแพทย์ (BH) และกลุ่มค้าปลีก (CRC, MAKRO, MEGA)

และ 4. ฝหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง ซึ่งอาจมีกระแสเก็งกำไรเกิดขึ้น หากมีการยุบสภาในเดือนนี้ เช่น SC, SIRI, PR9, STEC, STPI, PTG


กำลังโหลดความคิดเห็น